แล้งสุด 50 ปี รีดค่าน้ำฉุกเฉิน ตั้งวอร์รูม-ห้ามทำนา 22 จังหวัด

วันที่2015-11-03

prachachat20151103a

แล้งสาหัสในรอบ 50 ปี ประเทศไทยเสี่ยงขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรง เผยต้นปี 2559 ปริมาณน้ำต้นทุนมีแค่ 4,230 ล้าน ลบ.ม. แต่ต้องใช้ถึงฤดูฝน รัฐจัดงบฯช่วยเกษตรกรแค่ 3,600 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอ เหตุต้องงดนาปรัง-นาปี “โคราช-เชียงใหม่” วิกฤตตั้งแต่ยังไม่ทันข้ามปี “ทีดีอาร์ไอ” เสนอรัฐบาลตั้งวอร์รูม-เก็บค่าน้ำภาวะฉุกเฉินเพิ่ม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์เริ่มต้นปีน้ำ 2559 ซึ่งจะเริ่มต้นนับในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกรุงเทพมหานคร 4,230 ล้าน ลบ.ม. หรือน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ที่เริ่มต้นด้วยปริมาณน้ำ 6,640 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่า “อยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก” และเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคต

prachachat20151103b

ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง แม้จะมีปริมาณน้ำเริ่มต้นที่ 6,640 ล้าน ลบ.ม. ก็แทบจะไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะช่วงหลังเดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา ส่งผลให้กรมชลประทานต้องปรับลดปริมาณการระบายน้ำใน 4 เขื่อนหลักอย่างต่อเนื่อง กระทบไปถึงการทำนาปีและนาปรัง แต่มาปี 2559 สถานการณ์น้ำยิ่งแย่ลงไปอีก จากปัจจุบันที่กรมชลประทานลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลงแต่เนิ่น ๆ เหลือเพียงวันละ 8.97 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

8 มาตรการให้ชาวนา 3,600 ล.

อย่างไรก็ตาม ปริมาณเริ่มต้นของปี 2559 ที่ 4,230 ล้าน ลบ.ม. จะส่งผลกระทบต่อคน 3 กลุ่ม คือ เกษตรกร-ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และประชาชนผู้ใช้น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะกลุ่มแรกที่กรมชลประทาน ขอให้งดการทำนาปรังไปแล้วนั้น ครม.ได้มีมติในวันที่ 22 กันยายน 2558 กับวันที่ 6 ตุลาคม 2558 กำหนด 8 มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/2559 วงเงิน 11,151.81 ล้านบาท (งบฯปกติ 6,752.75 ล้านบาท-งบฯกลาง 4,399.06 ล้านบาท) ประกอบไปด้วย

1) มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน อาทิ การปลูกพืชทดแทน (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ถั่วเหลือง-ถั่วเขียว), การเลี้ยงปศุสัตว์, การเลี้ยงกบ-ปลาดุก, การปรับปรุงดิน วงเงิน 1,000 ล้านบาท

เป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกร 395,958 ราย 2) มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ของ ธ.ก.ส.-ออมสิน วงเงิน 515.625 ล้านบาท 3) มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร วงเงิน 2,086.97 ล้านบาท(ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 537.61 ล้านบาท-ลุ่มน้ำอื่น ๆ 1,549.36 ล้านบาท) เพื่อซ่อมแซมอาคารชลประทาน-บ้านพักที่ทำการ-กำจัดวัชพืช-ขุดลอกคูคลอง/ฝาย

4) มาตรการเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง โดยคำนึงถึงแผนบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ของกระทรวงมหาดไทย 5) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประกอบไปด้วย การสร้างการรับรู้ให้ภาคเกษตร กับข่าวสารภัยแล้ง 6) มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ประกอบไปด้วย การปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มไปแล้ว 6,810 เที่ยวบิน, การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 3,463.21 ล้านบาท, การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งของกระทรวงกลาโหม งบประมาณ 1,763.88 ล้านบาท และโครงการแก้มลิงกักเก็บน้ำของกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน 30 แห่ง งบประมาณ 604.50 ล้านบาท-ดำเนินการโดยหน่วยทหาร 24 แห่ง งบประมาณ 399.50 ล้านบาท

7) มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาทิ ความช่วยเหลือทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข กับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ 8) มาตรการสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง, แผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนโดย ธ.ก.ส., การบริหารข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านศูนย์กลางแอปพลิเคชั่น กับระบบสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ และการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตรเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ภาคการเกษตรของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

“มีข้อน่าสังเกตว่า เม็ดเงินที่จะลงไปถึงมือเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศที่จะต้องประสบปัญหาภัยแล้งเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรไม่ได้แน่นอนนั้น มีเพียง 3,600 ล้านบาทเท่านั้น”

คุมเข้มห้ามชวนลอบสูบน้ำ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการจัดการน้ำและอุทกวิทยา กล่าวถึงแผนบริหารการจัดการน้ำฤดูแล้งช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-30 เมษายน 2559 ว่า จะใช้มาตรการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 6 มาตรการที่ได้มีการเดินทางไปชี้แจงต่อเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้แก่ 1) กรมจะแจ้งกระทรวงมหาดไทย เรื่องการงดสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรของลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ทั้งหมด 361 สถานี ซึ่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าถึง 348 สถานี 2) ห้ามเกษตรกรกักน้ำหรือปรับระดับน้ำให้สูงเพื่อนำไปใช้ทางการเกษตร 3) ให้ปิดประตูรับน้ำเข้าคลองซอยต่าง ๆ ในลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด 20 ประตู ซึ่งประตูรับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามี 13 แห่ง

