ศก.ดิจิทัล-บทบาท “ไอซีที” พลิกฟื้นรัฐวิสาหกิจ-ปลดล็อกคลื่น

ปี2015-10-15

ในจังหวะที่ประมูล 4G ใกล้เข้ามา พร้อม ๆกับการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล, การพลิกฟื้นรัฐวิสาหกิจ และบทบาทกระทรวงไอซีที ก่อนจะเป็นกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้สันทัดกรณีในแวดวงโทรคมนาคมไทย หลากหลายแง่มุมดังนี้

10-19-2015 4-37-29 PM
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
  • กรณียื้อคลื่นสัมปทาน

รัฐไม่ควรไปมองภาพย่อยว่าต้องให้รัฐวิสาหกิจอยู่รอดเป็นโจทย์เบอร์หนึ่ง คือเป็นเป้าหมายหนึ่ง แต่ไม่ใช่ลำดับแรก และไม่ใช่แก้ด้วยการยกทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สิทธิ์ผูกขาด เพราะจะรอดได้เฉพาะหน้าแล้วก็ไปไม่รอด ทั้งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าได้คลื่นมาก็เอาไปปล่อยต่อไปแปลงเป็นสัมปทานแปลก ๆ โจทย์ที่ต้องทำพร้อมกันคือทำอย่างไรให้ดิจิทัลอีโคโนมี (DE) เกิดขึ้นได้จริง ๆ

  • ไม่มีใครยอมปล่อย ?

รัฐบาลต้องฟันธง เมื่อตกลงไม่ได้ก็ไม่ต้องไปไหน รัฐวิสาหกิจแต่ละรายยังมีคลื่นในมืออีกหลายย่าน ไม่ได้มีแค่ 900 1800 MHz ความอยู่รอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าต้องมีคลื่นใหม่ ๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคลื่นที่มีอยู่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ดูไปดูมาเอาคลื่นคืนแล้วค่อยให้เงินชดเชยยังคุ้มกว่า

  • ให้รัฐใช้อำนาจพิเศษดึงคลื่นให้ ?

วิธีการออกคำสั่งด้วยอำนาจรัฐ ไม่เหมือนการใช้กลไกตลาด เพราะไม่ได้รับประกันว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ การประมูลคือการจัดสรรด้วยกลไกตลาดและทำให้เกิดกำไรมาแบ่งกัน แล้วค่อยเอาเงินก้อนนี้ไปช่วยรัฐวิสาหกิจประคองกิจการ

  • บทบาทรัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมนี้

ผู้บริหารต้องกำหนดว่าจะให้ตนเองมีทิศทาง และอยู่รอดอย่างไร ก็ทำแผน แล้วเสนอไอเดียกับรัฐบาล ถ้าคิดแผนไม่ได้ก็แสดงว่าทำธุรกิจไม่ได้แล้ว รัฐก็หาเงินมาชดเชยเพื่อเออร์ลี่รีไทร์

  • ยุบเลยง่ายกว่า ?

ต้องทำองค์กรให้เล็กกะทัดรัดลงจะได้หาพันธมิตรมาร่วมทุนได้ มันก็มีทางไปอยู่ เพราะยังมีแอสเซตที่มีมูลค่าเหลืออยู่เยอะ หาพันธมิตรมาช่วยทำ

  • ปมสัมปทานเก่าค้างอยู่

ปัญหานี้ควรรีเซตแล้วจบได้แล้ว เห็นแล้วว่าช่วงเยียวยาที่ประกาศกันไป สุดท้ายรัฐไม่ได้อะไร ทรัพยากรก็ใช้ไม่คุ้ม ความน่าเชื่อถือของรัฐก็จะหายไป กลายเป็นว่าประเทศนี้มีสัญญากันอยู่ก็จริง แก้ไปแล้วสุดท้ายก็ยกเลิกไม่ใช้ก็ได้ จะส่งสัญญาณผิด ๆ ในหลายเรื่อง

