เฉาะงบ กสทช. อู้ฟู่ใหญ่โตทะลุมิติ

ปี2014-02-13

สกู๊ปหน้า 1

ผลการศึกษาของ NBTC Policy Watch …คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม ศึกษาการใช้เงินของ กสทช. มีหลายประเด็นชวนเล่าสู่กันฟัง

กสทช.ก็คือหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม เป็นกรรมการของการแข่งขันในวงการต่างๆ

เหล่านี้ มีกรรมการทั้งหมด 11 คน และมีสำนักงานเลขา กสทช.ทำงานรองรับ

กสทช.ไม่ต้องของบประมาณจากสภาฯ เพราะมีรายได้จากค่า ธรรมเนียมใบอนุญาต เอกชนมาขออนุญาตทำธุรกิจ 3G ธุรกิจต่างๆก็ต้องมาจ่ายค่าธรรมเนียมขอใบอนุญาต เคาะตัวเลขอยู่ที่ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เอกชนมี

รวมๆแล้ว กสทช.มีรายได้ตกราวๆประมาณปีละ 4,000ล้านบาท และจะใหญ่ขึ้นในอนาคตถ้าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และผู้ประกอบการต่างๆเข้ามาด้วย

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเงินอีกก้อนที่รับมาบริหารเก็บจากผู้ได้รับใบอนุญาตเช่นเดียวกัน เพื่อไปให้บริการอย่างทั่วถึง บริการทางสังคมต่างๆ อีกปีละ 3,000 ล้านบาท

รวมเงินสองก้อนนี้ กสทช.จะมีเงินบริหารในมือ7,000 ล้านบาท…

“…เป็นงบที่ใหญ่กว่างบของกระทรวงพลังงาน ในปัจจุบัน เมื่อเอา ปตท.ออกไปแล้ว…มีงบประมาณ 2,000 กว่าล้านเท่านั้นเอง แล้วก็ใหญ่กว่างบกระทรวงวัฒนธรรม”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ บอกว่า งบก้อนใหญ่ในมือบางส่วนถูกกำหนดให้เอาไปใช้ในภารกิจที่กำหนด กับงบบางส่วนที่เปิดกว้าง…นั่นก็คือก้อน 4,000 ล้านบาท ใช้ในการบริการจัดการเพื่อกำกับดูแล…ปัญหาสำคัญคือ “ความโปร่งใส” กสทช.เป็นองค์กรอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีกระทรวงไหน ฉะนั้นการติดตามตรวจสอบจะไม่ใช่เป็นกระบวนการปกติที่ไปของบจากสภา

ถ้าจะว่าไปแล้วงบในปี 2555 ที่อยู่เฉียดๆ 4,000 ล้านบาท…

อยู่ที่ 3,932 ล้านบาท หากเทียบกับประเทศอังกฤษที่มีองค์กรคล้ายๆกันนี้เขาบริหารเงินก้อนโตอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ส่วนอเมริกาก็บริหารงบอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท

เทียบกันแล้ว กสทช.บ้านเราอาจจะดูน้อยกว่า แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยมีขนาดตลาดกิจการวิทยุโทรทัศน์โทรคมนาคมเล็กกว่าบ้านเขาเยอะมาก เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของเรางบ กสทช.ต่อรายได้ตลาดอยู่ที่ 1.1 เปอร์เซ็นต์ ของอังกฤษอยู่ที่ 0.2 เปอร์เซ็นต์ ของอเมริกาอยู่ที่ 0.08 เปอร์เซ็นต์

แปลว่า…เราเป็นองค์กรที่ใช้จ่ายเงินเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดมากกว่าชาวบ้านเขา

ฉายภาพไปที่งบอิสระเปิดกว้างก้อน 4,000 ล้าน น่าสนใจว่ามีเกือบ 1,500 ล้านบาท ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเอาไปใช้ในภารกิจใด

มาดูข้อมูลเท่าที่เปิดเผยต่อสาธารณะ กสทช.เขียนไว้ว่า 970 ล้านบาทเป็นงบภาระต่างๆที่จำเป็น…งบกลางฉุกเฉิน 160ล้านบาท และงบอื่นๆ 346 ล้านบาท

ดูเหมือนว่าส่วนที่ระบุชัดเจนก็คืองบ 3 ก้อนแรกที่โตที่สุดก้อนที่ 1…เงินบริจาคและการกุศล 245 ล้านบาท ให้หน่วยงานต่างๆ เป็นประเด็นน่าสังเกตและน่าจะต้องเฝ้าระวัง เพราะไม่ใช่เงินเหลือแล้วบริจาคได้ตามอำนาจ ว่ากันตามตรงถ้า กสทช.มีเงินเหลือจากการบริหารในมือ ก็ควรคืนให้รัฐเพื่อนำมาใช้เป็นงบพัฒนาประเทศต่อไป

ก้อนที่สอง…เป็นค่าเดินทางและเบี้ยเลี้ยงกรรมการ กสทช. ทั้ง11 ท่านอยู่ที่ 231 ล้านบาท กำหนดไว้ว่า แต่ละปีกรรมการจะใช้งบนี้เดินทางในประเทศได้ 400,000 บาท ไปดูงานในต่างประเทศได้ 3,000,000บาท

