คลื่น 1800 MHz ร้อนฉ่า อาจละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ปี2013-09-16

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ บอกว่า “กรณีคืนคลื่น 1800 MHz เป็นประเด็นสาธารณะ ไม่ใช่ประเด็นส่วนตัว…”

ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทาน ระบบที่มีหลายหน่วยงานรัฐ ให้เอกชนมาช่วยประกอบการ…แต่ว่าเงื่อนไขแต่ละหน่วยงานไม่เหมือนกัน การมีสัญญาสัมปทานจึงทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

“เรากำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใบอนุญาต เช่น การประมูลใบอนุญาต 3G ซึ่งมี กสทช.เป็นหน่วยงานเดียวในการออกใบอนุญาต เงื่อนไขผู้ประกอบการแต่ละรายก็จะเหมือนกัน ซึ่งจะแตกต่างจากระบบสัมปทาน”

กฎหมายที่เขียนไว้ ผู้รับสัมปทานต้องเอาคลื่นความถี่ที่ใช้ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ เอามาคืนให้ กสทช. เพื่อให้ กสทช.เอาคลื่นนั้นไปจัดสรรใหม่ด้วยการประมูล…แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นก็คือว่า สัญญาสัมปทาน 2 สัญญาก็คือ สัญญาของทรูมูฟ กับ ดีพีซี กำลังจะหมดลงใน วันที่ 15 กันยายน 2556

“ทรูมูฟฯ มีลูกค้าประมาณ 18 ล้านราย ขณะที่ดีพีซีเล็กหน่อยมีประมาณ 9 หมื่นคน…ปัญหาใหญ่คือลูกค้าจะทำกันอย่างไร”…คลื่น 1800 MHz เป็นคลื่นที่ให้บริการในระบบ 2G และ 4G แน่นอนว่าถ้ายังไม่คืนคลื่นมาสัมปทานใหม่ ระบบ 4G ก็จะยังเกิดไม่ได้ หรือเกิดได้ช้า

ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกันบ้าง นับตั้งแต่ กสทช.ถูกตั้งขึ้นในปลายปี 2554 แต่พอเริ่มทำงานถึงเดือนเมษายนของปี 2555 คือปีที่แล้ว ก็มีการประกาศแผนแม่บทบอกว่า “จะต้องคืนคลื่น เมื่อถึงเวลาหมดอายุสัมปทาน” ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมาย

“กสทช.บางท่านยังให้สัมภาษณ์ว่าจะต้องคืนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ เพื่อเอาไปประมูลเพื่อใช้บริการในระบบ 4G…หลังจากนั้นก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเตรียมความพร้อม ทำการศึกษา นำเสนอข้อเสนอต่อ กสทช.”

ดร.สมเกียรติ บอกอีกว่า แต่เมื่อนำเสนอไปไม่นานถึงเดือนมีนาคม 2556 กสทช.ก็บอกว่าไม่สามารถเอาคลื่นความถี่นี้ไปประมูลได้ทัน กระทั่งมีมติตามมาว่า จะมีการขยายบริการต่อไปตามสัญญาสัมปทาน พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือให้ยืดการให้บริการต่อไป

แม้จะไม่ได้บอกตรงๆว่า “ยืดอายุการให้บริการ” โดยใช้คำว่า “เยียวยาผู้ใช้บริการ”…ก็ตามที เพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการต้องเดือดร้อนออกไปเป็นเวลา 1 ปี แต่ในความเป็นจริง ถ้าทำตามอนุกรรมการที่ได้ศึกษามาตั้งแต่แรก ปัญหาต่างๆนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะปัญหาเหล่านั้นจะถูกป้องกันไป

คณะอนุกรรมการฯได้แนะนำให้ กสทช.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการได้ทราบว่าสัญญาสัมปทานกำลังจะหมด ลูกค้าจะได้ค่อยๆทยอยกันย้ายไปใช้ผู้ให้บริการใหม่ แล้วขณะเดียวกันก็ให้ กสทช.เตรียมการประมูลคลื่น 1800 MHz ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะหมดอายุ

เมื่อมีการประมูลใหม่จะได้มีการโอนย้ายกันได้ราบรื่นมากขึ้น และมีการเสนอว่าให้มีการโอนย้ายผู้ใช้บริการขนานใหญ่ ซึ่งหมายถึงว่า โอนย้ายได้ครั้งละมากๆเป็นแสนรายในแต่ละวัน ไม่ใช่แค่หลักพัน…หลักหมื่นราย…แล้วก็มาถึงการประมูลคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาต ผู้ที่ได้คลื่นความถี่ไปประกอบกิจการใหม่

ปัญหาสำคัญ…กสทช.ได้ทราบเรื่องนี้มาแล้ว กว่า 420 วัน นับตั้งแต่ประกาศแผนแม่บท มาจนถึงวันที่มีมติฯ คำถามมีว่า ระยะเวลาขนาดนี้ไม่พอเชียวหรือที่จะเตรียมการ ที่จะบอกว่า…“ทำไม่ทัน”

ปัญหาทำไม่ทันแก้ด้วยการเยียวยาเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้เน้นตัวหนาเอาไว้ให้เห็นกันชัดๆ ดร.สมเกียรติ สะท้อนความเห็นจากนักกฎหมายที่สำคัญที่กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า…