  • บทบาทกระทรวงไอซีทีจากนี้

ต้องเป็นแกนหลักขับเคลื่อนส่วนภาครัฐ แต่เอกชนยังนำหน้าผลักดันให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้รัฐและเอกชนเห็นว่าไอทีใช้จะเพิ่มประสิทธิภาพสร้างกำไรได้มหาศาล ซึ่งจะทำได้ไอซีทีต้องกะทัดรัดและมีประสิทธิภาพ ถ้าทำได้จะพลิกโฉมประเทศเป็นคุณูปการมาก ไม่ใช่มุ่งไปที่การ “คลีนอดีต” ที่ผ่านมาแต่ละรัฐมนตรีหลายคนพยายามทำแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมันยากซับซ้อน ฝ่ายที่ได้เสียต่างไม่ยอม การจะให้ทำเสร็จภายใน 2 ปียาก และจะดึงพลังของรัฐมนตรีไปหมดไม่ได้ทำเรื่องใหญ่ ๆ ที่ควรทำ

  • กฎหมาย DE

หลัก ๆ คือ เรื่องส่งเสริมอุตสาหกรรม ตัวหลักคือ พ.ร.บ. กสทช. ตรงนี้ต้องใส่เรื่องธรรมาภิบาลเข้าไปให้ได้ ส่วนคณะกรรมการ DE มีก็ได้ แต่ต้องไม่เข้ามาครอบการทำงานของ กสทช. เพราะจะกลายเป็นการเมืองเข้ามาครอบ

โครงสร้างการกำกับในแทบทุกอุตสาหกรรมเวลานี้ คือ ต้องแบ่งให้ชัดว่า เป็นระดับนโยบาย ระดับการกำกับดูแล และระดับโอเปอเรชั่น ไม่ข้ามชั้นกัน ไม่อย่างนั้นรัฐบาลจะเข้าไปวุ่นมั่วไปหมด รัฐบาลให้นโยบายมาแล้วมอบให้กระทรวง ให้ กสทช.ทำต่อ

กฎหมายก่อนนี้ทิ้งระยะห่างมากเกินไป ส่วนร่าง DE ล่าสุดพยายามเข้ามาใกล้เกินไปจนดูน่าหวาดเสียวว่าจะเข้ามาแทรกแซงได้ตลอด นี่คือโอกาสของประเทศที่จะรื้อใหม่ทั้งเรื่อง กสทช. และโครงสร้างกระทรวงหน่วยงานต่าง ๆ ขอให้โฟกัสที่ธรรมาภิบาลอย่าสร้างระบบราชการที่ใหญ่โตแล้วสุดท้ายไม่ฟังก์ชั่น

  • ปัญหารัฐวิสาหกิจ-หน่วยงานรัฐคือคน

ใช่ หากคนไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้นอย่าทำให้รัฐให้ใหญ่แล้วกลายเป็นขวางคนอื่น คือเข้าใจว่าบางครั้งก็เอาคนออกไม่ได้ แต่ก็อย่าไปเอาคนมาเพิ่ม

  • แนวทางปฏิรูปจะปลดกับดักประเทศได้

มนุษย์มีเจตจำนงเสรี สมมุติขึ้นบันไดไปแล้ว 20 ขั้น พบว่ามันไม่ใช่ก็ไม่จำเป็นต้องไปต่อ เดินลงได้ ทุกจุดยังตัดสินใจใหม่ดีกว่าถลำลึก ส่วนจุดที่ถูกที่เหมาะสมก็อย่างที่พูดไปแล้ว

อย่างกรณีซูเปอร์โฮลดิ้งแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ ผมเห็นด้วยว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้เพราะจะมีคนกลั่นกรองจริง ๆ และกระทรวงต้นสังกัดจะเข้ามาแทรกแซงเหมือนก่อนไม่ได้ ทุกอย่างจะเป็นโปรเฟสชั่นนอล ไม่มีโครงการประหลาด ๆ โผล่มา แต่มีจุดเสี่ยงต้องกันไม่ให้แทรกแซงได้ยกยวงผ่านซูเปอร์โฮลดิ้ง

  • แก้รัฐวิสาหกิจได้ แก้ปัญหาประเทศได้ ?

