จัดระเบียบรัฐวิสาหกิจ สะสาง ‘ขาดทุน-หนี้ท่วม’

ปี2014-07-16

หมายเหตุ – เป็นความเห็นและข้อเสนอในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ที่มีผลดำเนินงานขาดทุนและมีหนี้สะสมจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขและกลั่นกรองปัญหารัฐวิสาหกิจ ศึกษาแนวทางการแก้ไขโดยเร่งด่วน

พรายพล คุ้มทรัพย์

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คิดว่ามี 2-3 องค์กรที่ขาดทุนสะสมมากเป็นประจำ อย่างเช่นการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ต้องแก้เป็นจุดๆ เป็นเรื่องๆ ไป

การรถไฟฯ นอกจากขาดทุนแล้วประสิทธิ ภาพยังแย่มาก เราก็พบว่ามีการบริการที่แย่ ช้า ไม่ตรงเวลา รางก็เก่า สถานี คนก็เก่า

แต่คิดว่าการรถไฟน่าจะมีแผนปรับปรุง อยู่แล้ว คือหน่วยงานที่จะมาดูแล ลงทุนเรื่องรางและสถานี แยกออกมาจากการบริหารเรื่องการดำเนินรถซึ่งก็น่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

ในเรื่องของการเดินรถผมคิดว่าในที่สุดแล้ว ก็จำเป็นต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการขนส่ง เชื่อว่าเอกชนพร้อมเข้ามาร่วมอยู่แล้ว ถ้าเอกชนเข้ามาร่วม อย่างการเช่าราง เป็นต้น ผมคิดว่าประสิทธิภาพในการดำเนินการจะดีขึ้นแน่นอนที่สุดคือ ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เน้นในเรื่องของการขนส่งสินค้าเป็นสำคัญ เพราะชัดเจนแล้วว่า รถไฟทำเองไม่ไหว

องค์กรของรัฐต้องให้บริการสาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องการขาดทุนนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่ประสิทธิภาพต้องมีมากกว่านี้

วัฒนธรรมขององค์กรรัฐวิสาหกิจไทย ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ดูจะเป็นปัญหา อุปสรรคต่อการพัฒนา ทุกคนต้องยอมรับว่า เรื่องประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งเงินเดือนแต่ละคนไม่ใช่ต่ำๆ ฉะนั้น การบริหารงานต้องปฏิรูปจริงจังเน้นเรื่องประสิทธิภาพให้มากขึ้น โดยรวมแล้วกิจกรรม

และประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นได้ ต้องให้เอกชนเข้ามาร่วม เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ และการแข่งขัน ว่าเอกชนทำได้ระดับนี้นะ รัฐวิสาหกิจจะมัวแต่งมโข่งอยู่เหรอ ใช้เงินก็มาก ขาดทุนก็มากทุกแห่ง ต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมมากกว่านี้

อย่างการบินไทย ความจริงแล้วการมีสายการบินแห่งชาติ ดูจะเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว มีก็ดีแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นของรัฐ ที่ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ อาจจะต้องดูกันว่า ในท้ายที่สุด อาจจะต้องผ่องถ่ายให้เอกชน กันไปในระดับหนึ่ง เพราะปัจจุบันมีการแข่งขัน ของสายการบินกันเยอะ และรัฐวิสาหกิจ ดูจะไม่คล่องตัวในการดำเนินการแข่งขัน

 

นิพนธ์ พัวพงศกร

นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

แนวคิดเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตอนนี้ มีมากมายและค่อนข้างแรงมาก โดยที่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งมีความคิดสุดโต่งหรือชาตินิยมเห็นว่า รัฐวิสาหกิจต้องเป็นของรัฐเท่านั้น ความคิดอย่างนี้อันตรายมากกว่าให้เอกชนถือทั้งหมดเสียอีก เพราะตอนนี้มีแต่นักการเมืองเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ โดยที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง สามารถทำได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องรับผิดต่อประชาชน แต่ หารู้ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจทุกวันนี้เป็นการเปิดช่อง ให้เกิดการทุจริตโดยตรง และถูกใช้เป็น เครื่องมือในการหาเสียงอีกด้วย

