โครงการ “การวางแผนจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมโดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์บนเว็บ”

วันที่2013-09-02

โครงการ “การวางแผนจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมโดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์บนเว็บ”
เอกสิทธิ์ โฆสิตสกุลชัย,วิษุวัฒก์ แต้สมบัติ, ง่ายงาม ประจวบวัน และคณะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
2553

โครงการวิจัยการวางแผนจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อความมั่นคงด้านน้ำมีเป้าหมายที่จะตอบโจทย์ที่ว่า “คนในชุมชนจะเข้าถึงและนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำในท้องถิ่นของตนได้อย่างไร” การดำเนินงานโครงการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย การวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมของพื้นที่และสถานภาพของทรัพยากรน้ำ การพัฒนาคณะทำงานวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำและกระบวนการมีส่วนร่วม การพัฒนาระบบสารสนเทศบนเว็บเพื่อการวางแผนจัดการน้ำ การวางแผนบริการจัดการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นโดยใช้ระบบสารสนเทศบนเว็บเป็นเครื่องมือ

ภาพรวมของทรัพยากรน้ำจังหวัดนครปฐมอยู่ในสถานภาพไม่ขาดน้ำ เนื่องจาก มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านจังหวัดและมีโครงข่ายลำน้ำกระจายทั้งพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบชลประทานและระบายน้ำครอบคลุมทั้งจังหวัด ในช่วงฤดูแล้งมีการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงแม่น้ำท่าจีน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มอยู่ทางด้านท้ายน้ำของแม่น้ำท่าจีนทำให้เสี่ยงต่อน้ำท่วม ทั้งยังเปน็ พื้นที่รับน้ำหลากจากแม่นํ้าเจ้าพระยาเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร สำหรับน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคจังหวัดนครปฐมมีบริการน้ำประปาครอบคลุมทั้งจังหวัดโดยให้บริการโดยการประปาส่วนภูมิภาคและโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม่น้ำท่าจีนเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค

การจัดทำแผนการจัดการน้ำจังหวัดนครปฐมใช้กลไกการแต่งตั้งคณะทำงานจากส่วนราชการ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสนับสนุนการทำงาน โดยหน่วยงานราชการในคณะทำงานมีภารกิจเกี่ยวข้องงานด้านน้ำแต่ยังไม่มีการผสานข้อมูลและแผนของแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน สำหรับคณะทำงานวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำระดับตำบล ประเด็นปัญหาเรื่องน้ำเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของพื้นที่ตำบลนำร่อง โดยแต่ละพื้นที่อาจมีสภาพปัญหาต่างกันไป กระบวนการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมช่วยให้คณะทำงานของพื้นที่นำร่องเข้าใจพื้นที่ของตนเองได้รอบด้าน และเชื่อมโยงกันมากขึ้น ปัจจัยสู่ความสำเร็จอันหนึ่ง คือ ความสม่ำเสมอของการเข้าร่วมในเวทีสัญจรของตำบล เนื่องจาก การเปลี่ยนตัวผู้เข้าร่วมมีผลให้ไม่สามารถติดตามและเข้าใจกระบวนการและข้อมูลที่เกิดขึ้นในเวทีก่อนหน้าได้

ด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศบนเว็บเพื่อการวางแผนจัดการน้ำ ข้อมูลในกระบวนการทำงานเกิดขึ้นเป็น 3 ระยะ ข้อมูลที่เกิดขึ้นในระยะแรกช่วยให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ศึกษา ระยะสอง ช่วยให้เข้าใจบริบทของพื้นที่และสถานการณ์ด้านน้ำ ระยะสามเป็นข้อมูลที่ช่วยหาคำตอบโจทย์ทางด้านน้ำของพื้นที่ ข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานมีรูปแบบหลากหลายผสมผสานกัน ระบบสารสนเทศพัฒนาจากโครงสร้างของฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวมีความยืดหยุ่นไม่เพียงพอสำหรับจัดการข้อมูล แนวทางการพัฒนาระบบสารสนเทศบนเว็บสำหรับการวางแผนจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมมีความแตกต่างจากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการในองค์กรโดยทั่วไป เนื่องจาก การกำหนดผู้ใช้งานและความต้องการของผู้ใช้ไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจน จึงมีผลให้การตั้งโจทย์ด้านการวางแผนจัดการน้ำและการกำหนดข้อมูลที่ต้องการใช้ไม่สามารถกำหนดรูปแบบที่แน่นอน ดังนั้น ระบบสารสนเทศบนเว็บต้องใช้งานได้ง่าย รองรับการนำเสนอเนื้อหาได้หลายรูปแบบสำหรับผู้ใช้งานที่หลากหลาย

การวางแผนบริการจัดการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น มีประเด็นยุทธศาสตร์ 4 ประเด็น ประกอบด้วย การพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างสมดุล การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและคุณภาพน้ำ การป้องกันและบรรเทาพิบัติภัย และ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำ โดย ยุทธศาสตร์ที่ 2 มีจำนวนโครงการมากที่สุด รองลงมาคือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์ที่ 4 และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตามลำดับ การนำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่การปฏิบัติ ต้องมีการ
กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมในด้านระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณ และหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ และบรรจุแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเข้าเป็นส่วนหนึ่งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ ห้องสมุดออนไลน์ http://elibrary.trf.or.th