ปราบ 6 ผีขี้โกง เชื่อมโยงยุติคอร์รัปชันในสังคมไทย

รู้จัก 6 ผีขี้โกง จากพฤติกรรมโกงที่เราอาจไม่รู้ตัว ผ่านงานศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม


ความเข้าใจเรื่อง “ผีขี้โกง” ทีมจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ ถอดบทเรียนมาจาก บทสัมภาษณ์ของ ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง (CBEE) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากหนังสือ “สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์ บวก ลบ คูณ หาย ในสังคมไทย” ซึ่ง ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ให้คำสัมภาษณ์ไว้ดังนี้

“วิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีทฤษฎีหนึ่งชื่อว่าทฤษฎี Self-Concept (อัตมโนทัศน์) คือ แต่ละคนจะมีมาตรฐานของความดีอยู่ค่าหนึ่งในใจ ถ้าทำความเลวเกินไป จะรู้สึกผิด ก็จะไปทำความดีชดเชย หรือถ้าวันนี้ทำความดีมากๆ จะรู้สึกว่า ทำเลวนิดๆ หน่อยๆ คงไม่เป็นไร ซึ่งแต่ละคนจะมีค่ามาตรฐานนี้แตกต่างกันไป

กระบวนการคิดของคนมีสิ่งที่เรียกว่า Self-Concept Maintenance กล่าวคือ เมื่อไรก็ตามที่คนเราทำดีหรือเลวกว่าปกติ คนเราแต่ละคนจะมีกระบวนการรักษาระดับความรู้สึกที่มีต่อค่าความดีมาตรฐานของตนเอง เช่น เวลาที่คุณตัดสินใจจะโกง ระบบความคิดจะมีกระบวนการที่รักษาสมดุลของค่ามาตรฐานความดีของคุณเอง กระบวนการดังกล่าวจะมีอยู่สองช่วงคือ ก่อนโกง คุณคิดอะไร กับหลังโกง คุณคิดอะไร

ก่อนโกงมีสามอย่างที่จะทำให้คนตัดสินใจโกงได้ง่ายขึ้น หนึ่งคือ Ambiguity หรืออะไรที่ดูคลุมเครือ จะทำให้คนรู้สึกผิดน้อยลงในการโกง เช่น ถ้ากฎระเบียบเขียนว่าสามารถเบิกค่าเดินทางได้ตามความเหมาะสม ซึ่งไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจน คุณอาจจะเบิกค่าโรงแรมราคาแพง เพราะรู้สึกว่าโรงแรมที่เกรดสูงๆ มีความเหมาะสมกับตัวคุณ และคุณก็ไม่ได้รู้สึกผิด ทั้งนี้มาจากข้อกำหนดมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่าอะไรคือผิดหรือถูก

อย่างที่สองคือ Self-Serving หมายความว่า เมื่อต้องการจะโกง ก็รู้สึกว่าโกงแค่นิดหน่อยเอง หรือทำแล้ว ไม่ได้ทำร้ายใคร เช่น ถ้าคุณเรียกรับเงินสินบนจากบริษัทขนาดใหญ่ที่คุณก็คิดว่าเค้าได้กำไรเยอะแล้ว ไม่เป็นไรหรอก หรือการโกงงบประมาณที่มาจากภาษีอากร ซึ่งคุณก็อาจรู้สึกว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน คุณจะรู้สึกผิดน้อยลง

อย่างที่สามคือ Moral Licensing เรื่องนี้คนไทยชัดมาก ตัวอย่างเช่น คนจำนวนมากที่คิดจะโกง จะนึกถึงความดีที่ตนเองทำมาก่อนหน้า เช่น ปกติเราไม่ได้ทำแบบนี้ เราไปทำบุญที่วัดบ่อยๆ เราช่วยเหลือคนอื่นมามากแล้ว เราก็น่าจะได้รับอะไรกลับมาบ้าง นั่นคือ การทำความดีที่ผ่านมาให้ใบอนุญาตในการทำความเลวแถมมาในความรู้สึกด้วย