4) สถานีสูบน้ำของประปาท้องถิ่น ให้สูบน้ำได้ตามแผนที่การประปาส่วนภูมิภาคได้ตกลงและยื่นแผนต่อกรมชลประทานไว้ว่าในแต่ละวันจะสูบน้ำดิบเท่าใด และสูบในแต่ละเดือนเท่าใด 5) การเลี้ยงปลาในกระชังของเกษตรกรให้เลี้ยงตามความเหมาะสมของพื้นที่ นั่นคือให้เลี้ยงได้ไม่เกินระดับน้ำต่ำสุดที่จะเกิดขึ้นตามแผนที่กำหนดไว้ และ 6) น้ำเสีย ขออย่าปล่อยน้ำเสียออกมา เพราะหากมีน้ำเสีย กรมชลฯจะต้องหาน้ำมาระบายน้ำเน่าเสียอีก ดังนั้นจึงขอให้ทางจังหวัดดูแลอย่างเคร่งครัด

TDRI ชี้ปีหน้าแล้งในรอบ 50 ปี

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยเกิดวิกฤตน้ำรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี โดยปริมาณน้ำใช้การได้จริงใน 4 เขื่อนหลักเหลือเพียง 4,230 ล้าน ลบ.ม. จากปีก่อนที่มีปริมาณ 6,640 ล้าน ลบ.ม. และจากเฉลี่ยในรอบ 50 ปีที่จะมีปริมาณน้ำ 10,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน่าเป็นห่วงปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ โดยมาตรการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาก่อนหน้านี้ 8 มาตรการ วงเงิน 11,151.81 ล้านบาทนั้น “อาจจะไม่เพียงพอ” ดังนั้นแนวทางแก้ไขรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ 1) ตั้งคณะกรรมการดูแลแก้ปัญหาวิกฤตน้ำ โดยมีองค์ประกอบจากทุกหน่วยงานไม่ใช่กรมใดกรมหนึ่งให้จัดตั้ง”วอร์รูม” จากนั้นลงสำรวจพื้นที่น้ำทุกหมู่บ้าน 2) เรียกประชุมตัวแทนผู้ใช้น้ำ

ในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อน เพื่อจัดเวรน้ำ ดูแลตารางการส่งน้ำ ตามลำดับความสำคัญของแต่ละกิจกรรม เช่น การใช้เพื่ออุปโภคบริโภค และเพื่อรักษาระบบนิเวศก่อน ทั้งนี้ระบบนี้จะเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ใช้น้ำตรวจสอบติดตามการใช้น้ำกันเอง ป้องกันปัญหาการลักลอบใช้หรือขโมยน้ำ ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการช่วยเหลือปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ใช้น้ำปริมาณมาก

และ 3) รัฐบาลต้องเรียกเก็บค่าใช้น้ำ ซึ่งไม่ใช่ค่าประปา โดยกำหนดอัตราค่าใช้น้ำในภาวะฉุกเฉิน สำหรับประชาชนที่ใช้น้ำจากสำแล ลูกบาศก์เมตรละ 1 บาท เพื่อนำเงินไปใช้เป็นทุนสำหรับแก้ไขปัญหาและจัดสรรให้ผู้ใช้น้ำที่เดือดร้อน ซึ่งในปัจจุบันมีกฎหมายรองรับและมีการเรียกเก็บค่าใช้น้ำในพื้นที่แม่กลองอยู่แล้ว คิดอัตราลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ในภาวะปกติ

โคราช-เชียงใหม่แล้งตั้งแต่สิ้นปี

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา เพื่อสำรองไว้ให้กับชุมชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ สถานพยาบาล และสถานประกอบการ ให้จัดทำแหล่งน้ำสำรองในการกักเก็บน้ำเพื่อการผลิตประปาอย่างน้อย 10 วัน และสั่งการให้ทุกอำเภอสร้างฝายกักเก็บน้ำ ตามโครงการชาวโคราชสร้างฝายสู้ภัยแล้ง เบื้องต้นมีการก่อสร้างฝายแล้วใน 15 อำเภอ จำนวน 87 ฝาย ปริมาณน้ำกักเก็บ 4,988,530 ลบ.ม.

“ขณะนี้โคราชมีพื้นที่ประสบภัยแล้งที่น่าเป็นห่วง 7 อำเภอ 28 ตำบล 228 หมู่บ้าน คือ อำเภอพระทองคำ-เทพารักษ์-ด่านขุนทด-ขามสะแกแสง-โนนไทย-คง-บัวใหญ่” ส่วนนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำแล้งของเชียงใหม่ขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนแม่งัด และเขื่อนแม่กวง ได้ลดลงจากค่าเฉลี่ยอย่างมาก สิ่งที่กังวลมากก็คือช่วงฤดูแล้งในอีก 4 เดือนของปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2559 จะมีน้ำใช้เพียงพอหรือไม่ และได้ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามข้อมูลเป็นรายสัปดาห์เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำแล้ว

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ในชื่อ แล้งสุด 50 ปี รีดค่าน้ำฉุกเฉิน ตั้งวอร์รูม-ห้ามทำนา 22 จังหวัด