อดีต ส.ส. วิพากษ์ยุบ 3 กองทุน

ปี2014-07-31

หมายเหตุ – นักวิชาการและอดีต ส.ส.แสดงความคิดเห็นต่อกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเมื่อ วันที่ 29 กรกฎาคม ให้กองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (เอสเอ็มแอล) กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในหมู่บ้านและชุมชนและกองทุนพัฒนาเมือง ยุติดำเนินการ แล้วให้นำเงินกองทุนเอสเอ็มแอลและกองทุนพัฒนาเมือง ไปใช้ในกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขณะเดียวกันให้คงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเอาไว้

 

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

กองทุนเอสเอ็มแอล เริ่มตั้งมาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นกองทุนที่มีลักษณะให้เงินลงไปกับชาวบ้าน คือให้ชาวบ้านทำโครงการต่างๆ ขึ้นมา โดยผ่านประชาคมหรืออะไรต่างๆ ชาวบ้านจะคิดกันเองเสนอโครงการ แล้วทางรัฐบาลจะให้เงินไปทำ จุดมุ่งหมายของโครงการคือ การให้ชาวบ้านได้มีโอกาสคิดเองปีแรกๆ ชาวบ้านอาจจะคิดได้ไม่ไกล เช่น นำเงินไปสร้างบ่อน้ำ สร้างโรงครัว ซึ่งไม่สามารถที่จะสร้างประโยชน์ในระยะยาวได้ แต่ยังคงมีเหตุผลหลักคือให้ชาวบ้านรู้จักคิด

พอปีที่ 2-3 ชาวบ้านสามารถที่จะคิดโครงการที่ซับซ้อนขึ้น มีผลในระยะยาวมากขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนรูปแบบของกองทุนนี้ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตอนนั้นมีการเปลี่ยนไม่ได้ให้ชาวบ้านเป็นผู้เสนอโครงการ แต่ให้กระทรวงมหาดไทย ว่ากันง่ายๆ คือ นายอำเภอเป็นผู้กำหนด พอกลับมายุคสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมาทำในรูปแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง

ทีนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เพราะว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มักจะมีอิทธิพลในการกำหนด มีผู้รับเหมาในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง กองทุนนี้เลยถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นในท้องถิ่นมาก ซึ่งแท้จริงแล้วในอีกมุมหนึ่ง ชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้จริงๆแล้วก็มีอยู่ ขึ้นอยู่ว่าจะมองในมุมไหน

หากมองในมุมของเศรษฐศาสตร์ เงิน 5,700 ล้านบาท ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะระดับหมู่บ้าน เงินที่ได้จริงๆ ก็อยู่เพียงหลักแสนเท่านั้น โครงการใหญ่สุดก็เพียง 3 แสน หรือ 5 แสนเท่านั้น จำนวนเงิน 5,700 ล้าน จึงไม่ได้เป็นเงินจำนวนที่มากอย่างที่คิด แทบจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น ต้องคิดว่าจำนวนเงินที่เสียนั้นคุ้มหรือไม่กับการให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ ได้คิดโครงการ ได้ตัดสินใจกันเอง

แต่ประเด็นสำคัญคือ หากยกเลิกกองทุนจำนวน 5,700 ล้านบาทตรงนี้ไป ไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่จะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวบ้าน หรือ หมู่บ้านต่างๆ ที่เคยได้รับงบประมาณตรงนี้หรือไม่ ต้องมีการพิจารณาให้ดี เพราะไม่อาจที่จะทราบได้

ส่วนการนำเงินงบประมาณจำนวนนี้ไปใช้ในกองทุน กยศ. ต้องดูว่ากองทุนนั้นขาดแคลนงบประมาณจริงหรือไม่ ถ้าไม่ขาดแคลนก็ควรพิจารณานำเงิน 5,700 ล้านไปใช้ในด้านอื่นจะเกิดผลมากกว่า

 

นที ขลิบทอง
ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.)

สทบ.เตรียมเสนอโครงการกองทุนหมู่บ้านให้ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนโครงการ หลังจากที่ คสช.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติต่อ โดยเบื้องต้นการจัดสรรเงินให้กับหมู่บ้าน ต้องผ่านการพิจารณาความเหมาะสมก่อน จะขอดูแผนงานและศักยภาพของกองทุนในหมู่บ้านนั้นๆ ว่ามีผลความสำเร็จมากเพียงใด

ส่วนการเพิ่มเงินทุนจากเดิมหรือไม่นั้น ก็ได้ให้หมู่บ้านนั้นๆ ส่งเอกสารยืนยันการขอรับการเพิ่มทุนมาที่ สทบ.เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินให้ แต่ครั้งนี้คงต้องมาทบทวนโครงการใหม่ตามความเหมาะสม และอาจต้องให้ยืนยันโครงการมาใหม่ ตอนนี้ทุกโครงการต้องเสนอให้บอร์ดกองทุน และ คสช.พิจารณาด้วยว่าจะเห็นชอบการจัดสรรเงินให้กองทุนหมู่บ้านในรูปแบบใด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อหมู่บ้านและงบประมาณที่จัดลงไปมากที่สุด

ที่ผ่านมามีหมู่บ้านที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินเพิ่มทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาลเหลืออยู่ประมาณ 30% จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 79,255 หมู่บ้าน เพราะไม่สามารถจัดประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อพิจารณาจัดสรรเงินให้กับหมู่บ้านที่เหลืออยู่ได้

