ทำความรู้จัก SIB พันธบัตรน้องใหม่ช่วยพัฒนา SMEs ไทย

ขนิษฐา ปะกินำหัง

SIB (Social Impact Bond) คือ การลงทุนของภาคเอกชนในพันธบัตร เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจกรรมพัฒนาสังคมแทนกิจการเชิงพาณิชย์ที่เราคุ้นเคย โดยรัฐบาลผูกพันที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ลงทุน เมื่อกิจกรรมหรือโครงการถูกประเมินว่าสำเร็จตามเป้าหมาย

แนวคิด SIB เป็นเรื่องใหม่เกิดขึ้นมาได้ประมาณ 6-7 ปี เป็นที่รู้จักในหลายชื่อ เช่น “Social Benefit Bond” “Social Bond” “Pay for Success Bond” เป็นต้น SIB เกิดขึ้นครั้งแรก ในปี 2553 ที่สหราชอาณาจักร ภายใต้โครงการ the Peterborough ของเอกชน เป็นโครงการฟื้นฟูความประพฤติผู้พ้นโทษ เช่น การ ฝึกอาชีพ การจัดหางาน และการรักษา พยาบาล เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนจะได้รับ ผลตอบแทนจากการลงทุนก็ต่อเมื่ออัตราการกลับเข้าเรือนจำหรือการทำผิดซ้ำของนักโทษลดลงได้ตามเป้า

แนวคิดนี้ถูกนำไปพัฒนาและปรับใช้ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี และสหรัฐ ในหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนาเยาวชน การศึกษา การดูแลคนไร้บ้าน และการฟื้นฟูสุขภาพ ปัจจุบันมี SIB เกิดขึ้นทั่วโลก แล้วประมาณ 60 โครงการ ใน 15 ประเทศ

เสน่ห์ของ SIB อยู่ที่เอกชนเป็น ผู้ลงทุนในการจัดหาบริการเพื่อสังคมแทนภาครัฐ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นสถานการณ์ “วิน-วิน” หรือที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ รัฐได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากการที่ไม่ต้องลงทุนในการจัดหาบริการสังคมดังกล่าว ไม่ต้องรับผิดชอบหากการดำเนินการ ล้มเหลวหรือไม่เป็นไปตามเป้า สำหรับ ภาคเอกชน อาจต้องรับภาระทั้งต้นทุนและความเสี่ยง หากแต่ว่าโครงการ SIB เป็นแนวคิดในการพัฒนาสังคมที่แปลกใหม่ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี มีผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีจิตอาสาที่มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้บรรลุความสำเร็จแล้ว โครงการ SIB จะเป็นประโยชน์มากกว่าการใช้เงินในการทำ CSR หรือในการบริจาคการกุศลที่ไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

โดยทั่วไปแล้ว นอกจากผู้ลงทุนจะพร้อมซื้อพันธบัตรและรัฐพร้อมจะให้ค่าตอบแทนตามผลงานแล้ว โครงการ SIB จำเป็นต้องมี องค์กรตัวกลาง (Intermediary) ทำหน้าที่ บริหารจัดการเงินกองทุน และมีผู้ให้บริการทางสังคม (Social service provider) รับผิดชอบจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ที่เมื่อ ดำเนินการจัดกิจกรรมและได้รับการประเมินว่า ประสบความสำเร็จตามที่ตกลงกันไว้ ภาครัฐ ก็จะจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินต้นพร้อม ผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ศึกษากรณีการลงทุนในพันธบัตรเพื่อพัฒนาผลิตภาพ SMEs เนื่องจาก SMEs ถือเป็นฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจ มีสัดส่วนมากกว่า 90% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด และยังเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ อีกด้วย จากการศึกษาพบว่า ในปัจจุบันยังไม่มี ประเทศใดดำเนินการ SIB ในกิจกรรม ส่งเสริม SMEs อย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับ ในสาขาอื่นๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา

ทั้งนี้อาจเพราะเห็นว่า การส่งเสริม SMEs เป็นภารกิจของภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าประเด็นทางสังคม อย่างไรก็ดี การศึกษาพบว่า ภาคเอกชนมีโครงการส่งเสริม SMEs ที่อาจนำมาต่อยอดเป็น SIB ได้

เช่น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ซึ่งช่วยให้คำปรึกษาและ ฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับช่องทางและวิธีการเพิ่มรายได้จากการทำนา และมีเป้าชัดเจนว่า จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อไร่ หรือโครงการหนึ่งบริษัท ดูแล 1 ชุมชน และโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์

ส่วนองค์กรเอกชนอื่น ๆ ทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีกิจกรรมฝึกอบรมและพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ และการรับรองสถานภาพของ SMEs ในการพิจารณาสินเชื่อหรือ ได้รับสิทธิส่งเสริม (Certification) โครงการเหล่านี้สะท้อนว่า ภาคเอกชนมีศักยภาพ ในการเป็น Social service provider

อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรม ส่งเสริม SMEs ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ผ่านมายังขาดการติดตามประเมินผล ความสำเร็จโครงการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งหากสามารถพัฒนาระบบการประเมินผลที่ดี ก็มีโอกาสที่จะต่อยอดไปเป็น SIB ได้

ในขั้นต้น ภาครัฐอาจสร้างแรงจูงใจให้ ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในกิจกรรมส่งเสริม SME โดยผูกพันที่จะให้การชดเชยค่าดำเนินการขั้นต่ำก่อน เพื่อจำกัดความเสี่ยงของเอกชน และหากโครงการสำเร็จตามเป้าที่กำหนดร่วมกันไว้จึงจะจ่ายเงินเพิ่ม (Incentive pay)

รูปแบบดังกล่าวเป็นการ “จ้างเอกชน” บริหารจัดการกิจกรรมส่งเสริม SMEs ภายใต้ระบบการจ่ายตามผลงาน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ เนื่องจากภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัดหรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมีจุดแข็งที่สำคัญ คือ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจ “รู้จัก” “คุ้นเคย” และ “รู้ความต้องการของ SMEs” ในพื้นที่มากกว่าหน่วยงานส่วนกลาง ของภาครัฐ หากแต่ยังขาดงบประมาณ ในการดำเนินการ

ในระยะกลางเมื่อมีตัวอย่างโครงการที่ ประสบความสำเร็จชัดเจน ภาคเอกชนสามารถ ประเมินความเสี่ยงได้แม่นยำ เช่น หากหอการค้าไทยมีการจัดเก็บสถิติที่บ่งบอก ได้ว่าเกษตรกรสามารถทำรายได้ไร่ละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท หลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมมีจำนวนและสัดส่วนเท่าไรของเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด เป็นไปตามเป้าหรือไม่ จะสามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะลงทุน ในโครงการดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขการให้ค่าตอบแทนตามที่รัฐเสนอให้หรือไม่

ต่อมาในระยะยาวสามารถพัฒนาเป็น SIB ได้ โดยมีการระดมทุนในรูปแบบของพันธบัตรเพื่อนำเงินมาขยายโครงการ ดังกล่าว โดยมีหน่วยงานทำหน้าที่เป็นองค์กร ตัวกลางเข้ามาบริหารจัดการเงินกองทุนที่ระดมมาได้

SIB เพื่อพัฒนาผลิตภาพ SMEs นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ และเหมาะนำมาปรับใช้ในสังคมไทย เพราะภาครัฐ จะได้ประโยชน์จากการประหยัดงบประมาณ กำลังคน ในการจัดทำโครงการต่างๆ ด้านผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทน ผู้ให้บริการทางสังคมก็มีแหล่งเงินทุน และผู้ประกอบการ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ หากทุกฝ่ายร่วมกันทำอย่างมุ่งมั่นย่อมประสบความสำเร็จซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 13 กรกฎาคม 2560