“กัญชาไทย…จะไปทางไหน?” ทีดีอาร์ไอ เปิดผลประเมินทางสุขภาพ-เศรษฐกิจ-สังคม หลังปลดล็อกกัญชา 2 ปี พร้อมข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ทีดีอาร์ไอ – วช.  จัดสัมมนา “กัญชาไทย…จะไปทางไหน?” เปิดผลประเมินทางสุขภาพ-เศรษฐกิจ-สังคม หลังปลดล็อกกัญชา 2 ปีพบใช้เพื่อนันทนาการมากสุดโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ชงข้อเสนอ ใช้มาตรการทางนโยบายและกฎหมายคุมเข้ม ห้ามผสมอาหาร-ขนม หนุนยกเลิกปลูกในครัวเรือน

วันที่ 29 มีนาคม 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง “กัญชาไทย…จะไปทางไหน?” ที่ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ

ดร. ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ และหัวหน้าแผนงานวิจัย “การประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจากกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง” กล่าวว่า เกือบ 2 ปีแล้วที่รัฐบาลไทยได้ประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพ แต่การปลดล็อกดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชา ซื้อ ขาย นำไปผสมในอาหาร และใช้เพื่อนันทนาการในพื้นที่ส่วนตัวได้ โดยสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทยหลังจากปลดล็อกพบว่ากัญชาถูกนำไปใช้ใน 3 รูปแบบคือ เพื่อการแพทย์ (รวมแพทย์ทางเลือก) เพื่อนันทนาการ และ อื่น ๆ (เช่น ต้มดื่ม ปรุงอาหาร) “การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการมีมากที่สุดซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่าตัว รองลงมาคือใช้เพื่อการแพทย์และสุขภาพ แต่ส่วนใหญ่แพทย์ยังจ่ายกัญชาเพื่อบรรเทาอาการ และยังขาดหลักฐานทางการแพทย์ที่สนับสนุนให้ใช้กัญชาเป็นยาตัวแรกหรือตัวหลักในการรักษาผู้ป่วย”ดร.ณัฐนันท์ ระบุ

“การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการมีมากที่สุดซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่าตัว รองลงมาคือใช้เพื่อการแพทย์และสุขภาพ แต่ส่วนใหญ่แพทย์ยังจ่ายกัญชาเพื่อบรรเทาอาการ และยังขาดหลักฐานทางการแพทย์ที่สนับสนุนให้ใช้กัญชาเป็นยาตัวแรกหรือตัวหลักในการรักษาผู้ป่วย”ดร.ณัฐนันท์ ระบุ

ส่งผลกระทบสังคม-สุขภาพ ห่วงแนวโน้มคนใช้กัญชาอายุน้อยลงเรื่อยๆ-ผู้ใช้หน้าใหม่

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอ โดยการสนับสนุนของ วช. ได้ทำการศึกษาในโครงการ “การประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจากกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง” พบว่า การใช้กัญชาส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงกับสังคมมากที่สุด รองลงมาคือสุขภาพของผู้ใช้ เห็นได้จากในปี พ.ศ. 2565 (ปีที่ปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5) และปี พ.ศ. 2563 (หลังการแก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้) มีจำนวนผู้ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นมาก จากการสำรวจในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,017 คนพบว่ามีประมาณ 1 ใน 4 เคยได้รับผลกระทบจากผู้ใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสม  ขณะที่ผู้ที่ใช้กัญชาโดยตรงได้รับผลกระทบในหลายมิติ อาทิ ปัญหาทางด้านการเงิน ความสามารถในการควบคุมสติและการตัดสินใจลดลง ความสามารถในการขับขี่ลดลง และอาจนำไป
สู่การทดลองใช้สารเสพติดชนิดอื่นซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ตามมา  นอกจากนี้ กลุ่มที่มีการใช้กัญชามากหรือความถี่สูง มีแนวโน้มว่าจะอายุน้อยลงเรื่อย ๆ หรือเป็นผู้ใช้หน้าใหม่มากกว่าร้อยละ 10

