คสช. จัดโรดแมปเศรษฐกิจ เร่งใช้หนี้ชาวนา-เบิกจ่ายงบฯ-ช่วยเอสเอ็มอี-เดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ

วันที่2014-05-26
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) รองหัวหน้า คสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ(ขวา)และ พลเอกฉัตรชัย สาธิกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) รองหัวหน้า คสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ(ขวา)และ พลเอกฉัตรชัย สาธิกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ และ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ มอบนโยบายแก่ข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง

ภายหลังการประชุมมอบนโยบาย พล.อ.อ. ประจิน ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ หรือ “Roadmap” ทั้งนี้จะมีการสรุปรายละเอียดเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของ คสช. ในสัปดาห์หน้า

พล.อ.อ.ประจินกล่าวต่อว่า นโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของ คสช. คือ 1) การจ่ายเงินจำนำข้าวที่ติดค้างชาวนา 92,000 ล้านบาท โดยใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 40,000 ล้านบาท และกู้จากสถาบันการเงินอีก 50,000 ล้านบาท เริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป หากเร่งชำระหนี้ที่ติดค้างชาวนาจนครบจะทำให้เศรษฐกิจปี 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.2% ต่อปี คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีขยายตัวที่ 2.2% ต่อปี

2) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป การจัดทำงบฯ ปี 2558 จะอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2557 โดยนำโครงการลงทุนในปีงบประมาณ 2557 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ หรือเบิกจ่ายไม่ทัน มาเบิกจ่ายในปี 2558 ซึ่งจะเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แก้ปัญหาน้ำแล้งและป้องกันปัญหาอุทกภัย ส่วนการใช้จ่ายเงินลงทุนนั้นจะใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

3) จัดเตรียมมาตรการทางด้านการเงินและการคลัง ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้มอบหมายให้นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงรายละเอียด สรุปว่าจะมีมาตรการด้านการเงิน โดยขอความร่วมจากสมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ให้มีแหล่งเงินทุนเพียงพอ และมอบหมายให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs เพิ่มอีก 165,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการด้านภาษีกรมสรรพากรจะขยายระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเดินหน้าโครงการลงทุนตามที่กำหนดในแผนบริหารจัดการน้ำหรือไม่ พล.อ. ฉัตรชัยชี้แจงว่า ตามนโยบาย พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้า คสช. เรื่องโครงการลงทุนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำต้องทำอย่างแน่นอน แต่เลือกทำเฉพาะบางโครงการที่บรรจุแผนการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท หลักการในการเลือกจะต้องเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นโครงการลงทุนที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นอกจากแก้ปัญหาน้ำแล้งแล้ว ยังช่วยป้องกันปัญหาอุทกภัยได้ด้วย รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟรางคู่ หากสามารถดำเนินการได้ก็ให้ดำเนินการทันที

“สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงการบริหารจัดการน้ำ ส่วนหนึ่งมาจากงบลงทุนปี 2557 และอีกส่วนมาจากงบกลาง โดย คสช. ให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด” พล.อ. ฉัตรชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะมีโครงการรับจำนำข้าวต่อไปหรือไม่ พล.อ. ฉัตรชัยตอบว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ คงต้องขอหารือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราจะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรทั้งหมด ต้องเน้นไปที่ความยั่งยืนและคำนึงถึงกลไกตลาดเป็นสำคัญ

ด้าน น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธ.ก.ส. เริ่มจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาแล้ว วันที่ 26 พฤษภาคม 2556 กระทรวงการคลังออกจดหมายเชิญสถาบันการเงินทั้ง 32 แห่ง มายื่นซองประกวดราคา ปล่อยกู้เงินให้กับ ธ.ก.ส. วงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นการปล่อยกู้แบบ Term loan วงเงินขั้นต่ำ 2,000 ล้านบาท อายุเงินกู้ 3 ปี ลอตแรก 30,000 ล้านบาท กำหนดวันยื่นซองประกวดราคาวันที่ 6 มิถุนายน 2557 และลอตที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ยื่นซองประกวดราคาวันที่ 13 มิถุนายน 2557

ขณะที่นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เตรียมเสนอที่ประชุม คสช. ให้ขยายระยะเวลาจัดเก็บ VAT ที่อัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี และออกพระราชกฤษฎีกาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% เป็นการถาวร นอกจากนี้กรมสรรพสากรยังเตรียมเสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราสูงสุด ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บที่อัตรา 35% เพื่อไม่ให้เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลจาก 60,000 บาท เป็น 120,000 บาท ให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่จะต้องมีการทบทวนสิทธิประโยชน์ประเภทค่าลดหย่อนบางรายการลงมา เช่น ค่าลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ในชื่อ คสช. จัดโรดแมปเศรษฐกิจ เร่งใช้หนี้ชาวนา-เบิกจ่ายงบฯ-ช่วยเอสเอ็มอี-เดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