โมเดลใหม่การพัฒนา: ยกระดับการศึกษาเพื่อเติมเต็มศักยภาพของมนุษย์

ปี2013-11-15

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ทีดีอาร์ไอห่วงประสิทธิภาพแรงงานไทยตามไม่ท้นการเติบโตของประเทศ กระทบเป็นห่วงโซ่ ผลพวงจากการปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ยังต้องแก้ไข เสนอโมเดลใหม่การพัฒนา ต้องยกระดับการศึกษาเติมเต็มส่วนขาด และการพัฒนาอาชีวศึกษาให้เป็นทางเลือกที่จริง ด้วยข้อเสนอ 4 สร้าง ฟังรายละเอียดทั้งหมดได้ในงานสัมมนาวิชาการทีดีอาร์ไอประจำปี 2556 ในวันที่ 18 พ.ย.นี้

บนเส้นทางสู่ “เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้” ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ยั่งยืน มีนวัตกรรม และนำพาชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกทุกระดับในสังคม  การศึกษาจึงไม่ควรเป็นแค่ “เครื่องมือ” ของการพัฒนา “แรงงาน” ในฐานะปัจจัยการผลิต เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณ แต่การศึกษาควรมีคุณค่าความหมายในตัวเอง เป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง และเป็นไปเพื่อพัฒนา “มนุษย์” แต่ละคน ซึ่งต่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง อีกทั้งมีความปรารถนาในการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย

โจทย์หลักของการศึกษาจึงมิใช่การตอบสนองต่อตลาดแรงงาน “อย่าง” ไร้คุณภาพ หรือตอบสนองต่อตลาดแรงงาน “ที่” ไร้คุณภาพ  ในทางตรงกันข้าม การศึกษาควรมีพันธกิจในการพัฒนา “ผลิตภาพ” ของมนุษย์ ด้วยการส่งเสริมให้มนุษย์แต่ละคนสามารถพัฒนาและบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนในทางที่ตนเลือก

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบการศึกษาของไทยมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ใช้ทรัพยากรมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ โดยในช่วงปี 2546-2556 งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นจาก 1.6 แสนล้านบาทเป็น 4.6 แสนล้านบาท แต่ในทางตรงกันข้าม ผลคะแนนการทดสอบมาตรฐานของนักเรียนไทยในระดับนานาชาติกลับมีแนวโน้มต่ำลง โดยเฉพาะผลการสอบ TIMSS 2011 ในช่วงปี 2538-2554 ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์ลดลงถึง 95 คะแนน และวิชาวิทยาศาสตร์ลดลงถึง 74 คะแนน และมีนักเรียนไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ 60 ที่มีผลการสอบ TIMSS 2011 ต่ำกว่าระดับขั้นพื้นฐานในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามลำดับ ซึ่งหมายความว่านักเรียนยังมีทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ไม่เพียงพอต่อการแก้โจทย์ปัญหาในวิชาและในชีวิตประจำวัน

เมื่อพิจารณาระบบการศึกษาไทยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ระบบการศึกษาไทยยังมีปัญหาด้านคุณภาพอยู่มาก ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีวศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายอาชีวศึกษาที่ยังไม่สามารถเป็นทางเลือกที่แท้จริงให้กับนักเรียนที่สนใจเรียนต่อในสายอาชีพ เช่นนี้แล้ว การพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาเพื่อสร้างทางเลือกคุณภาพที่หลากหลาย ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีวศึกษา จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและเร่งด่วนบนเส้นทางของการสร้างระบบการศึกษาเพื่อเติมเต็มศักยภาพของนักเรียน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนเลือกเรียนสายอาชีวะลดลง สัดส่วนนักเรียนสายอาชีวะระดับ ปวช. ต่อสายสามัญระดับมัธยมปลาย ลดลงจาก 40:60 ในปี 2551 เป็น 35:65 ในปี 2555 ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงน่าจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานอาชีวะมากขึ้น

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจึงตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนนักเรียนสามัญ/นักเรียนอาชีวะเป็น 49:51 ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการควรทำ ก็คือการยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้เรียนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรด้านงบประมาณและครู

ภายใต้กรอบแนวคิด “การศึกษาเพื่อเติมเต็มศักยภาพของนักเรียน” บทความเรื่อง “การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ” โดย ผศ. ปกป้อง จันวิทย์ และคุณศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เสนอว่าทิศทางของการปฏิรูปการศึกษาควรดำเนินไปตามแนวทาง “4 สร้าง” เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่สามารถเติมเต็มศักยภาพของนักเรียน ได้แก่

การสร้างคน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะขั้นพื้นฐานที่สามารถใช้ชีวิตได้ในสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่ และพร้อมที่จะเลือก “ทาง” ของตนได้อย่างมีคุณภาพ เช่น อ่านเป็น คิดเป็น รู้จักโลก รู้จักตัวเองและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต เป็นต้น

การสร้างทางเลือกคุณภาพ โดยการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างทางเลือกที่ดี มีคุณภาพ ให้นักเรียนได้เลือกอย่างหลากหลาย และเป็นระบบการศึกษาที่มีความรับผิดชอบ (accountability) ต่อนักเรียน

การสร้างระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ โดยการพัฒนาระบบข้อมูล ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบแนะแนวที่ดี เพื่อเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจเลือกอย่างมีคุณภาพของนักเรียน

การสร้างการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนตลอดกระบวนการเรียนรู้

แนวทาง “4 สร้าง” มีรายละเอียดอย่างไร และปัญหามากมายในระบบการศึกษาไทย ควรจะได้รับการสะสางแบบไหน ร่วมหาคำตอบได้ในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2556 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ นำเสนอผลการศึกษาหัวข้อ “การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ” (Human Capital Development for Better Productivity) โดย ผศ. ปกป้อง จันวิทย์ และคุณศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์

ทีดีอาร์ไอเชิญชวนผู้สนใจและประชาชนติดตามการเสนอผลงานศึกษาแบบเต็มๆ ผ่านการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ www.tdri.or.th  และร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟสบุ๊ก facebook: tdri.thailand หรือทวิตเตอร์ twitter: @tdri_thailand

 live broadcast