นักวิจัยทีดีอาร์ไอ หนุนลงทุน “กิจการเพื่อสังคม” ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมอย่างคุ้มค่าและตรงจุด

ปี2016-04-25

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เผย คนไทยนิยมการบริจาคมากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ยังแก้ปัญหาสังคมได้ไม่ถูกจุด หวังรัฐแก้ปัญหาแบบเหมาเข่งไม่ได้ แนะให้ภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วม หนุนกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ยก 4 กิจการตัวอย่าง เติมเต็มศักยภาพภาครัฐแก้ปัญหาการศึกษา สุขภาพและพัฒนาผู้พิการ พร้อมชวนคนไทยหันมาลงทุนเพื่อสังคม ด้วยความเข้าใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น

จากสภาพการทำงานของรัฐราชการไทยที่แยกส่วน แต่เน้นการรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง ได้ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาของประเทศห่างไกลความสำเร็จออกไปทุกที เพื่อปฏิรูปบทบาทภาครัฐไทย ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องได้รับการกระจายอำนาจเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญาสังคมร่วมกัน ดังหนึ่งในข้อเสนอ “ให้สังคมช่วยลงทุน”  โดย ดร.บุญวรา สุมะโน และ ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ในงานสัมมนาวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประจำปี 2559  “การปฏิรูปภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนได้บริการที่ดี” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ โรงละคร อักษรา คิงเพาเวอร์

T_1287
ดร.บุญวรา สุมะโน และ ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

ผลการศึกษา พบว่า คนไทยมีศักยภาพและตื่นตัวด้านการลงทุนเพื่อสังคมค่อนข้างสูง  จากผลจัดอันดับ โดย Charities Aid Foundation ไทย เป็นอันดับ 2 ของโลกในแง่การบริจาคเงิน สอดคล้องกับ การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2557 พบ ครัวเรือนในประเทศไทยบริจาคเงินสูงถึง 75,760 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.58 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงกว่างบประมาณรายจ่ายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในปีเดียวกัน (10,324 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.41 ของ GDP)

หากสามารถบริหารจัดการเงินบริจาคที่ไหลเวียนอยู่ในประเทศไปยังจุดที่ต้องการและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนที่เกิดขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาสังคมและให้ผลตอบแทนสูงสุด อาทิ การบริจาคเงินแก่เครือข่ายอาสาสมัคร การทำธุรกิจที่สนับสนุนงานสังคม การตั้งกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) และกองทุนเฉพาะของเอกชน

ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร ยกตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมด้านการศึกษาที่ช่วยแก้ปัญหาในปัจจุบันได้อย่างตรงจุด คือ การมุ่งลดปัญหาเด็กนักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน โดย มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (Teach for Thailand) ที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพครูผ่านการอบรมหลักสูตรการเป็นผู้นำเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาและแบบอย่างที่ดี (role model) ในการดำเนินชีวิตแก่นักเรียน

รวมทั้ง บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงคุณภาพหลักสูตรการศึกษาโดยผลิตสื่อการสอนบนคอมพิวเตอร์ที่สนุกและเป็นไปตามระดับความเร็วในการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน

นอกจากนี้ ดร.บุญวรา สุมะโน ยังได้ยกตัวอย่าง กิจการเพื่อสังคมด้านสุขภาพที่น่าสนใจ คือ บริษัท วิสาหกิจสุขภาพชุมชน จำกัด (Social Health Enterprise : SHE) ซึ่งอบรมและจ้างงานอดีตนักโทษหญิงให้เป็นพนักงานกดจุดแก้โรค Office Syndrome อีกทั้ง บริษัท กล่องดินสอ จำกัด ที่ผลิตสื่อการเรียนให้คนพิการทางสายตา และจัดฝึกอบรมทักษะกราฟฟิกดีไซน์ให้แก่ผู้พิการทางหูพร้อมจัดหางานให้

ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า ในประเทศไทยยังมีกลุ่มกิจการเพื่อสังคมที่มุ่งหวังจะแก้ปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคมที่หลากหลาย ซึ่งภาครัฐไม่สามารถดูแลแก้ไขได้ทั่วถึง เช่น ด้านสวัสดิการสังคมที่รวมกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคมอย่าง คนพิการ คนติดยา ติดคุก หรือติดเชื้อเอชไอวี การให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นช่องว่างสำคัญสำหรับการลงทุนเพื่อสังคมในอนาคต

นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้เสนอแนวทางเพื่อให้การลงทุนเพื่อสังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเสนอให้ประเทศไทยวางระบบที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อสังคมอย่างแท้จริงโดยรัฐบาลอาจพิจารณาใช้มาตรการสนับสนุน เช่น การออกพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และให้ภาคสังคมควรร่วมกันสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ โดยจัดทำฐานข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่าใคร กำลังทำอะไร เพื่อแก้ไขปัญหาอะไร ด้วยวิธีอะไร เพื่อช่วยให้สมาชิกอื่นในสังคมทราบว่าหากต้องการแก้ไขปัญหาหนึ่งจะต้องติดต่อใคร และเป็นการช่วยชี้ช่องว่างว่าปัญหาใดยังขาดการลงทุนเพื่อสังคม

อีกทั้ง ผู้นิยมการบริจาค หรือนักลงทุนเพื่อสังคม ควรทำความเข้าใจสภาพที่แท้จริงของปัญหาที่ตนต้องการร่วมแก้ไข และติดตามว่าสิ่งที่ตนลงทุนไปนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างไร เพื่อช่วยปรับปรุงการทำงานหรือขยายผลกระทบดังกล่าวในการลงทุนเพื่อสังคมต่อไป