ขณะที่ช่วงเวลาหลังโกง คนเราสามารถธำรงรักษา Self-Concept ได้สามวิธี หนึ่งคือวิธีที่เรียกว่า Moral Cleansing ก็คือการล้างความไม่ดีออกจากหัวของคุณ กรณีนี้ก็คล้ายๆ กับ Moral Licensing คือเมื่อคุณโกงมาแล้ว คุณก็ล้างความรู้สึกไม่ดีด้วยอะไรบางอย่าง เช่น ไปบริจาคเงินหรือไปช่วยเหลือผู้อื่น การทำบุญจึงเพื่อล้างหรือชดเชยความรู้สึกผิดในใจ (แน่นอนว่าเงินทำบุญต้องมีมูลค่าน้อยกว่าสิ่งที่โกงมา)

อย่างที่สองคือ Confess หรือการสารภาพ เมื่อสารภาพ ความรู้สึกของคุณก็จะกลับสู่ที่เดิม ถ้าคุณทำผิดอีก คุณก็สารภาพอีก ในตะวันตกจะมีการพูดถึงเรื่องนี้มาก

สามคือ Distancing คือความรู้สึกที่ว่าใครๆ ก็ทำกัน ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็ไม่ได้แตกต่างไปจากที่คนอื่นๆ ทำ เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็จะสบายใจ ทั้งๆ ที่ไปทำความผิดมา

กล่าวโดยสรุปคือ ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คนเราจะมี Self-Concept ในระดับหนึ่ง แม้ว่าแต่ละคนจะมีระดับที่ไม่เท่ากัน โดยทางจิตวิทยาแล้ว Self-Concept ของแต่ละคนจะก่อตัวขึ้นในช่วงก่อนอายุ 7 ขวบ กล่าวคือ มันขึ้นอยู่กับว่าที่บ้านสอนมาอย่างไร เช่น ถ้าถามว่าคนไทยกลัวอะไรบ้าง กลัวตำรวจ กลัวจิ้งจก กลัวตุ๊กแก กลัวผี เพราะตอนเด็กๆ พ่อแม่บอกว่าอย่าร้องไห้นะ เดี๋ยวตำรวจมาจับ เดี๋ยวจิ้งจก ตุ๊กแกมากินตับ เดี๋ยวผีหลอก

เรื่องนี้เชื่อมโยงกับการสั่งสมหรือให้ความสำคัญกับคุณธรรมในจิตใจของคนในสังคมไทยด้วย เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับคำสอนในวัยเด็ก การสำรวจค่านิยมเคยตั้งคำถามว่า ถ้าคุณมีลูก คุณธรรมสำคัญที่สุดสามข้อที่คุณจะสอนลูกคืออะไร สำหรับพ่อแม่คนไทยจะสอนสิ่งสำคัญสามอย่าง หนึ่ง ต้องกตัญญูรู้คุณ สอง ต้องเรียนหนังสือให้สูงๆ ต้องเรียนเก่งๆ และสาม ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่

ขณะที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ค่านิยมสำคัญสามข้อที่พวกเขาจะสอนลูกก็คือ หนึ่ง ต้องเคารพสิทธิสาธารณะ สอง ต้องเคารพผู้อื่น รับฟังความเห็นของผู้อื่น และสาม ต้องดูแลรักษาชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ ซึ่งสิ่งที่สังคมไทยสอนมันมีความเป็นเรื่องครอบครัวมากกว่าเรื่องสาธารณะอย่างชัดเจน

เมื่อคนไทยสอนลูกแบบนี้ สังคมไทยจึงให้คุณค่ากับคนในครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งการที่เราให้คุณค่ากับสิ่งนี้มากๆ มันก็ทำให้เราทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนในครอบครัวของเราอยู่รอด แม้ว่าเขาจะทำผิด ซึ่งมันแปลว่าความไว้ใจของเรามีอยู่เฉพาะในคนกลุ่มนี้ คนอื่นที่อยู่นอกวง คนที่เราไม่รู้จัก เราก็กีดกันเขาออกไปจากวงชีวิตของเรา เมื่อวิธีคิดเป็นแบบนี้ เราจึงเป็นคนหนึ่งที่ทำให้การคอร์รัปชันดำรงอยู่ในระบบพวกพ้อง”

นอกจากนี้ หนังสือ “สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์ บวก ลบ คูณ หาย ในสังคมไทย” ยังได้นำกรอบแนวคิดสมการคอร์รัปชั่นของ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเพื่อทำเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันในบริบทของสังคมไทย พร้อมทั้งชวนหาวิธีแก้โจทย์เพื่อต่อสู้กับคอร์รัปชันในไทยได้อย่างยั่งยืน ผ่านบทสัมภาษณ์จากนักวิชาการ สื่อมวลชน และนักเคลื่อนไหวทางสังคม