ฐานเศรษฐกิจรายงาน: ทีดีอาร์ไอแนะ รัฐ-เอกชน-ครัวเรือนปรับตัว

ปี2014-09-30

เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาทางวิชาการ “การยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของไทย : มุมมองและข้อเสนอแนะเชิงสถาบัน” โดยนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวค่อนข้างสูง (จีดีพี) ในระยะกว่าครึ่งศตวรรษจีดีพีขยายตัว 6.2% ไทยเป็น 1ใน 13 ประเทศที่จีดีพีขยายตัวได้มหัศจรรย์ของโลกยุคหลังสงครามโลก แต่ความผันผวนมากขึ้นระยะหลังทำให้การขยายตัวระยะปานกลางเหลือ 4% และเกิดปรากฏการณ์ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap : MIT) ซึ่งรวมไทยอยู่ด้วย จึงเป็นที่มาของการศึกษาแนวทางการเติบโตจีดีพีที่จะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางภายใต้ธรรมาภิบาล

 

คอร์รัปชันฉุดการเติบโต ศก.

ขณะที่นายพรเทพ เบญญาอภิกุล และ นายธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า จากผลการศึกษาในอดีตหลายรายพบว่า การคอร์รัปชันมีผลต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคอร์รัปชันได้ส่งผลกระทบผ่านบทบาทที่ผิดเพี้ยนของรัฐทั้งภาษีรั่วไหล, ขนาดของรัฐที่เล็กลงผ่านการใช้จ่ายที่เลือกผู้ชนะการประมูลโครงการภาครัฐไม่ได้ดีที่สุดเพราะขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ติดสินบนเก่งที่สุด, การลงทุนภาครัฐแพงขึ้น กรณีประเทศไทยคอร์รัปชันมีการกระจายตัว (จากเรื่องร้องเรียนและเรื่องที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดปี 2551-2553) และขนาดของความเสียหายต่องบประมาณ

เหล่านี้ส่งให้รัฐกลับมาเพิ่มกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อต่อคอร์รัปชันและจัดสรรบุคลากรเพื่อตอบสนองการเพิ่มขึ้นของคอร์รัปชันจึงเกิดการเติบโตที่ไม่เท่าเทียม ความเชื่อถือลดลง เหล่านี้ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการลงทุน, ความมั่นคงทางการเมืองและปริมาณโครงสร้างพื้นฐาน

ด้านนายจิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ทีดีอาร์ไอกล่าวว่า เมื่อประเทศไทยมีประชากรเป็นผู้สูงอายุผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคใน 3 ด้านคือ ขาดแคลนแรงงานบนสมมติฐานที่ไม่สามารถนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ, อัตราการออมลดลงตามประชากรวัยทำงานที่ลดและส่งผลต่อการลงทุนอาจทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ในทางวิชาการให้ความสนใจใน 2 ประเด็นคือ การพัฒนาทางเทคโนโลยีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในสังคมผู้สูงอายุ กับ การขยายช่วงเวลาการทำงานของแรงงานอายุ 50-59 ปี ซึ่งวิธีที่จะรับมือสังคมผู้สูงอายุจึงต้องเชื่อมโยงกันใน 3 เรื่องคือ 1.สนับสนุนให้คนทำงานมากขึ้น 2.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในแง่ของการศึกษาหรือพัฒนาเทคโนโลยี และ3.ส่งเสริมการออม

 

ปรับโครงสร้าง ศก. ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

สอดคล้องกับนายนณริฎ พิศลยบุตร ทีดีอาร์ไอกล่าวยอมรับว่า การขยายช่วงอายุการทำงานของแรงงานอายุ 50-89 ปีนั้นช่วยได้ แต่อยากให้เน้นว่า ปัญหาสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะของภาครัฐอย่างเดียว โดยในส่วนของภาคครัวเรือนหรือผู้บริโภคก็ต้องคิดเรื่องการออมการทำงานและภาคเอกชนเริ่มคิดเรื่องการจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างแรงงานในอนาคต