กรณีการบินไทยที่นักการเมืองเข้าไปใช้อำนาจอิทธิพลในการจัดซื้อจัดจ้าง ถือว่าอันตรายมาก หากปล่อยให้รัฐวิสาหกิจตกอยู่ในมือของนักการเมือง จะไร้ซึ่งความรับผิดต่อผู้เสียภาษีคือประชาชน ผลประโยชน์ตกอยู่ที่พรรคพวกของนักการเมืองเอง

ถ้าเช่นนั้นจะต้องทำอย่างไร อะไรบ้าง กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไหน ขอเสนอดังนี้

1.”ขายทิ้ง” สำหรับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพราะขาดทุนมหาศาล เป็นหนี้หลายหมื่นล้านบาท อาจจะเฉียดๆ แสนล้านบาทด้วยซ้ำ ถามว่ายุบแล้วคนจนจะทำอย่างไร จะมีบ้านอยู่อย่างไร ก็อยากเสนอว่าให้ กคช.เป็นเพียงหน่วยงานช่วยเหลือในการกู้ยืมซื้อบ้าน หรือเช่าบ้านให้กับคนจน แต่ไม่ต้องไปสร้างบ้านให้อยู่ ซึ่งในต่างประเทศก็ทำลักษณะนี้เช่นกัน ให้เลิกการสร้างบ้านและการซื้อขายที่ดิน เพราะตรงจุดนี้จะเป็นการเปิดช่องให้ทุจริต แต่ให้เหลือบทบาทเดียวคือ การช่วยเหลือคนจนให้ได้มีสิทธิในการซื้อหรือเช่ากับเอกชนเท่านั้น

เช่นเดียวกับการบินไทย ที่ควรจะขายให้เอกชนไปดำเนินการ แต่ต้องไม่ใช่ในลักษณะผูกขาด ตอนนี้สายการบินไทยเป็นสายการบินเดียวที่มีต้นทุนสูงมาก เวลาที่มีรัฐบาลใหม่มาก็หวังจะเปลี่ยนใหม่ ซ่อมยกชุดมากมาย ทำให้ต้นทุนต่อผู้โดยสารสูงมากกว่าแอร์เอเชียเสียอีก

2.”ยุบเลย” ได้แก่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และองค์การสะพานปลา ควรยุบไปเลย เพราะไม่สามารถสู้กับเอกชนได้ และไม่ใช่บทบาทของรัฐที่จะทำแบบนี้แล้ว ทำแล้วขาดทุนรัฐก็ต้องเข้าไปอุดหนุน โดยใช้เงินภาษีประชาชน และยังเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดอีกด้วย แต่จะต้องมีมาตรการดูแลเยียวยาพนักงานที่ทำงานอยู่ด้วย

3.”ยุบแล้วแปลงสภาพเป็นหน่วยงานราชการ” คือการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้เปลี่ยนเป็น “กรมรถไฟ” คือให้มีสภาพเช่นเดียวกับกรมทางหลวง ทำงานเฉพาะในส่วนของการลงทุนทำรางหรือให้เช่าราง โดยให้เอกชนเดินรถให้หมด เช่นเดียวกับที่ กทม.ทำกับบีทีเอส ไม่เช่นนั้นก็จะขาดทุนแบบเดียวกับแอร์พอร์ตลิงก์

4.สำหรับทรัพยากรที่กระทบความมั่นคงโดยเฉพาะด้านพลังงาน แนะนำให้ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แต่ไม่ผูกขาด เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย ปตท. ส่วนระบบที่เกี่ยวข้องกับพลังงานต้องปฏิรูปทั้งหมด

