tdri logo
tdri logo

live broadcast

ความเป็นมา

ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนา โดยใช้โมเดลการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษโดยใช้โมเดลในการพัฒนาที่มีองค์ประกอบ 3 ประการที่สัมพันธ์กันคือ

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตโดยดึงดูดการลงทุนโดยตรง (FDI) และนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีเองน้อยมาก
2. การเน้นการส่งออกไปยังตลาดโลก
3. การอาศัยค่าจ้างแรงงานราคาถูก และละเลยต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม โมเดลการพัฒนาดังกล่าวสร้างการเติบโตอย่างไม่มีคุณภาพ อีกทั้งยังไม่มีความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และอ่อนไหวต่อการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ดังที่ปรากฏในช่วงปี 2555-2556 ยิ่งไปกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระดับสูงยังทำให้นโยบายกระจายรายได้และการสร้างความมั่นคงทางสังคม (social security) ของรัฐ มีแนวโน้มไปสู่ “นโยบายประชานิยม” (populism policy) ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังของภาครัฐ และไม่มีความยั่งยืนในการพัฒนา

ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องแสวงหาโมเดลใหม่ในการพัฒนา ที่จะต้องมีการเติบโตแบบมีพลวัตร มีความเป็นธรรมทางสังคมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมุ่งสู่การยกระดับประเทศไทยให้พ้น “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” (middle-income trap) ก่อนที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุ (aging society) อย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ โมเดลในการพัฒนาใหม่น่าจะมีองค์ประกอบ 3 ประการดังต่อไปนี้คือ

1. การสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทย
2. การสร้างความสมดุลระหว่างตลาดส่งออกในระดับโลก ระดับภูมิภาคและกำลังซื้อในประเทศ
3. การเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานและปรับค่าตอบแทนของแรงงานทั้งค่าจ้างและการประกันสังคมให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อม

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยจึงเห็นควรที่จะจัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2556 ในหัวข้อเรื่อง “โมเดลใหม่ในการพัฒนา: สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ (New Development Model: Towards Quality Growth Based on Productivity Improvement)”

กรอบเนื้อหาของการสัมมนา

จากแนวคิดดังกล่าว เนื้อหาของการสัมมนาในปีนี้จะประกอบไปด้วยการนำเสนอบทความ 4 บทความ ดังต่อไปนี้

บทความที่ 1: โฉมหน้าและแนวทางสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ (Features and Paths Towards a New Development Model)

บทความนี้จะกล่าวถึงภาพสถานการณ์ (scenario) ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศที่เป็นไปได้ในระดับมหภาค โดยจะกล่าวถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและสังคมไทยในด้านต่างๆ เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต เกษตร และบริการในผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) สัดส่วนของการส่งออกต่อความต้องการในประเทศ ระดับค่าจ้างแรงงาน ผลิตภาพแรงงาน ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ระดับการกระจายรายได้ เป็นต้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก โครงสร้างประชากรไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ บทความนี้ยังจะกล่าวถึงแนวทางในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากปัจจุบันไปสู่โครงสร้างใหม่ตาม ภาพสถานการณ์ต่างๆ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ในการพัฒนาของประเทศอื่นๆ ที่สามารถหลุดพ้นจาก “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง”

บทความที่ 2: การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิต (Strategies to Create Innovation and Technology Development)

การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นหัวใจของการยกระดับผลิตภาพ (productivity) ของภาคการผลิต บทความนี้จะกล่าวถึงประสบการณ์ของภาคธุรกิจไทยในการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีโดยสังเคราะห์จากกรณีศึกษาของธุรกิจไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตและบริการ และจะเสนอแนะข้อเสนอทางนโยบายต่อรัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิตไทยมากขึ้น

บทความที่ 3: การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ (Human Capital Development for Better Productivity)

เพื่อที่จะสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิต แรงงานไทยจำเป็นต้องยกระดับผลิตภาพของตน ทั้งโดยกระบวนการศึกษาในระบบ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการฝึกอบรมทักษะหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศไทยให้สอดคล้องกับการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st century skill) การปฏิรูประบบการทดสอบ การประเมินผลสถานศึกษา และการปรับระบบการเงินของการศึกษาให้เกิดความรับผิดชอบ (accountability)

บทความที่ 4: บทบาทของภาครัฐในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและการคลัง (The Roles of the Government in Allocating Financial Resources)

ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและการคลังเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งการจัด สรรเงินทุนผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และการดำเนินนโยบายการคลัง การจัดสรรทรัพยากรที่ดีจะช่วยสร้างผลิตภาพของภาคการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น หากประเทศมีฐานะทางการคลังที่เข้มแข็ง มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีสวัสดิการสังคมและทุนมนุษย์ที่เหมาะสม ก็จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว ในทางตรงกันข้าม หากรัฐใช้จ่ายงบประมาณสูงในลักษณะ “ประชานิยม” ซึ่งเน้นผลกระทบระยะสั้น โดยไม่สร้างความเข้มแข็งของธุรกิจและประชาชนในระยะยาว หรือใช้ธนาคารของรัฐจัดสรรเงินทุนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ประเทศก็จะไม่สามารถยกระดับผลิตภาพ มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวในระดับต่ำ


ติดตามการถ่ายทอดสดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ได้ทาง www.tdri.or.th หรือ www.facebook.com/tdri.thailand

กำหนดการ การสัมมนาวิชาการประจำปี 2556

ผู้ที่ได้รับหนังสือเชิญเข้าร่วมการสัมมนา สามารถตอบรับการเข้าร่วมการสัมมนาได้ ที่นี่

ผู้สนใจทั่วไปที่ประสงค์เข้าร่วมสัมมนามีค่าธรรมเนียมลงทะเบียนท่านละ 2,000 บาท
กรุณาติดต่อฝ่ายลงทะเบียน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โทรศัพท์ 02-718-5460 ต่อ คุณรัชตา เบอร์ต่อ 220 หรือ คุณรุจิรัตน์ เบอร์ต่อ 223
เพื่อชำระค่าธรรมเนียมลงทะเบียน ภายในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2556 (ขออภัยที่ไม่เปิดลงทะเบียนหน้างาน)