ขณะเดียวกันตามข้อมูล สทบ.ล่าสุด ระบุว่า ได้โอนเงินให้หมู่บ้าน และชุมชนไปแล้ว 53,590 กองทุน เป็นเงิน 53,590 ล้านบาท คิดเป็น 67.62% คงเหลือที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรอีก 25,665 กองทุน แยกเป็น หมู่บ้านหรือชุมชนที่มีความพร้อมรับการจัดสรร 2,655 กองทุน หมู่บ้านหรือชุมชนที่ยื่นขอรับการจัดสรร 3,607 กองทุน อยู่ระหว่างตรวจสอบประเมินและหมู่บ้านหรือกองทุนที่ยังไม่ยื่นขอรับการสนับสนุน 19,403 กองทุน

สำหรับสถานะกองทุนหมู่บ้าน ณ วันที่ 23 มิถุนายน ก่อนปีงบประมาณ 2557 กองทุนมีงบประมาณสะสมคงเหลือรวม 26,543 ล้านบาท แยกเป็น งบบริหารจัดการ 806 ล้านบาท โครงการเพิ่มทุนกองทุน 25,737 ล้านบาท ช่วงปีงบประมาณ 2557 กองทุนได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อบริหารจัดการกองทุน 307 ล้านบาท และสุดท้ายเป็นเงินกองทุนสะสม คงเหลือทั้งสิ้น 34,183 ล้านบาท

 

นิพนธ์ พัวพงศกร
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การโยกย้ายเงินข้ามกองทุน ผมเข้าใจ ในสถานการณ์ ของ กยศ. ที่มีเงินไม่เพียงพอ ปัญหาของ กยศ.เป็นเรื่องใหญ่ คือการที่ ผู้กู้ไม่ชำระเงินคืน

นอกจากนี้ ระบบการบริหารจัดการของ กยศ.ยังไม่มีความโปร่งใสพอ คนข้างนอกไม่ค่อยมีสิทธิรับรู้การดำเนินงาน ซึ่งต้องจัดการเรื่องนี้ก่อน เพราะถ้าไม่จัดการตรงนี้ ในที่สุดจะโยกย้ายเงินอีกสักกี่ครั้ง กองทุนก็จะขาดทุนและเกิดเป็นปัญหาเรื้อรัง คิดว่าตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน

เงินตรงนี้เป็นเงินภาษีประชาชน ประเด็นใหญ่คือว่าต้องปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการให้โปร่งใส และค้นหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ นักศึกษาผู้ยืมเงินไป ชำระหนี้คืน กยศ.ให้ได้ คงต้องสังคายนากันยกใหญ่เลย ไม่อย่างนั้นเติมเงินอย่างไรก็ไม่เต็ม มีแต่รั่วไหล และสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับผู้กู้

กยศ.ให้อนาคต ให้โอกาส ให้อาชีพคุณ แต่เมื่อคุณสำเร็จการศึกษาแล้ว ดันกลับมาเบี้ยวประชาชน และเบี้ยวสังคม ด้วยการไม่คืนเงิน

เงินในการโยกย้ายจากกองทุนอื่นมาเติมแค่นี้ไม่กระทบเศรษฐกิจเท่าไหร่ แต่เรื่องใหญ่ คือการให้โอกาสคนที่ฐานะไม่ดี ได้เรียนหนังสือ ซึ่งการศึกษาที่ดีนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่หากคุณได้รับโอกาสทางการศึกษาและมีอาชีพ แต่กลับไม่นำเงินมาคืน กยศ. เด็กรุ่นหลังๆ จะไม่มีเงินเรียน เท่ากับไม่มีโอกาส และนับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร

 

กุสุมาลวตี ศิริโกมุท
อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย

การตัดเงินบำนาญ ส.ส. ของ คสช.ไม่ร้ายเท่ากับการยุติกองเอสเอ็มแอล ที่ให้ประชาชนนำเงินไปแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนในรูปแบบคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ผ่านมาเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่นน้ำท่วม ก็สามารถใช้กองทุนนี้บรรเทาปัญหาในเบื้องต้น หากรองบจากภาครัฐ จะช้าไม่ทันการณ์

การบริหารกองทุนมีระเบียบข้อบังคับชัดเจน ชาวบ้านควบคุมกันอยู่แล้ว บางหมู่บ้านนำเงินนี้มาหมุนเวียนตั้งสหกรณ์สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างมาก การที่คสช.ตัดงบประมาณดังกล่าวอยากถามว่ามาถูกทางแล้วหรือในการคืนความสุขให้ประชาชน

ส่วนตัวมองว่าเป็นการทำร้ายประชาชนมากกว่า ถามประชาชนหรือยังสิ่งที่เขาเคยได้รับจากรัฐบาลที่ฟังความเห็นและความต้องการเขา จนออกมาเป็นนโยบายที่ตรงจุด มันสำคัญน้อยกว่าการจัดซื้อจัดหามากเลยใช่หรือไม่ หาก คสช.ตัดงบทางกลาโหมมาเพิ่มกองทุนให้ชาวบ้านจะดูดีกว่าตัดงบกองทุนของชาวบ้านไปจัดซื้อจัดหาหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้ทบทวนด้วย

ในส่วนของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่มีการโอนย้ายไปอยู่ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมากองทุนนี้ทำให้ผู้หญิงสามารถดูแลภาคสังคมชุมชนตนเอง เด็กผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเงินกองทุนนี้ได้

หากใจกว้างต้องการข้อมูล ยินดีจะไปชี้แจงเพราะอยู่ในพื้นที่กับประชาชนมาตลอด คิดว่าเงินนี้มีประโยชน์กับประชาชนมาก ขอให้ คสช.คืนความสุขให้ประชาชนโดยคืนเงินกองทุนให้ประชาชนด้วย

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 31 กรกฎาคม 2557