คณะอนุกรรมการกฎหมาย ของ กสทช. เอง เคยให้ความเห็นกรณีที่คล้ายๆกันไว้ กรณีคลื่น 800 เมกะเฮิร์ตซ บอกไว้ว่า “ไม่สามารถขยายเวลาการใช้คลื่นได้ ถ้าหมดอายุสัมปทาน…หมดแล้วต้องหมดเลย”

ถัดมา…นักวิชาการไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน เช่น อาจารย์จันทจิรา เอี่ยมมยุรา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็บอกว่า “หลังสิ้นสุดสัมปทานต้องเอาคลื่นไปประมูลใหม่” ขณะที่ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็บอกว่า “…หาก กสทช.ทำแบบนี้ ก็เท่ากับว่าใช้วิธีการไม่ชอบด้วยกฎหมายในการแก้ไขปัญหา โดยอ้างผู้บริโภค…นั่นก็คือ ไม่มีอำนาจในการทำนั่นเอง”

สุดท้ายเป็นความเห็นจากอาจารย์ กิตติศักดิ์ ปรกติ ที่ว่า “จริงหรือที่ กสทช.ประมูลไม่ทัน ถ้าทำแบบนี้ต่อไป กสทช.อาจจะถูกฟ้องมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ได้…”

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติขยายเวลาการใช้คลื่น 1800 MHz ของ True Move และ DPC ออกไป 1 ปี โดยไม่นำคลื่นมาประมูล และได้ฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการและสื่อมวลชน ที่ตรวจสอบ ทักท้วง หรือรายงานการดำเนินการดังกล่าว แม้ว่าการฟ้องร้องจะเป็นสิทธิที่ กทค.สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เห็นว่า ก่อนจะดำเนินการ กทค. ควรตอบคำถาม 10 ข้อต่อไปนี้ต่อสาธารณะ ซึ่งรวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการที่อาจได้รับผลกระทบและประชาชนผู้เสียภาษีเสียก่อน

ข้อ 1. ตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ท่านไม่ทราบหรือว่า สัมปทานของ True Move และ DPC จะหมดอายุภายในเดือนกันยายน 2556

ข้อ 2. ท่านไม่ทราบหรือว่า แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. ที่ท่านมีส่วนร่วมจัดทำออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2555 กำหนดให้คืนคลื่นเมื่อสัมปทานหมดอายุ

ข้อ 3. ท่านไม่ทราบหรือว่า กฎหมาย กสทช. ห้ามต่ออายุสัมปทาน และให้จัดสรรคลื่นโทรคมนาคมด้วยการประมูลเท่านั้น

ข้อ 4. ท่านไม่ทราบหรือว่า อนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เคยให้ความเห็นในกรณีที่คล้ายกัน (กรณีคลื่น 800 MHz) ว่า ไม่สามารถขยายเวลาการใช้คลื่นได้

และ…นักวิชาการด้านกฎหมายจำนวนมากก็แสดงความเห็นในลักษณะเดียวกัน

ข้อ 5. ท่านเคยขอความเห็นจากหน่วยงานด้านกฎหมายภายนอก เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือแม้กระทั่งอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เอง ก่อนมีมติต่อเวลาการใช้คลื่นหรือไม่ หรือท่านเข้าใจไปเองว่าสามารถทำได้

ข้อ 6. ท่านได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ปี 2555 หรือไม่ ว่าสัมปทานดังกล่าวจะหมดอายุลง

ข้อ 7. ท่านได้ห้ามทรูมูฟและดีพีซีขายบริการเกินอายุสัมปทาน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่

ข้อ 8. ท่านได้เร่งดำเนินการให้ผู้ใช้บริการจำนวนมากสามารถโอนย้ายข้ามเครือข่าย (mass number portability) เพื่อลดปัญหาผู้ใช้บริการติดค้างอยู่ในโครงข่ายสัมปทานที่จะหมดอายุหรือไม่

ข้อ 9. ท่านได้เร่งจ้างที่ปรึกษาเพื่อตีราคาคลื่นและออกแบบการประมูลคลื่น 1800 MHz หรือไม่ ก่อนที่จะอ้างว่าประมูลคลื่นไม่ทัน

ข้อ 10. เวลากว่า 420 วัน นับตั้งแต่ประกาศแผนแม่บทฯ จนถึงวันที่ท่านมีมติขยายเวลาการใช้คลื่น ยังไม่เพียงพออีกหรือในการแก้ปัญหา หากท่านปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่ กทค. เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน หวังว่าจะตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา และจะดีอย่างยิ่งหากเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถซักถามข้อเท็จจริง ให้ข้อคิดเห็นได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกฟ้องร้อง…แม้ว่าความเห็นดังกล่าวจะไม่เป็นที่ถูกใจ

นี่คือ…คลื่น 1800 MHz ประเด็นร้อนฉ่า…สมบัติชาติ ที่หมายถึงอนาคต 4G ประเทศไทย.


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 16 กันยายน 2556 ในชื่อ คลื่น1800MHzร้อนฉ่า อาจละเว้นปฏิบัติหน้าที่