เมย์เดย์ไทยและ…ขบวนการที่เปลี่ยน

ปี2014-05-02

เมย์เดย์ หรือเรียกว่า วันแรงงานสากล หรือ วันแรงงาน ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี

ซึ่งหมายถึงการเฉลิมฉลองของแรงงาน เพื่อระลึกถึงการเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานเหลือแปดชั่วโมงต่อวัน เริ่มต้นขึ้นในออสเตรเลียในปี ค.ศ.1856 หลังจากชัยชนะของสโตนเมสัน

แนวคิดนี้ได้แพร่ขยายไปทั่วโลกขณะที่ประเทศไทยขบวนการแรงงานได้เข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูงในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับคนงาน ในรูปแบบของสหภาพแรงงาน และในอดีตเข้ามามีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูง โดยเฉพาะช่วงต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหาร

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกถึงที่มาของวันแรงงานและบทบาทของขบวนการแรงงานในประเทศไทยต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่า เนื่องในวันแรงงาน วันที่ 1 พฤษภาคม ประเด็นสำคัญคือเมื่อถือว่า วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญ ยังมีข้อถกเถียงที่สำคัญมากว่า Labour Day จะให้เรียกว่า วันกรรมกร หรือวันแรงงาน ซึ่งรัฐบาลต้องการเรียกว่า วันแรงงาน

เพราะฟังดูแล้วให้ความรู้สึกว่าอ่อนกว่าการที่เรียกว่า วันกรรมกร ถือว่าเป็นชัยชนะของรัฐบาลและผู้ที่ไม่ได้เป็นกรรมกร แต่คิดว่า คำว่าวันกรรมกรเหมาะสมกว่าคำว่าวันแรงงาน

พร้อมวิเคราะห์ถึงบทบาทของขบวนการแรงงานในประเทศว่าค่อนข้างอ่อนแอ รัฐบาล ผู้กุมอำนาจรัฐและนายจ้างพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลง ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2475 ขบวนการแรงงานถูกทำให้อ่อนแอมาตลอด

แต่เข้ามามีบทบาทในช่วง 14 ตุลาคม 2516 อยู่ในช่วงสั้นๆ เพราะมีการต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร บรรดาผู้ใช้แรงงานในเวลานั้น ออกมารวมตัวกันประท้วงจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกลูกจ้างโรงแรม เช่น โรงแรมดุสิตธานี จนได้รับการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ทำให้ฐานะของผู้ใช้แรงงานและรายได้ดีขึ้น ต่อมาก็ถูกปราบปรามและแทรกแซง โดยผู้กุมอำนาจรัฐและนายจ้างใช้หลักการแบ่งแยกและปกครอง ขบวนการแรงงานจึงอ่อนแอลง

“ขบวนการแรงงานถูกแบ่งแยกและแทรกแซง การเคลื่อนไหวสามารถทำได้ลำบาก การเมืองไทยมีบทบาทสำคัญมากในการแทรกแซง การเมืองในที่นี้หมายรวมถึงทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมือง ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองที่ลงเลือกตั้งเท่านั้น โดยเฉพาะพวกอำมาตย์” นายชาญวิทย์ระบุ

นายชาญวิทย์ให้ความเห็นถึงกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบางส่วนที่กำลังเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ว่า ผู้นำของสหภาพแรงงานบางคน คิดและมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำมาตย์ ไม่ใช่แรงงาน ฉะนั้นจึงเข้าข้างกลุ่มอำนาจเดิม บารมีเดิม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองหรือกลุ่มของตน แต่ไม่ใช่เพื่อคนส่วนใหญ่ในสหภาพแรงงาน

ขณะที่ นายโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า แรงงานไทยนั้นหลักๆ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ หนึ่งกลุ่มแรงงานมีฝีมือแต่รายได้น้อยมีจำนวนมาก อีกกลุ่มคือ กลุ่มบริษัทใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ ที่มีรายได้และผลตอบแทนค่อนข้างสูง

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มแรกคือไม่สามารถรวมตัวเรียกร้องอะไรได้มากเท่ากับกลุ่มที่สอง คือมีข้อต่อรองน้อยกว่า ไม่เหมือนกับในต่างประเทศ

