TDRI ชูโมเดลต้นแบบบริหารจัดการน้ำ 3 ประเทศ แนะรัฐเพิ่มการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการน้ำ เคาะสูตรคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพิ่มการมีส่วนร่วมขององค์กรผู้ใช้น้ำ 40%
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยผลการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเปรียบเทียบระหว่าง 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ว่า ประเด็นสำคัญที่พบคือการบริหารจัดการจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต หรือบริหารในลักษณะตาชั่ง 2 ด้าน ซึ่งทุกประเทศจะมีรูปแบบการกระจายอำนาจในภาวะปกติ ส่วนในการบริหารจัดการภาวะวิกฤตจะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางโดยมีการเปลี่ยนโครงสร้างของอำนาจ เพื่อมีภาวะฉุกเฉิน และการบริหารจัดการน้ำในภาวะปกติต้องมีกลไกการประสานงานระดับแนวนอนระหว่างท้องถิ่น
ในรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศญี่ปุ่น ในภาวะปกติมีการแบ่งกระจายอำนาจไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยแบ่งการบริหารเป็น 3 ระดับกำกับดูแลลุ่มน้ำ 3 กลุ่มกล่าวคือ ระดับรัฐบาลกลางจะกำกับดูแลแม่น้ำที่มีเส้นทางน้ำกลุ่ม A ที่มีความยาวพาดผ่านหลาย ๆ จังหวัด ระดับจังหวัด 47 จังหวัด จะดูแลแม่น้ำกลุ่ม B ซึ่งมีระยะทางน้ำสั้นลงมา และระดับเทศบาล อำเภอ และตำบลอีก 1,490 แห่ง จะกำกับดูแลลุ่มน้ำกลุ่ม C ซึ่งเป็นกลุ่มที่สั้นที่สุด ส่วนการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตต้องมีการประสานงานในแนวตั้งระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นที่ดี เช่น ในญี่ปุ่นมีกฎหมาย Disaster Countermeasures Basic Act 1961 โดยกำหนดให้มีสภาบริหารภัยพิบัติกลาง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ขณะที่รูปแบบการบริหารของฝรั่งเศสจะกระจายอำนาจตามเขตลุ่มน้ำ จะมีการยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงตามการแบ่งกลุ่มลุ่มน้ำ แบ่งเป็น 8 กลุ่มลุ่มน้ำ จัดตั้งเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยมีตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำสัดส่วน 40% ตัวแทน อปท.อีก 20% ตัวแทนข้าราชการอีก 20% และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่อีก 10% เมื่อเกิดภาวะวิกฤตคณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำจะตัดสินใจว่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้หรือไม่ โดยหากประเมินแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขได้จะเสนอขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลกลางก็จะพลิกกลับมารวมศูนย์
ขณะที่เนเธอร์แลนด์จะใช้วิธีผสมผสานการบริหารรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นมีทั้งหมด 12 จังหวัด 418 เทศบาล และตามเขตลุ่มน้ำ โดยมีการจัดเลือกตั้งคณะกรรมการน้ำ (Water Boards) เป็นหน่วยงานอิสระจากหน่วยงานอื่น ๆ ประกอบกรรมการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ เจ้าของที่ดินเปิด เจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคารพาณิชย์ ผู้เช่าที่ดิน และผู้อยู่อาศัย ซึ่งแทบไม่มีตัวแทนหน่วยงานราชการเลย ซึ่งการบริหารรูปแบบนี้จะสามารถปรับเปลี่ยนได้เป็นพลวัตตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำ และการใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำ
สำหรับอำนาจหน้าที่หลักของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จะทำหน้าที่วางแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ เช่น จัดสรรน้ำ ควบคุมคุณภาพน้ำ และดูแลระบบนิเวศ และทำหน้าที่เรียกเก็บภาษี/ค่าธรรมเนียมการจัดทำแผน อย่างไรก็ตามรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศยังคงมีบทบาทสำคัญ 4 ด้าน คือ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ บทบาทในการควบคุม/กำกับดูแลทั้งการก่อสร้าง การออกกฎเกณฑ์ บทบาทในการประสานงาน/ให้คำปรึกษา และบทบาทในการดำเนินการ/ปฏิบัติการในบางเรื่อง
ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า การจัดน้ำของไทยต่างจากต่างประเทศ เพราะในภาวะปกติไทยมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่กระจัดกระจาย มีกฎหมายเกี่ยวข้องมากกว่า 50 ฉบับ และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานมากกว่า 30 หน่วยใน 7 กระทรวง มีความซ้ำซ้อนแต่การตัดสินใจเชิงนโยบายมาจากส่วนกลางเป็นหลัก ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า 3,000 แห่งจากทั้งหมด 7,854 แห่ง มีประชากรน้อยกว่า 5,000 คน ดูแลเฉพาะพื้นที่ตัวเองโดยอาศัย พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. 2542 แต่ไม่มีกฎหมายรองรับการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน อีกทั้งไทยไม่มีการเชื่อมโยงกัน ทำให้มาตรการแก้ไขไม่เดินไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับข้อเสนอแนะงานวิจัยฯ สรุปว่า ในภาวะปกติไทยควรมีการรวมศูนย์การบริหารตามลักษณะงาน และกระจายอำนาจการบริหารเชิงพื้นที่ ลุ่มน้ำ ตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำหลัก และลุ่มน้ำ-ย่อยตามขนาดความยาวของลุ่มน้ำ โดยมีองค์ประกอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 40% ตัวแทนจากผู้ใช้น้ำ 40% ผู้แทนจากหน่วยงานภูมิภาคอีก 20% เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ จัดสรรน้ำให้สมาชิก ดูแลสิ่งปลูกสร้างที่มีผลกระทบต่อทางเดินของน้ำและระดับน้ำ กำกับการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานร่วม
ส่วนแหล่งเงินทุนจากการเก็บค่าธรรมเนียมสมาชิกและเงินสมทบจากรัฐบาลกลาง และที่สำคัญควรเชื่อมโยงการบริหารน้ำระดับชาติกับท้องถิ่น คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มผู้ใช้น้ำซึ่งมีกว่า 3,479 ราย ส่วนในภาวะวิกฤตควรมีการกำหนดและแบ่งแยกภาระหน้าที่ระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพื่อประเมินความเสี่ยง การวางแผน การบรรเทาภัยพิบัติ และมีการวางกลไกในการรองรับการบัญชาการโดยนายกรัฐมนตรีด้วย
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15-18 ตุลาคม 2558 ในชื่อ อนิจจา! ระบบจัดการน้ำประเทศไทย ซ้ำซ้อน30หน่วยงานกม.50ฉบับ-TDRIแนะสูตรใหม่