วันที่ | 2013-05-02 |
---|
สับเละ! วงเสวนาน้ำ 3.5 แสนล้าน นักวิชาการ ชี้ เพ้อฝัน ทำไม่ได้ หวั่นทุจริตมโหฬาร ด้าน “อุเทน” ถามใครเป็นคนเขียน “ทีโออาร์” ขอให้แสดงตัว “ต่อตระกูล” ทำนาย ประมูลพรุ่งนี้ เชื่อมี “ล็อกสเปก” ส่วนดร.เสรี เสนอขอเวลา 1 ปี ศึกษาหาคำตอบก่อน
วันที่ 2 พ.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดโครงการราชดำเนินเสวนา “โปรเจกต์น้ำ 3.5 แสนล้าน ชะลอหรือไปต่อ” โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนา อาทิ นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการการผันน้ำลงทะเล นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายประเชิญ คนเทศ ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือฝ่าภัยพิบัติคนนครปฐม และดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศและภัยพิบัติมหาวิทยาลัยรังสิต
ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งได้มีการเชิญและมีรายชื่อจะมาร่วมวงเสวนานี้ ไม่ได้เดินทางมาร่วมงานแต่อย่างใด เนื่องจากติดประชุมนายอุเทน กล่าวว่า ผมมีโอกาสเห็น “ทีโออาร์” โครงการนี้ พอเห็นแล้ว ได้อ่านดูแล้ว ยิ่งกลายเป็นมหากาพย์ ดูแล้วอยากรู้ว่าคนร่าง “ทีโออาร์” นี้เป็นใคร อยากฝากสื่อมวลชนให้ไปตรวจสอบด้วย ขอให้แสดงตัวว่า มีใครบ้างเป็นผู้เขียนโครงการนี้ เพราะการเขียนอย่างนี้ ทำให้ประชาชนหลงกลัว ว่าประเทศไทยมีปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ผมไม่เห็นด้วย ที่จะใช้ทีโออาร์นี้ เพราะมีช่วงโหว่มาก อาจจะก่อให้เกิดการทุจริตได้ คณะที่เป็นผู้เขียนทีโออาร์นี้ก็ขอให้แสดงตัวออกมา ผมอาจกลัวไปเองก็ได้
ขณะที่โครงการ จำนวน 10 โมดูล ทราบหรือไม่ว่า โครงการไหนเริ่มอันแรก อันไหนเป็นโครงการต่อมา โครงการเขียนกำหนดว่าต้องดำเนินการให้เสร็จในระยะเวลา 5 ปี แต่ก็ยังไม่ผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ วิเคราะห์ความเหมาะสม เรื่องสิ่งแวดล้อม และอีกหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการออกแบบ ว่า ออกแบบเพื่ออะไร เหมือนกับเป็นเกื้อให้เกิดการทุจริต การเขียนทีโออาร์ คลุมเครือ สวยหรู เช่นนี้ เชื่อว่า ยากจะเป็นไปได้ ต้องไปถามว่าใครเป็นคนเขียน ผมเองก็อยากรู้ ผมจึงไปยื่นฟ้องร้องศาลตามกระบวนการกฎหมาย
ทั้งนี้ ผมยืนยันว่า เห็นด้วยการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งของประเทศแบบถาวร แต่ไม่เห็นด้วยกับการเขียนทีโออาร์ฉบับนี้ ในจำนวนโครงการนี้ ผู้ผ่านการคัดเลือก ขอตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมต้องคัดผู้ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวความคิด โครงการละ 3 รายเท่านั้น ทำไมไม่เป็นโครงการละ 6 ราย ทำให้สงสัยว่า น่าจะมีการล็อกสเปก หรือไม่
ด้าน ดร.ต่อตระกูล กล่าวว่า ทีโออาร์นี้ มีความประหลาด คือ คัดเลือกคนประมูลก่อน แล้วรัฐเองยังไม่มีทีโออาร์ แล้วบอกให้รอไปก่อน 15 วัน มันไม่เคยมีโครงการขนาด 3.5 แสนล้าน โดยเฉพาะโครงการ โมดูล A5 ซึ่งมีงบประมาณมากที่สุด สร้างฟลัดเวย์ 1.5 แสนล้าน แต่มีข้อมูลออกมาแค่ประมาณแค่ 10 หน้า ขนาดผมจะสร้างบ้านมูลค่า 1 ล้านบาท ยังมีข้อมูลมากกว่านี้ ขณะที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ก็ยังออกมายอมรับว่า ข้อมูลที่เสนอออกมา มันไม่ใช่ทีโออาร์ แต่เป็นคล้ายหนังสือเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประมูล เสนอความคิดเห็นเท่านั้น