ฉายภาพค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยงให้ชัดๆ ปรากฏว่า ใช้ไปทั้งสิ้น 231 ล้านบาท เทียบกับ กสทช.อังกฤษ ใช้ไป 78 ล้านบาท อเมริกาใช้ไปเพียง 57 ล้านบาทเท่านั้นเอง

เทียบกับหน่วยงานในประเทศอื่นๆของบ้านเรา คงต้องหาข้อมูลมาเปรียบเทียบกันต่อไป ดร.สมเกียรติบอกว่า หน่วยงานอื่นในประเทศถ้าจะไปดูงานต่างประเทศก็ต้องของบผ่านสภา แต่ กสทช.เมื่อมีรายได้เข้ามาโดยตรงก็ไม่ต้องไปขอ สามารถจัดสรรการใช้จ่ายได้เอง

แล้วก็มาถึง ก้อนสุดท้าย… 114 ล้านบาท ใช้ในการประชาสัมพันธ์ ในขณะที่เราไปดูว่า กสทช.อังกฤษ อเมริกาจะใช้เงินส่วนนี้สักเท่าไหร่ ปรากฏว่า กสทช.อังกฤษ ไม่มีงบประชาสัมพันธ์เลย ส่วน กสทช.อเมริกามีเพียง 10 ล้านบาทต่อปี

กสทช.ไทยเราใช้มากกว่าอเมริกา 10 เท่าตัว…เจาะลึกในรายละเอียด กสทช.ไทย ลงสื่อประชาสัมพันธ์อย่างไรบ้าง เอาเฉพาะครึ่งปี 2556 เท่าที่รวบรวมข้อมูลมาได้

ในจำนวนนี้ 29.1 ล้านบาท ไม่รวมการจัดอีเวนต์ที่เป็นงบแยกออกต่างหาก พบว่า กสทช.ไทยโฆษณาหนังสือพิมพ์ 8.4 ล้านบาท โฆษณาวิทยุ 6.3 ล้านบาท โฆษณาฟรีทีวี/ดาวเทียม/เคเบิล 12.4 ล้านบาท และโฆษณานิตยสาร 1.9 ล้านบาท

ข้อมูลข้างต้นเป็นประเด็นสำคัญให้ตั้งข้อสังเกต…ปกติ กสทช.เป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย ออกกฎกติกา เพราะฉะนั้นพูดจาอะไรออกไปสื่อน่าจะเผยแพร่ให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรใดๆ

โดยสรุปปัญหาเรื่องงบประมาณของ กสทช.บ้านเราก็คือมีอิสระในการใช้จ่าย แต่ไม่ได้เปิดเผยแจกแจงการใช้งบประมาณอย่างชัดเจน มีการใช้เงินส่วนที่ไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง เช่น เอาไปบริจาคเพื่อการกุศล เงินส่วนนี้ถ้าไม่ใช้จะประหยัดมากขึ้น มีเงินส่งคืนเข้ารัฐ

“ใช้งบเพื่อเดินทางไปต่างประเทศมาก ใช้จ่ายเพื่อการประชาสัมพันธ์มาก อีกประเด็นสำคัญก็คือ มักจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งแปลว่าไม่มีการแข่งขัน”

เคยอ่านรายงาน สตง.ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ ช่องโหว่ช่องว่างที่เกิดขึ้น อาจจะสะท้อนถึงธรรมาภิบาลของหน่วยงานใหญ่ยักษ์นี้

“ข้อแนะนำเพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คงต้องเรียกร้องให้สำนักงาน กสทช.ใช้จ่ายประหยัดมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางไปดูงานต่างประเทศให้เหมาะสม และโฆษณาประชาสัมพันธ์ควรจะน้อยจริงๆ ทำเท่าที่จำเป็น…และควรจะเปิดเผยข้อมูล รายละเอียดในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น”

ประเด็นที่สองก็คือ คงจะต้องเรียกร้อง สตง. กระบวนการงบประมาณที่ กสทช.ได้มานั้นไม่ต้องผ่านสภา เพราะฉะนั้นต้องยิ่งตรวจสอบให้เข้มข้น เท่าที่อ่านรายงาน สตง.ยังพบว่าการตรวจสอบไม่ค่อยเข้มงวดเท่าไหร่ และสุดท้ายให้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินผล กสทช.ตามกฎหมาย

“เหตุที่ตั้งข้อสังเกตงบ กสทช.เพราะเป็นหน่วยงานอิสระ มีงบประมาณเป็นของตัวเอง และก็เป็นหน่วยงานใหญ่ที่มีงบมหาศาล ควรต้องเพ่งเล็ง รอฟังคำชี้แจง เพื่อไม่ให้งบประมาณที่ประเทศพึงจะได้นำมาพัฒนาประเทศถูกนำไปใช้ไม่ถูกที่ไม่ถูกทาง”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวทิ้งท้าย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ในชื่อ “เฉาะ!งบ กสทช. อู้ฟู่ใหญ่โตทะลุมิติ”