พบผู้ป่วยแพ้ยามากขึ้น แม้อาจช่วยบรรเทาผู้ป่วยไมเกรน-เนื้องอกร้าย-นอนไม่หลับในบางราย

ด้าน ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านสาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ ระบุถึงผลการศึกษาในส่วนการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ว่า มีทั้งผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวก ผลกระทบเชิงลบเกิดจากจำนวนผู้ป่วยจากการใช้กัญชาที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นถึง 4-5 เท่าจากช่วงที่รัฐบาลเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น โดยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการแพ้ยาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนไทย  อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงมากนัก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่กรมการแพทย์ควบคุมความเข้มข้นของสาร THC ในระดับที่กฎหมายกำหนดไว้

ขณะที่ผลกระทบเชิงบวก มองว่าภายหลังที่มีการบรรจุยากัญชาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติสามารถใช้บรรเทาอาการของโรคได้บางชนิด  สำหรับโรคที่มีการเบิกยากัญชามากที่สุด คือ ไมเกรน เนื้องอกร้าย นอนไม่หลับและปวดตามร่างกาย และลมปลายปัตคาต (ภาวะแข็งตัวของหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อส่วนที่เป็นแข็งเป็นก้อน)  โรคที่มีมูลค่าการเบิกจ่ายสูงสุด คือ ลมชัก ไมเกรน และเนื้องอกร้าย

กระแสเริ่มซา เผยธุรกิจกัญชาที่จดทะเบียนถูกต้องส่วนใหญ่ขาดทุนมากกว่ากำไร

สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้น ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ทีมวิจัยได้ประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจทางตรงในส่วนของผลิตภัณฑ์จากธุรกิจที่จดทะเบียนพบว่า ธุรกิจที่จดทะเบียนมีรายได้รวมจากกัญชา 39 ล้านบาท ขาดทุนรวม 194 ล้านบาท  ธุรกิจที่สามารถทำกำไรมีเพียงร้อยละ 25 และสามารถทำกำไรได้เฉลี่ยร้อยละ 37.6  แม้ผลิตภัณฑ์สินค้าจากกัญชาจะเป็นที่กล่าวถึงในตลาดสินค้าผู้บริโภค แต่เมื่อเวลาผ่านไปกระแสความนิยมในผลิตภัณฑ์สินค้าจากกัญชาเริ่มลดลง

ทั้งนี้ การประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจจากจำนวนที่ลงทะเบียนปลูกในแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” พบว่า หากมีการนำกัญชาที่ลงทะเบียนปลูกเข้ามาขายในระบบตลาดเพียงร้อยละ 10 ตลาดกัญชาในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาท  นอกจากมูลค่าที่เกิดจากกัญชาโดยตรงแล้ว ร้านค้าจำหน่ายกัญชาได้นำเอาอุปกรณ์ประกอบมาจำหน่ายร่วมด้วยซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกประมาณ 500 ล้านบาท แต่พบว่าอุปกรณ์เหล่านั้นส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนที่ผลิตในไทยมีเพียงส่วนน้อยซึ่งไม่ได้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร

ส่วนประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจทางอ้อมนั้น การปลูกกัญชาตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยตามจำนวนที่ลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” จะช่วยสร้างเศรษฐกิจต้นน้ำหมุนเวียนต่อไปยังเศรษฐกิจสาขาอื่น ๆ ได้อีกเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท และจะช่วยสร้างการจ้างงานในสาขาการผลิตต่าง ๆ ได้ 8,349 คน และสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสาขาการผลิตต่าง ๆ ที่ได้รับการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ได้รวม 303 ล้านบาท