นอกจากนี้ นายต่อตระกูล ยังยืนยันอีกว่า การที่รัฐบาลทำเช่นนี้ มันสุ่มเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมาย การจัดซื้อจัดจ้าง ของทางราชการ ขณะที่โมดูลที่ถูกกำหนดออกมา ในทีโออาร์นี้นั้น ทำให้บริษัทผู้รับเหมาจากประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องถือว่ามีความเชี่ยวชาญ ยังต้องตัดสินใจยอมถอนตัวออกไป เพราะเห็นว่า เขาน่าจะรู้ว่าโครงการนี้เสี่ยงมาก เพราะทีโออาร์มีข้อมูลแค่ 10 หน้า
ขณะเดียวกัน ขอทำนายว่า พรุ่งนี้ในการประมูล ทีมบ.เอกชนจากเกาหลีใต้ มีโอกาสได้งานใหญ่ๆ ไป แล้วก็จะเหลือเศษๆ งาน ให้ทีมไทย และทีมจีนไป ส่วนทีมล็อกซเล่ย์ได้งานโครงการหรือโมดูล ที่ไม่น่าเกินระดับหมื่นล้านด้วยซ้ำ คือเป็นงานชิ้นเล็ก
ขณะที่ ส่วนตัวเชื่อว่า จะมีบริษัทเอกชนบางบริษัทได้งานโครงการใหญ่ๆ อยู่แล้ว ในวันพรุ่งนี้ ผมเชื่อว่า หวยจะออกแนวๆ นั้น ไปแทงหวยได้เลย แล้วยังเชื่ออีกว่า จะมีบางบริษัท ทำเอกสารไม่ทัน สื่อมวลชนสามารถไปติดตามได้ว่า บริษัทที่สามารถเสนอโครงการได้ครบทุกโมดูลนั้น เหลืออยู่ไม่กี่บริษัท เพราะตอนนี้เหลือ 5 บริษัท ที่ผ่านการคัดเลือก แล้วเชื่อว่า ทุกบริษัทจะต้องมีการหลบหลีกให้กัน เพราะไม่ให้เสนอโครงการทับกัน เพื่อเป็นการแบ่งงานกันให้ทั่วถึง
คงต้องลองไปสังเกตดูว่า สุดท้ายแล้ว จะเหลือกี่บริษัท ที่สามารถเสนองานได้ครบ หรือจะมีการเฉลี่ยได้งานกันไป ทั้ง 10 โมดูล ทั้งนี้งานมีมูลค่ามหาศาล มีบริษัทผ่านเข้าประมูลได้โครงการละเพียงแค่ 3 บริษัท มันดูน้อยเกินไป ที่แปลกประหลาดไปอีก คือ งานบางอย่างที่ควรจะต้องเป็นรัฐเข้าไปดำเนินการ อย่าง การเวนคืนที่ดิน ซึ่งโครงการนี้แปลก คือ จะให้บริษัทที่ได้งานรับเหมาชิ้นนั้น ไปชี้ว่า จะเวนคืนที่ดินตรงไหนบ้าง แล้วรัฐบาลจะตามเข้าไปจ่ายเงิน ซึ่งไม่น่าเป็นไปไม่ได้ แล้วเรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็ยังไม่มีความชัดเจน
นายต่อตระกูล ยังระบุว่า เชื่อว่า ที่บริษัทญี่ปุ่น ต้องถอนตัวเพราะการกำหนดทีโออาร์ว่าจะต้องเสร็จทั้งหมดในระยะเวลา 5 ปี ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับ ซึ่งบริษัทเอกชนญี่ปุ่นเข็ดขยาดมาก เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้โครงการนี้ กลับมีทีโออาร์ แค่ 10 หน้า ถ้าจะไปขอกู้เงิน สถาบันการเงินไม่มีทางให้กู้เด็ดขาด ไม่มีทาง
นายประเชิญ กล่าวว่า ผังโมดูล A 5ที่มีมูลค่ามากที่สุด ตามทีโออาร์ การทำฟลัดเวย์ระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตกลงอ่าวไทย ตอนนี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ทุ่งพระพิมลราชา-คลองโยงมหาสวัสดิ์ เกิดความไม่มั่นใจ เพราะเกรงกันว่า จะทำให้น้ำท่วมอีก เหมือนในปี 2554 ส่วนตัว ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วย เพราะพื้นที่ฝั่งตะวันตกจะถูกเวนคืน ประชาชนจำนวนมากก็จะได้รับความเดือดร้อน ทางแก้ไขเสนอ ให้เพิ่มคลองแนวขวาง เพราะพื้นที่ตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา ถึง จังหวัดสมุครสาคร เป็นพื้นที่แนวราบ ต้องให้น้ำแผ่กระจายไปในแนวกว้าง และระบายน้ำออกทางคลองสาขา คลองเล็กคลองน้อย ที่มีอยู่ในพื้นที่ ก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงไม่เห็นด้วยกับโมดูล A5 ที่ไม่น่ามีประสิทธิภาพ และยังสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน โดยใช่เหตุขณะที่ ดร.