5.ธนาคารของรัฐ ทั้งหมดจะต้องอยู่ ภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ห้ามรัฐบาลเข้ามายืมเงินของรัฐวิสาหกิจไปใช้ในโครงการของรัฐโดยไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งตรงนี้จะต้องไปแก้ในกฎหมายการเงินและการคลัง ธนาคารรัฐเหล่านี้แม้ จะมีบทบาทเฉพาะกิจในการพัฒนาประเทศ แต่รัฐบาลกลับนำไปใช้เพื่อดำเนินการ นโยบายทางการเมืองซึ่งไม่ตรงตามเจตนาเดิม ฉะนั้น จะต้องมีกฎหมายควบคุมการ ใช้จ่ายเงินจากธนาคารรัฐ โดยกำหนดว่า หากรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่แล้วจะดำเนินนโยบายใดให้ประกาศต่อรัฐสภาว่า จะใช้วงเงินทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าใดให้ชัดเจน ก่อนที่จะให้สภาอนุมัติเป็นรายปี โดยห้ามเพิ่มวงเงินเด็ดขาด เพื่อให้เกิดวินัยทางการเงินการคลังที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าต้องการจะได้เท่าไหร่ก็ไปควักไปยืม สุดท้ายก็ขาดทุนแล้วก็ต้องใช้ภาษีประชาชนอุดอีก กลายเป็นวงจรอุบาทว์เกิดขึ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมา จะต้องทำปฏิรูปเรื่องการแต่งตั้งบอร์ดและผู้บริหารด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก จะต้องปราศจากระบบพรรคพวก พวกพ้อง ไม่มีเส้นสาย การทำงานของผู้บริหารจะต้องมีการประเมินผลงานอย่างแท้จริง ซึ่งยอมรับว่าตรงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องงาน ต้องติดตามการทำงานของซุปเปอร์บอร์ดว่าจะคิดอย่างไร เราจะปล่อยให้นักการเมือง ผู้บริหารหน่วยงาน ร่วมกันกินโต๊ะประชาชนอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ ก็ต้องมาช่วยกันปฏิรูปสิ่งเหล่านี้ให้ได้

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดทำบทวิเคราะห์ผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง โดยจัดกลุ่มมีปัญหาต้องแก้ไขดังนี้

กลุ่มที่วิกฤตต้องเร่งแก้ไข มี 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ควรปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ควรวางแผนจัดการปัญหาภาระหนี้สินที่มีอยู่จำนวนมาก และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ทำให้การทำงานล่าช้า

3.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ควรควบคุม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น แต่ต้องไม่กระทบต่อประสิทธิภาพให้บริการและความปลอดภัยด้านการบิน รวมทั้งควรบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

4.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ แผนงานในการกำหนดบทบาท เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาดำเนินธุรกิจ

5.องค์การคลังสินค้า ควรดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ฐานะทางการเงินและทบทวนบทบาทปี 2555-2559 เร่ง บูรณาการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเออีซี

6.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ควรเร่งทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จภายในกำหนด ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นโดยด่วน

7.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ควรเร่งปรับปรุงกระบวนการปล่อยสินเชื่อ ให้เป็นตามมาตรฐาน ทั่วไปของสถาบันการเงิน

กลุ่มที่ต้องระมัดระวัง ควรต้องแก้ไขไปพร้อมกับกลุ่มวิกฤตมี 4 หน่วยงาน

1.องค์การตลาด ต้องเร่งทบทวนและปรับปรุงแผนรัฐวิสาหกิจและแผนดำเนินงานต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางให้ชัดเจน

2.การเคหะแห่งชาติ ควรเร่งดำเนินการตามแผน พลิกฟื้นองค์กรให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยเร็ว โดยเฉพาะแนวทางการสร้างรายได้ในอนาคต และโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่อยู่ระหว่างรอการขาย

3.การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ควรเร่งหาแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ทำให้การดำเนินการล่าช้า

4.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เร่งกำหนดบทบาทใหม่ให้เป็นเจ้าของโครงข่ายหลัก กำหนดกรอบแนวทางการลงทุนในอนาคตให้ชัดเจน และไม่ดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกับทีโอที และเร่งหารายได้จากธุรกิจใหม่ เพื่อทดแทนรายได้จากสัมปทาน

กลุ่มที่มีปัญหาบางเรื่อง มี 25 หน่วยงาน 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3.บริษัท ขนส่ง จำกัด 4.บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด 6.สถาบันการบินพลเรือน 7.การท่าเรือแห่งประเทศไทย 8.บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 9.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 10.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 11.องค์การสวนสัตว์ 12.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 13.องค์การ สะพานปลา 14.องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศ ไทย 15.องค์การจัดการน้ำเสีย 16.บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด 17.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 18.โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต 19.องค์การสุรา กรมสรรพสามิต 20.โรงพิมพ์ตำรวจ 21.บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด 22.การ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 23.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 24.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 25.องค์การเภสัชกรรม

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 กรกฎาคม 2557