สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทีดีอาร์ไอเผยผลการศึกษาซึ่งพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีประสบการณ์และมีการปรับตัวด้านการทำการเกษตรด้วยรูปแบบที่หลากหลายต่อปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังแนะให้ภาครัฐกระตุ้นเกษตรกรเลิกจำนนต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และหันมาเตรียมรับมือเพื่อลดความเสี่ยง อีกทั้ง ภาครัฐมีบทบาทในการเสริมสร้างให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงและวางแผนการทำการเกษตรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้อย่างเหมาะสม มีเสถียรภาพทางด้านรายได้ และสามารถดำรงอาชีพเกษตรต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการ ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ข้อบ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า อุณหภูมิบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ภาคเกษตรอาจได้รับผลกระทบทั้งในเรื่องของปริมาณน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต และในแง่ของปริมาณผลผลิต ซึ่งถ้าหากสามารถเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรในการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ย่อมเกิดผลดีต่อเกษตรกรมากกว่าการที่ปล่อยให้เกษตรกรยอมรับชะตากรรมและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อย ๆ
ทีดีอาร์ไอจึงได้ทำการศึกษาโดยการสำรวจความคิดเห็นครัวเรือนเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกี่ยวกับประสบการณ์และการปรับตัวของเกษตรกรต่อปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่าเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวเผชิญภาวะน้ำท่วม/น้ำแล้งบ่อยครั้งเพียงใด และมีการปรับตัวอย่างไรเพื่อลดผลกระทบต่อปัญหาดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะของการวางแผนการเพาะปลูกหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร นอกจากนี้ การศึกษาของทีดีอาร์ไอยังมีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากการปรับตัว รวมถึงวิเคราะห์อุปสรรคและแนวทางในการลดอุปสรรคในการปรับตัวของเกษตรกร เพื่อหาแนวทางสร้างความพร้อมให้กับเกษตรกรไทยในการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศ
การศึกษานี้มีการสำรวจครัวเรือนเกษตรกรจำนวน 815 ครัวเรือนในพื้นที่ 6 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยคัดเลือกพื้นที่ศึกษาโดยใช้ดัชนีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งรุนแรง โดยพื้นที่ศึกษา ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก อุทัยธานี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอยุธยา
ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรที่ปรับตัวและไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มที่ปรับตัวทางด้านการทำการเกษตรใช้วิธีการปรับตัวที่หลากหลาย อาทิ การเปลี่ยนปฎิทินการเพาะปลูก เปลี่ยนพืช เปลี่ยนพันธุ์ ฯลฯ ในขณะที่ สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ปรับตัว ให้เหตุผลว่าขาดเงินทุนในการปรับตัว ขาดข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและกลยุทธ์ในการปรับตัว และที่สำคัญคือขาดความตระหนักในการปรับตัว
และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเกษตรกรทั้งสองกลุ่ม พบว่ากลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวนาปีที่ปรับตัวได้รับประโยชน์ที่ชัดเจนจากการปรับตัว โดยการปรับตัวทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ประมาณ 31 กิโลกรัมต่อไร่ ผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแม้เกษตรกรจะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นบ้างถ้าตัดสินใจปรับตัว แต่ผลผลิตที่ได้รับก็จะสูงกว่าผลผลิตของเกษตรกรที่ไม่ปรับตัว ขณะที่ในการทำนาปรังในฤดูแล้ง ผลประโยชน์ของการปรับตัวไม่ชัดเจน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ไม่เอื้อให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและเกษตรกรก็ไม่มีทางเลือกมากนักในภาวะขาดแคลนน้ำ เพราะถ้าหากเกษตรกรยังคงขาดน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิต ผลผลิตย่อมไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้น ทางเลือกน่าจะเป็นสนับสนุนให้เกษตรกรหาอาชีพเสริมในช่วงฤดูแล้ง หรือหากลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า อีกทางเลือกหนึ่งในการจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควรทำให้เกษตรกรสามารถเปลี่ยนมุมมองในการวางแผนการเพาะปลูก โดยให้คำนึงถึงเป้าหมายของผลผลิตและรายได้ต่อปีเป็นหลัก โดยวางแผนการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งเพื่อให้ความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม น้ำแล้งอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่ยังคงสามารถสร้างรายได้ตลอดปี
หัวใจสำคัญของการส่งเสริมการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคือการปรับกระบวนทัศน์หรือวิธีคิดของเกษตรกร โดยให้สามารถวางแผนระยะยาวเพื่อรับสถานการณ์ในอนาคต และคำนึงถึงการสร้างเสถียรภาพรายได้ในรอบปีให้มากพอที่จะจุนเจือครอบครัวได้ นอกจากนี้ภาครัฐควรมีบทบาทในการให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปรับตัว โดย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกษตรต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือทางด้านเงินทุน เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการวางแผนการผลิตของเกษตรกร
นอกจากนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูล สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนภูมิอากาศให้กว้างขวางขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันคือทำให้เกษตรกรเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการปรับตัวไม่ว่าภูมิอากาศในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในห้วงเวลาอดีตหรือไม่ก็ตาม.
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 24 กันยายน 2558 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอแนะเสริมศักยภาพเกษตรกรไทยรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ลดเสี่ยงน้ำท่วม-น้ำแล้ง