เสรี กล่าวว่า ทีโออาร์ 10 โมดูล โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ของรัฐบาลนั้น คิด ว่า ต้องยอมรับก่อนว่าตัวเราเอง ยังไม่มีคำตอบที่ดีที่สุด เมื่อยังไม่มีคำตอบ แต่เรากลับจะไปทำสัญญาแล้ว ก็เกรงว่า จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เราต้องมาหาคำตอบก่อน ยังไม่ควรรีบไปทำสัญญากับผู้รับเหมา อย่างที่สถาบัน ไจก้า เสนอมานั้น ก็ถือเป็นทางออกทางหนึ่ง ส่วนตัวเห็นว่า มันรวบรัดเกินไป อาจเพราะเนื่องมาจากปัญหาการเมือง คุณก็ต้องไปแก้ปัญหาการเมืองก่อน อย่างกรณี รัฐบาล ต้องกู้เงินก่อนเดือนมิ.ย.นี้ ไม่เช่นนั้น พ.ร.บ.กู้เงินจะหมดอายุ อันนี้คุณก็ต้องไปแก้ไขเอง ปัญหาอื่นเราไม่รู้
ขณะที่รัฐเอง รู้ได้อย่างไรว่า ถ้าผู้รับเหมา รายหนึ่ง ประมูลงาน งบประมาณ 5 หมื่นล้านแล้ว จะสามารถทำได้ตามทีโออาร์นั้น อย่างเรื่องค่าเวนคืนที่ดินทำโครงการ ถ้ากำหนดทีโออาร์อย่างนี้ ผมเป็นผู้รับเหมา จะกำหนดค่าเวนคืนที่ดินมูลค่าสูงเลย เพราะเป็นการเซฟผลประโยชน์ให้กับบริษัท
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ยังไม่มีคำตอบที่ดีที่สุด เหตุใดรัฐ ต้องเร่งประมูลงานด้วย แล้วยังจะรีบไปเซ็นสัญญากับเอกชนได้อย่างไร ส่วนตัวยอมรับว่า กังวลมาก อยู่ๆ เอาวงเงินมา แล้วยังไม่มีคำตอบเลยว่า จะทำอะไร ทุกอย่างยังไม่มีคำตอบ
ส่วนตัวเห็นว่า หลังจากนี้ (3 พ.ค.) ช่วงระยะเวลาที่ประกาศผล และเซ็นสัญญา คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากว่า คำถามหลายคำถามยังไม่มีถ้าเซ็นสัญญากับเอกชน รัฐจะเสียหายกลับมาแน่ เชื่อว่ารัฐคงรับข้อเสนอ คำถามจากบริษัทเอกชน
ทางแก้ไข คือ ขอเวลาทำโรดแม็ป ขอเวลา อาจซัก 1 ปี ขอศึกษาทางออกก่อนว่า ทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร เมื่อศึกษาเสร็จแล้ว เราถึงได้คำตอบทั้งหมด ว่า ประเทศจะเดินไปทางไหน ผลการศึกาที่อออกมา อาจไม่จำเป็นต้องทำทั้ง 10โมดูลก็ได้ ก็ได้ประสิทธิภาพเท่ากัน
ทั้งนี้ เสรี กล่าวต่อว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนของไจก้า และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทญี่ปุ่นที่ถอนตัวออกไปจากการประมูลเลย ยืนยันว่าไจก้า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทญี่ปุ่น เพราะไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นเอง
ยืนยันว่า เรื่อง ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ที่ผ่านมา ว่าอย่าไปใช้หรือให้เหตุผลว่า ต้องเร่งนะ ไม่งั้นน้ำจะท่วมใหญ่อีก พูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาหลัก คือ การบริหารจัดการมีปัญหาไปแก้เสียก่อนดีกว่า-ส่วนคำถามที่ว่า เห็นว่าพรุ่งนี้การประมูลโครงการน้ำของรัฐบาลจะจบลงอย่างไรด้าน นายอุเทน กล่าวสรุปว่า เห็นด้วยกับแนวความคิดของ ดร.เสรี ที่ระบุว่า ไม่ว่าใคร ก็อย่าเอาเงื่อนไขความกลัว ที่ว่าต้องเร่งดำเดินโครงการ เพราะไม่เช่นนั้น หากน้ำท่วมใหญ่ กลับมาอีก รัฐบาลไม่ขอรับผิดชอบ เพราะเป็นการหลอกลวง พี่น้องประชาชน มันใช้ไม่ได้ จำเป็นไหม ต้องออกแบบอย่างนั้น หรือเพียงเพราะต้องการให้มีการใช้งบประมาณที่มากเข้าไว้ ฝากเอาไว้ว่าประเทศเรา ไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย
ยืนยันว่า ไม่มีใครไม่เห็นด้วย กับโครงการนี้ แต่มันยังไม่มีคำตอบ แต่ที่ทำไปมันเป็นเหมือนกระบวนการ ขี่ช้างจับตั๊กแตน ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใครเป็นคนเขียนโครงการขายฝัน อย่าง แอร์พอร์ตลิงค์ ยูโรทู แล้วสุดท้ายเป็นอย่างไร รัฐขาดทุนเท่าไหร ประชาชนได้อะไรบ้าง ผมไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะมีบริษัทไหนบ้างได้ งานทั้ง 9 โมดูลในวันพรุ่งนี้
ส่วนการประมูลพรุ่งนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่มีใครรู้ หลักการการแก้น้ำท่วมนี้ผมใช้ตามแนวพระราชดำริ คือเน้นไปที่ปลายน้ำ อย่างการแก้ปัญหาน้ำแล้งหลัก คือ การหาที่ให้น้ำอยู่ ดังนั้น งบประมาณ 3 แสนล้านที่จะใช้ ถ้าบริหารจัดการปลายน้ำได้ อย่างบูรณาการ งบประมาณแค่ 1.5 แสนล้านก็ทำได้แล้ว ผมพูดเลยว่า คณะกรรมการ กบอ.ชดนี้ คิดไม่เป็น เป็นแต่คิดว่าทำอย่างไร จะใช้งบประมาณให้มากที่สุด
ด้าน นายต่อตระกูล ยังฝากเตือนข้าราชการประจำ ที่ร่วมดำเนินการประมูล 3.5 แสนล้านนี้ กับฝ่ายการเมือง ให้ระวังมีความผิด ทั้งที่ส่วนตัวก็ไม่ได้กระทำความผิด เพียงแต่ไม่ได้คัดค้านโครงการนี้ เนื่องจากตอนนี้ ป.ป.ช. มีการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว แต่ไม่เปิดเผย ดังนั้นขอฝากเตือนกลุ่มข้าราชการบางท่าน ที่ไม่ได้ร่วมมือกระทำความผิด แต่อาจถูกดำเนินการตามกฎหมายได้
ส่วน ดร.เสรี ย้ำ ว่า กบอ.พยายามบอกว่า การดีไซน์ เอนด์ บิว (ออกแบบไปด้วย ก่อสร้างไปด้วย) ทั่วโลกใครๆ เขาก็ทำกัน แต่การดีไซน์ บิวนี้ มันครอบจักรวาล มีความเชื่อมโยงกัน เราไปผูกพัน งบประมาณ เราเคยทำการศึกษาของกรมชลฯมา อย่างการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต้องใช้เวลา 10 ปี ถึงจะเสร็จ แต่โครงการนี้ บอกคุยกัน 3 ปี แล้วทำอีก 2 ปีจึงเสร็จ มันก็สุ่มเสี่ยง ว่าจะเกิดการฟ้องร้องกันระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหากทำเช่นนี้ มันสุ่มเสี่ยง เชื่อว่า รัฐคงจะเยื้อไปเรื่อย เดาว่า ในที่สุดต้องมีการหาคำตอบก่อน อาจใช้เวลา 1 ปี แล้วค่อยกลับมา หากดื้อยังเซ็นสัญญาเลยกับบริษัทเอกชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็เตรียมตัวเจอกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดี เพราะที่ผ่านมาเห็นชัด ข้าราชการระดับสูง เกิดความกังวล อย่างหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ก็ยังไม่เอาด้วย อย่าง กรมชลประทาน เรื่องถึงกลับไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังต้องจับตาในช่วงเย็นวันนี้ กรณีการไปร้องศาลปกครองขององค์กรภาคประชาชนต่างๆ ที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการเปิดประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาล ที่มีกำหนดเปิดประมูลในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ค.)
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ วงเสวนาสับเละ! โครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน ชี้เพ้อฝัน-หวั่นโครตโกง