พร้อมวิจารณ์ถึงบทบาทของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจในสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงว่ากลุ่มสหภาพแรงงานของไทยกลับแสดงบทบาทในการสนับสนุนขั้วการเมืองมากเกินไป ซึ่งผิดวัตถุประสงค์หลักของการรวมกลุ่ม เพราะวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มกันตั้งสหภาพหรือกลุ่มแรงงาน จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิกในกลุ่ม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของผู้นำกลุ่ม ที่ผู้นำกลุ่มใช้ประโยชน์จากสหภาพแรงงาน หรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นบันไดเพื่อก้าวเข้าสู่เวทีการเมือง

“บทบาทของกลุ่มแรงงานไม่ควรจะยึดติดกับขั้วการเมือง ทุกวันนี้กลุ่มผลประโยชน์ต้องการเป็นรัฐบาล ผู้นำกลุ่มแรงงานก็ต้องเข้ามามีพื้นที่ในทางการเมือง พยายามแสดงบทบาทต่างๆ ออกมา โดยไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของสมาชิก” นายโกวิทกล่าว

ส่วนนักวิชาการทางด้านแรงงานอย่าง นายแล ดิลกวิทยรัตน์ คณะศิลปศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นถึงสถานการณ์แรงงานในปีที่ผ่านมาว่า ภาพรวมรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอะไรที่มีนัยยะสำคัญ เนื่องจากมีสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจาก นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่เน้นนโยบายปราบปรามแรงงานต่างด้าว ทั้งที่ไทยยังคงถูกจับตามองจากสหรัฐ ว่าเป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์ในระดับ 2 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และต้องจัดการปัญหาโดยภาพรวม
มากกว่าการปราบปราม จับกุมเพียงอย่างเดียว

พร้อมวิเคราะห์ว่าการขาดแคลนแรงงานทำให้ไทยต้องแก้ปัญหาโดยการใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนแรงงานไทย แต่ติดขัดปัญหาความรวดเร็วในการดำเนินการของภาครัฐ ทั้งการตรวจพิสูจน์สัญชาติ การขอใบอนุญาตทำงาน การนำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านบันทึกข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) ทำให้นายจ้างได้แรงงานล่าช้า นายจ้างบางส่วนที่มีความต้องการแรงงานเร่งด่วนจึงหันไปพึ่งบริการจากนายหน้า ที่หักค่าหัวคิวจากแรงงานต่างด้าว ทำให้ถูกจับตามองว่าค้ามนุษย์

“ในระยะสั้น ไทยควรแก้ปัญหาเรื่องการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ระยะยาว รัฐต้องหาวิธีแก้ปัญหา อาจเป็นการฝึกแรงงาน หรือการนำเข้าเครื่องจักรทดแทนการใช้แรงงานส่วนที่ขาดโดยที่แรงงานเดิมไม่ถูกปลด” นายแลกล่าว

ด้าน นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ทำให้ความต้องการแรงงานลดถอยลง ส่งผลให้สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานไทยในระดับปริญญาตรีและระดับล่างดีขึ้น แต่ก็ยังมีการขาดแคลนแรงงานในระดับกลางหรือระดับกึ่งฝีมืออยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ช่างเทคนิคสาขาต่างๆ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก จาก 2 แสนกว่าคนเป็น 3 แสนกว่าคน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2555 จากร้อยละ 0.6 เป็นร้อยละ 0.8 แบ่งเป็นปริญญาตรีร้อยละ 20 ของจำนวนผู้ว่างงาน และระดับต่ำกว่ามัธยมต้น ร้อยละ 60

นายยงยุทธวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อแรงงานว่า หากเหตุการณ์บ้านเมืองจบลงได้ภายในไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 3 มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้เกือบจะถึง 3% แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีการลงทุนจากภาครัฐ อาจรวมไปถึงความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทยด้วย จะส่งผลทำให้สถานการณ์การว่างงานเพิ่มขึ้นและจะกระทบต่อนักศึกษาที่กำลังจะจบใหม่อีกด้วย

นี่คือทรรศนะที่มองถึงขบวนการแรงงานไทย และผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ

เป็นมุมมองที่ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของขบวนการแรงงานในขณะที่ประเทศไทยยังฉลองวันแรงงานแห่งชาติ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 พฤษภาคม 2557