การสัมมนาวิชาการประจำปี 2557

http://youtu.be/3xMFymqqXpc

PosterYearEnd

ความเป็นมา

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีอายุครบรอบ 30 ปีในปี 2557 นี้ ตลอดระยะเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอได้สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะของไทยในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในการผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และติดตามตรวจสอบนโยบายที่สร้างผลเสียต่อประชาชน ตามคำขวัญ “เป็นสถาบันวิชาการอิสระร่วมสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย” วาระครบรอบ 30 ปีเป็นโอกาสอันดีที่ทีดีอาร์ไอจะทบทวนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และมองภาพเศรษฐกิจสังคมไทยต่อเนื่องไปข้างหน้าอีก 30 ปี

บทเรียนประการสำคัญที่ได้จากการทบทวนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยที่ผ่านมาคือ ประเทศไทยสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ จากการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและเน้นการส่งออกไปยังตลาดโลก โดยอาศัยค่าจ้างแรงงานราคาถูกและละเลยต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม  อย่างไรก็ตาม โมเดลการพัฒนาดังกล่าวสร้างการเติบโตที่ไม่มีคุณภาพเนื่องจากทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พึ่งพิงตลาดภายนอกประเทศมากเกินไป และขาดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง”

ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องแสวงหาโมเดลใหม่ในการพัฒนาที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งมีความท้าทาย 4 ประการคือ ต้องเติบโตอย่างพลวัตบนฐานของผลิตภาพ ต้องสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ต้องมีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาดังกล่าวให้ได้ใน 3 ทศวรรษ ก่อนที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุ (aging society) อย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ยังไม่หลุดพ้นจาก “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง”

กรอบเนื้อหาของการสัมมนา

จากแนวคิดดังกล่าว เนื้อหาของการสัมมนาในปีนี้จะประกอบไปด้วยการนำเสนอบทความ 4 บทความ ดังต่อไปนี้

บทความที่ 1:    การเติบโตอย่างมีพลวัต: การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

World Economic Forum (WEF) จัดให้ประเทศไทยอยู่ใน “กลุ่มประเทศที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิต” (efficiency-driven countries) และยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “กลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรม” (innovation-driven countries) ได้   นอกจากนี้ การสร้างนวัตกรรมของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีผลในการบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

การที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีพลวัตได้นั้น จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (physical infrastructure) เช่น ระบบการขนส่งและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และมีโครงสร้างพื้นฐานทางสถาบัน (institutional infrastructure) ต่างๆ เช่น กฎระเบียบ นโยบายและมาตรการของรัฐ ซึ่งเอื้อต่อการลงทุนสร้างนวัตกรรมของภาคเอกชน  บทความนี้จะเสนอแนวทางในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งสองด้าน เพื่อปรับพื้นฐานของประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมในสามทศวรรษข้างหน้า

บทความที่ 2:    การเติบโตอย่างยั่งยืน: ความท้าทายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม

การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อจัดการทรัพยากรของประเทศหรือรับมือกับภัยธรรมชาติที่ผ่านมามักขาดการคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขาดการบูรณาการระหว่างฝ่ายต่างๆ และไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อต้าน  และส่งผลให้การดำเนินโครงการไม่ประสบความสำเร็จ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในอนาคต 30 ปีข้างหน้า อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น คำถามสำคัญคือแนวทางการจัดการทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและการรับมือกับภัยธรรมชาติในอนาคตควรเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้สามารถตอบรับกับแรงกดดันและข้อจำกัดต่างๆได้

บทความที่ 3:    การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ: การสร้างวินัยทางการคลังและธรรมาภิบาล

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว และเป็นเป้าหมายของการดำเนินนโยบายมหภาคของไทยมาโดยตลอด แม้ในบางช่วงเวลาจะหักเหออกไปบ้างจากปัจจัยการเมือง  อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ประเทศไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านนโยบายการคลัง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ แรงกดดันด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มต่ำกว่าในอดีตมาก การกำหนดแนวนโยบายการคลังในระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการปรับโครงสร้างภาษี การปฏิรูปกระบวนการดำเนินนโยบายการคลังให้โปร่งใสและรับผิดชอบ ตลอดจนการมีกฎในการสร้างวินัยทางการคลัง (fiscal rule)

บทความที่ 4:    การเติบโตอย่างเป็นธรรม: การสร้างโอกาสและการลดความเสี่ยงของประชาชน

สังคมที่เป็นธรรมคือสังคมที่ให้โอกาสและคุ้มครองความเสี่ยงทางสังคมแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ในด้านการสร้างโอกาสการศึกษาพื้นฐานที่มีคุณภาพ สามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกกลุ่มซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม   ในด้านการคุ้มครองความเสี่ยงทางสังคมการสร้างระบบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุและผู้ยากไร้ที่มีคุณภาพเป็นความท้าทายที่สำคัญของไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวใน 3 ทศวรรษข้างหน้า

บทความนี้จะเสนอแนวทางในการสร้างโอกาสทางการศึกษา และการให้สวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพและเป็นธรรมด้วยการปรับปรุงระบบการจัดสรรเงิน การสร้างระบบการอภิบาลที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบมากขึ้น และการเพิ่มบทบาทของชุมชนและท้องถิ่นในการบริหารจัดการด้านการศึกษาและสวัสดิการสังคม

หน่วยงานร่วมจัด

หน่วยงานที่ร่วมจัดการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ประกอบด้วย มูลนิธิชัยพัฒนา  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  มูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ผู้เข้าร่วมการสัมมนา

ผู้เข้าร่วมการสัมมนาจะประกอบด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน นักวิชาการ ตัวแทนของภาคประชาชนทั่วไป ภาคการเมือง และสื่อมวลชน รวมทั้งสิ้นประมาณ 800 คน

วันและสถานที่จัดการประชุม

การสัมมนาจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22  โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ


ติดตามการถ่ายทอดสดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ได้ทาง www.tdri.or.th หรือ www.facebook.com/tdri.thailand

กำหนดการ การสัมมนาวิชาการประจำปี 2557

ผู้ที่ได้รับหนังสือเชิญเข้าร่วมการสัมมนา สามารถตอบรับการเข้าร่วมการสัมมนาได้ ที่นี่

ผู้สนใจทั่วไปที่ประสงค์เข้าร่วมสัมมนามีค่าธรรมเนียมลงทะเบียนท่านละ 2,000 บาท
กรุณาติดต่อฝ่ายลงทะเบียน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โทรศัพท์ 02-718-5460 ต่อ  220 (คุณศิรเพ็ญ)  หรือ 223 (คุณภวมัย) เพื่อชำระค่าธรรมเนียมลงทะเบียน ภายในวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 (ขออภัยที่ไม่เปิดลงทะเบียนหน้างาน)