คงสรุปไม่ได้ระดับนั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นจุดเล็ก ๆ แต่เป็นกลไกภาครัฐสำคัญ มีหลายนโยบายของรัฐบาลนี้ที่ต้องให้เครดิต อย่างการให้ธปท.เข้าไปกำกับธนาคารเฉพาะทาง การตั้งซูเปอร์โฮลดิ้ง ถ้าทำสำเร็จก็พัฒนากลายเป็นระดับเทมาเส็กได้ แต่เรื่อง DE ขอให้สานต่อให้ดี เพราะมาตรการหลาย ๆ อย่างไม่ถูกทาง

  • การให้ความสำคัญกับความมั่นคง

ความมั่นคงไม่ได้มีมิติแค่การควบคุม ในบริบทของเทคโนโลยี การบังคับอย่างเดียวอาจไม่ได้ประสิทธิผล อย่างไอเดียซิงเกิลเกตเวย์ ถ้าไปบังคับก็มีเทคโนโลยีที่ทำให้ปิดกั้นไม่ได้ ถ้ายังเอามาใช้จะเกิดความเสี่ยง คือ คนใช้งานทั่วไปที่ไม่ใช่เป้าหมายการควบคุมจะรู้สึกว่า เน็ตช้า เพราะทางเข้าออกจำกัด และเสี่ยงที่ระบบจะล่มพร้อมกันกลายเป็นความไม่มั่นคง

ส่วนคนร้ายก็ยังทำได้เหมือนเดิมแค่ยากขึ้น ฉะนั้นรัฐบาลต้องตระหนักว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการควบคุมมีข้อจำกัด อย่าใช้เกินข้อจำกัดนั้น และหวังว่าที่ได้ยินมาว่า มีความพยายามจะตั้งกระทรวงโฮมแลนด์ซีเคียวริตี้จะเป็นข่าวลือ ไม่อย่างนั้นภาพลักษณ์จะยิ่งแย่ลง สิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญมากกว่าการจะมีเลือกตั้งหรือไม่มีด้วยซ้ำ

  • สิ่งที่อยากฝาก กสทช.

อยากให้จัดประมูล 4G ให้โปร่งใส อย่าให้ฮั้วกันได้แบบจัดประมูล 2 คลื่น วันเดียวกัน ทำ 4G ดี ๆ คนก็ลืมเรื่องเก่าได้ ตอนนี้ กสทช.ทั้ง 2 ฝั่งที่ทำน้อย คือการกำกับดูแล ที่ทำมาก คือการออกใบอนุญาต คือแจกไปก่อนแล้วมาตายเอาดาบหน้า เอาการประมูลเป็นหลักชัยจึงมีปัญหาเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคิดไว้ไม่ทันหรือมีความไม่แน่นอนของนโยบายทำให้คนรู้สึกว่าไม่ว่าจะมี 3G/4G ผู้บริโภคก็ไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีขึ้น

  • กสทช.ยุ่งกับกลไกตลาดมากไป ?

ทางวิชาการบอกว่า ถ้าตลาดทำงานเองไม่ได้ องค์กรกำกับต้องเข้าไปช่วย แต่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นต้องฟังความเห็นคนเยอะ ๆ ต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลง และตัดสินใจอย่างโปร่งใส ที่ผ่านมากลไกการมีส่วนร่วม เป็นแค่พิธีกรรม และเมื่อก่อนมีกลไก regulatory impact assessment แต่ยกเลิกไปแล้ว ทั้งที่จะช่วยได้เยอะในการทบทวนว่า กฎกติกาที่ออกมาเชยล้าสมัยหรือยัง

  • ถ้าสิ้นปีไม่มีการประมูลคลื่นใหม่ ?

ถ้าประกาศเป็นนโยบายแล้วเกิดไม่ได้ ประเทศเสียโอกาส เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพไม่มีการนำมาใช้ โลกทุกวันนี้ต่อให้เราอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรก็คือถอยหลัง

———————

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ตุลาคม 2558 ในชื่อ ศก.ดิจิทัล-บทบาท “ไอซีที” รีเซตรัฐวิสาหกิจ-ปลดล็อกคลื่น