กฎหมายมีช่องโหว่ ไร้การกำกับดูแล-ตรวจสอบจริงจัง ขาดเจ้าภาพคุมเข้ม

ขณะที่ ดร. กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าทีมการปฏิรูปกฎหมาย ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า กฎหมายยังมีช่องโหว่ เนื่องจากการปลดล็อกกัญชาที่เร็วเกินไปได้สร้างช่องว่างในการกำกับดูแลจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อคนทั่วไปว่ากัญชาสามารถใช้ได้อย่างเสรี  จากการศึกษาพบว่าปัญหาหลักมีดังนี้ 1. การเพาะปลูกกัญชาไม่ว่าจะเป็นการกำหนดพื้นที่เพาะปลูก คุณสมบัติผู้ปลูก และการจัดการดูแลระบบมีกฎหมายกำกับดูแลอย่างชัดเจนหากเป็นการปลูกในเชิงพาณิชย์ แต่หลังจากที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาสามารถดำเนินการเพียงจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ประชาชนจึงเกิดความสงสัยว่าสามารถปลูกได้โดยเสรีเพียงแค่จดแจ้ง หรือยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย  คนบางกลุ่มอาศัยความไม่ชัดเจนดังกล่าวปลูกกัญชาในบ้านเพื่อการพาณิชย์

2. การครอบครองและจำหน่ายช่อดอกกัญชายังไม่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เนื่องจากกฎหมายมีความลักลั่นระหว่างช่อดอกกัญชาและสารสกัดกัญชา ในบางกรณีช่อดอกกัญชาอาจมีค่า THC สูงกว่าร้อยละ 0.2 แต่กลับจำหน่ายได้  3. การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาสำหรับการบริโภคยังขาดการตรวจสอบที่เข้มงวดเนื่องจากการตรวจสอบห้องปฏิบัติการเป็นไปเพียงครั้งเดียวเพื่อขออนุญาตโดยไม่มีการตรวจซ้ำหลังจากผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และ 4. การบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพที่ดูแลอย่างจริงจัง  การขออนุญาตปลูกกัญชาและการจำหน่ายอยู่ภายใต้หน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน แต่ไม่มีการดำเนินการตรวจสอบที่เข้มงวด

ชี้มีผลกระทบเชิงลบมากกว่าบวก เปิดข้อเสนอด้านนโยบาย-ปรับกฎหมายแก้ปัญหา

เมื่อนำผลจากการศึกษาทั้งหมดมาวิเคราะห์ คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอพบว่า ในด้านสังคม กัญชาส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรง กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเปราะบาง เด็ก และเยาวชน ส่วนทางด้านสุขภาพทั้งเชิงบวกและเชิงลบนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม ผลจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าเป็นไปในเชิงลบมากกว่า สถิติผู้ป่วยจากการใช้กัญชามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงระยะหลัง สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้น ในช่วงแรกพบผลเชิงบวกแต่หลังจากที่กัญชาเสรีมีการแข่งขันในตลาดมากขึ้น มีสินค้าไม่มีคุณภาพออกสู่ท้องตลาด และมีการขายตัดราคากัญชาแข่งกัน ในระยะยาวอาจกลายเป็นผลกระทบเชิงลบ

“เมื่อชั่งน้ำหนักทุกด้านแล้ว การใช้กัญชาในทิศทางที่ไม่เหมาะสม ขาดการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สุดท้ายจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ” คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอระบุ  

ชงข้อเสนอแนะปรับกฎหมายให้ชัดเจน ห้ามปลูกในครัวเรือน ร้านขายต้องมีใบอนุญาตเพื่อการแพทย์ กำหนดโซนนิ่งสกัดเข้าใกล้เยาวชน ยกเลิกผสมกัญชาในอาหารปรุงสด-ขนม

คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอระบุเพิ่มเติมว่าจากการประเมินสถานการณ์ผลกระทบของกัญชาทำให้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการทางกฎหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมจากกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ด้านกฎหมาย ควรมีการพัฒนากรอบกฎหมายที่ชัดเจนสำหรับการปลูกกัญชาต้องเป็นไปเพื่อการพาณิชย์เพื่อใช้ในการแพทย์สำหรับรักษากลุ่มโรคที่ได้รับการรับรองเท่านั้น และยกเลิกการปลูกกัญชาในครัวเรือน ให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนในการพิจารณาออกใบอนุญาตการปลูกกัญชาภายใต้กรอบอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่ร้านจำหน่ายกัญชาต้องมีใบอนุญาตเพื่อการแพทย์ จำกัดจำนวนร้านในแต่ละพื้นที่เหมาะสม และต้องเพิ่มเรื่องพื้นที่ควบคุม (Zoning) หรือระยะห่างที่เหมาะสม ระหว่างจุดจำหน่ายกับสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนให้ชัดเจน สำหรับผลิตภัณฑ์กัญชาควรต้องยกเลิกการนำกัญชาไปผสมกับอาหารที่ปรุงสด เช่น ก๋วยเตี๋ยว หรือเครื่องดื่มที่ชงสด และห้ามนำทุกส่วนของกัญชาไปผสมผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกับขนม หรืออาหารที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน สุดท้ายการบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจังและมีประสิทธิภาพ

หนุนเลิกกำหนดตัวชี้วัดสธ.ที่ไม่ยึดประโยชน์คนไข้เป็นหลัก ตั้งศูนย์วิจัยฯพิสูจน์คุณภาพ-ทดลองพืชสมุนไพร

ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขควรปรับหรือเลิกกำหนดตัวชี้วัดด้านสาธารณสุขที่ไม่ได้ยึดประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก เร่งสนับสนุนทุนในการทำ Clinical Trial (การวิจัยทางคลินิก) ในกลุ่มโรคที่มีหลักฐานหนักแน่นถึงประสิทธิผลของการใช้กัญชารักษาบางโรค เช่น นอนไม่หลับในแพทย์แผนไทย เสนอให้จัดตั้ง/พัฒนาศูนย์ศึกษาวิจัยพืชและยาสมุนไพรที่จะสามารถพิสูจน์คุณภาพ/ทดลองยาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และหลักฐานเชิงประจักษ์

พิจารณาใช้กลไกทางภาษี สำหรับในกรณีที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นการรักษาทางการแพทย์และมีความเสี่ยงที่จะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากทางการแพทย์อย่างแท้จริง 

ด้านนโยบาย ควรเพิ่มมาตรการควบคุมการเข้าถึงและการใช้ในกลุ่มเปราะบางและอาจนำการเสริมสร้างกลไกเพื่อสุขภาพเข้ามาช่วยโดยอาจพิจารณานำมาตรการทางภาษีเข้ามาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลดปัญหาจากการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม  

ทั้งนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ ภาษีเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลดปัญหาผลกระทบต่อสังคมในแง่ลบหรือnegative externalities ภาษีที่ถูกจัดเก็บขึ้นในด้านหนึ่งจะถูกใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมในแง่ลบที่เกิดขึ้น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณทางด้านราคาทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะบริโภคน้อยลง (deterrent effect)  ดังนั้น รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีกัญชาโดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การจัดเก็บกับผู้ผลิตสินค้าให้จัดเก็บโดยส่วนกลางแล้วนำมาใช้กับประโยชน์ในส่วนรวม (ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่) เช่น การทำวิจัยและพัฒนาเพื่อการพิสูจน์สรรพคุณทางการแพทย์ และอีกประเภทหนึ่งคือ การจัดเก็บกับผู้ขายซึ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นเพื่อสร้างกลไกทางสังคมที่ช่วยลดทอนผลกระทบในแต่ละพื้นที่

เวทีเสวนา “กัญชาไทย…จะไปทางไหน?”  เปิดมุมมองจากผู้มีประสบการณ์จริง ร่วมหาแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม

ภายในงานสัมมนายังมีการจัดเสวนาหัวข้อ “กัญชาไทย…จะไปทางไหน” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วยนายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม, น.ส.ชิดชนก ชิดชอบ Managing Director, BR Power, รศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล, รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และ ดร.ภูวนาท คุนผลิน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

สำหรับเนื้อหาบนเวทีเสวนานั้น เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกัญชาในประเทศไทย สถานการณ์ของวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชา ผลการศึกษาและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีการใช้กัญชาในการรักษาโรค รวมทั้งแนวทางการกำกับดูแลและควบคุมการใช้กัญชาให้เหมาะสมที่สุดในอนาคต