โครงการ การจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี

วันที่2013-01-01

โครงการ การจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี
นางขวัญยืน ทองดอนจุย และคณะ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
2548

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่ออธิบายถึงปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศลุ่มน้ำ ท่าจีนจังหวัดสุพรรณบุรี จนนำไปสู่การทำให้แม่น้ำท่าจีนและแหล่งน้ำในชุมชนเน่าเสีย วิถีชีวิตชุมชนได้รับผลกระทบในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนอธิบายถึงแนวทางและวิธีการแก้ไขสภาพปัญหาดังกล่าวโดยชุมชนในจังหวัดสุพรรณบุรี

จากการศึกษาวิจัยค้นพบว่า บริเวณลุ่มน้ำท่าจีนในสมัยก่อน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ปลูกข้าว เพราะข้าวคืออาหารของครัวเรือน ข้าวที่ผลิตได้เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนจึงนำออกขาย ข้าวจึงเป็นที่มาของรายได้และทรัพย์สินในการดำรงชีวิต และข้าวคือพืชเศรษฐกิจเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน

วิธีการทำนาปลูกข้าวแต่ครั้งโบราณกาล ได้อาศัยธรรมชาติของระบบนิเวศลุ่มน้ำท่าจีน โดยมีวัฒนธรรมข้าวและคติความเชื่อเรื่อง แม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพ และเทวดาพระภูมิเจ้าที่ เป็นเครื่องมือกำกับดูแลให้ประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน อยู่ร่วมกับแม่น้ำท่าจีนโดยไม่มีการทำลาย แม่น้ำท่าจีนและแหล่งน้ำในชุมชน จึงเป็นต้นทุนทางสังคมที่ธรรมชาติได้เอื้ออำนวยประโยชน์ในการทำนาปลูกข้าวมาโดยตลอด

แต่ต่อมาภายหลัง ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ สภาวะเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ทำให้ความต้องการปริมาณข้าวเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริหารประเทศทุกยุคทุกสมัยมีความเห็นว่า วิธีทำนาปลูกข้าวแบบเดิมไม่สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ตามปริมาณที่ต้องการ จึงได้มีการขยายพื้นที่ในการทำนาและสร้างระบบผันน้ำเข้าแปลงนา ในระบบคลองขุด ระบบชลประทาน และพัฒนาการทำนาปีละ 1 ครั้งไปสู่การทำนาปีละ 2 ครั้ง ในพื้นที่ระบบชลประทาน

การทำนาปีละ 2 ครั้ง เป็นวิธีการทำนาที่ผืนธรรมชาติ ต้องพึ่งปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดโรคพืชและแมลงศัตรูพืช เครื่องจักรกล น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจัยการผลิตเหล่านี้ เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ทำให้ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น เกษตรกรขายข้าวได้ไม่คุ้มกับการลงทุนจึงได้ก่อให้เกิดปัญหาความยากจน สารเคมีในการทำนา 2 ครั้งเป็นสารพิษ ได้ถูกชะล้างไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและแหล่งน้ำในชุมชน ทำให้แม่น้ำเน่าเสีย ทำลายชีวิตสัตว์น้ำต่าง ๆ และสารเคมีเหล่านี้ได้ตกค้างอยู่ในข้าวและพืชผลทางการเกษตร เป็นอันตรายต่อสุขอนามัยของเกษตรกรและผู้บริโภค

ในการแก้ไขสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องให้เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ในการทำนาปรัง โดยไม่กระทบโครงสร้างการทำนาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้ร่วมกับเกษตรกร ทดลองทำนาโดยไม่ใช้สารเคมี เพื่อจะได้นำผลการทดลอง เป็นต้นแบบนำไปขยายผลให้เกษตรกรอื่น ๆ มีส่วนร่วมในการลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในการทำนา นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาสุขอนามัยของเกษตรกรและผู้บริโภคและนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนในจังหวัดสุพรรณบุรี


ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ ห้องสมุดออนไลน์ http://elibrary.trf.or.th