กรณีจีดีพีของไทยที่ขยายตัวปีละ 3-4% นั้นต้องใช้เวลา 21 ปีจึงหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งการเติบโตระดับต่ำเป็นผลจากไทยไม่มีจุดแข็งที่ชัดเจนในการจะผลักดันการเติบโตของจีดีพี ทั้งนี้ ในทางวิชาการประเทศที่ก้าวผ่านประเทศที่มีรายได้ปานกลางนั้นคือประเทศที่สามารถก้าวข้ามจากประเทศที่มีรายได้หลักจากเกษตรกรรม เปลี่ยนถ่ายไปยังอุตสาหกรรมและบริการในที่สุด ประเทศเหล่านี้จะต้องมีจุดเด่นในการพัฒนา 2 ด้าน คือการใช้ทรัพยากรและแรงงานเข้มข้นในการพัฒนาประเทศ หรือการใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นเป็นหลัก ซึ่งไทยอยู่ตรงกลางไม่มีจุดเด่นในทั้ง 2 ด้าน โดยไทยนั้นมีทรัพยากรจำกัด ไม่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีเพียงพอ และไม่มีทุนสนับสนุน ซึ่งประเทศที่มีลักษณะเดียวกับไทย คือ ประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศที่สามารถก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางได้นั้น ต่างมีจุดเด่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เน้นเทคโนโลยี และการบริการ ด้านประเทศเกาหลีใต้ก็ใช้วิธีการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้ง 2 ประเทศต่างมีจุดเด่นที่แน่นอน แต่ประเทศไทยเมื่อปี 2543-2548 มีจุดเด่นด้านเทเลคอม ต่อมาอีก 5 ปีไทยมีจุดเด่นเรื่องการบริการ และการรับจ้างผลิตสินค้าเทคโนโลยี และในอีก 10 ปีข้างหน้ายังไม่ทราบว่าไทยจะมีจุดเด่นด้านใด นั่นแสดงให้เห็นว่าไทยไม่มีจุดเด่นที่แท้จริง และขาดการพัฒนาคุณภาพการผลิต โดยไทยยังเน้นผลิตสินค้าที่มีผลิตภาพต่ำอย่างการขายยางพาราหรือสินค้าเกษตรที่ไม่เพิ่มมูลค่าเพิ่ม

“ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และติดอยู่ในสถานะที่เรียกว่า ทางสามแพร่ง นั่นก็หมายความว่า ไทยจะเติบโตก้าวข้ามภาวะรายได้ปานกลาง ทรงตัว หรือถดถอยได้ เพราะไทยยังไม่มีตัวผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีซึ่งเรื่องนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง ซึ่งหากไทยจะเติบโตในระดับ 4% ต่อปี จะต้องใช้เวลา 21ปี ในการก้าวข้ามประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง โดยจะก้าวข้ามสถานะไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2571”

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในคำนิยามของธนาคารโลกนั้น ประเทศที่จะหลุดพ้นรายได้ปานกลางจะต้องมีรายได้ 12,616 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี โดยสภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะหลุดพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางได้ในอีก 15 ปีข้างหน้า หากการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับ 6% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ตามแผนไทยจะเป็นประเทศรายได้ระดับสูงนั้น จะเป็นช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 12 ช่วงดังกล่าวจะมีความท้าทายอย่างมากในเรื่องแรงงานในประเทศที่จะมีจำนวนลดลง และมีข้อจำกัดในการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน โดยสิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพราะไม่ว่าในอนาคตไทยจะเน้นการเติบโตจากส่วนไหนก็ตาม เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดัน รวมถึงการเพิ่มงบประมาณในการค้นคว้าและวิจัย อีกทั้งต้องเพิ่มการลงทุนภาครัฐบาลให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน

“ที่ผ่านมาไทยเติบโตได้ดีมาตลอด มีรายได้ที่ดี แต่ไทยเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้รายได้ปรับตัวลดลงไปเยอะมาก และต้องใช้เวลาถึงกว่า 10 ปีที่จะกลับมาที่เดิมซึ่งเท่ากับว่าเราย่ำอยู่กับที่มา 10 ปี ทำให้ไทยมีรายได้ตามหลังประเทศมาเลเซีย รวมถึงยังมีประเทศจีนอีกที่มีแนวโน้มจะก้าวข้ามประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้”

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2557