มองอนาคตรัฐวิสาหกิจไทย ทีดีอาร์ไอ-นักวิชาการ แนะสร้างความโปร่งใสเพื่อปฏิรูปให้เข้มแข็ง

ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยในงานเสวนาสาธารณะ “อนาคตรัฐวิสาหกิจไทยกับร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ” จัดโดยสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…. ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการวาระแรกแล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการและรับฟังความเห็นจากผู้ร่าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกฎหมายจะออกมาได้ภายในปีนี้หรือปีหน้าขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสนช. อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เข้มแข็ง และมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง และมีการแยกหน้าที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล และผู้เป็นเจ้าของอย่างชัดเจน มีการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจในภาพรวมเพื่อทำให้เกิดการบูรณาการ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ รวมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ขึ้นมากำกับดูแล ซึ่งการสรรหากรรมการจะระบุเงื่อนไขไว้ชัดเจน เป็นต้น

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประกาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

เล็งเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มแข่งขัน

“ในฐานะ ผอ.สคร.ไม่มีใครอยากทำให้รัฐวิสาหกิจแย่ มีแต่อยากพัฒนาให้ดีขึ้น และลดการแทรกแซงการเมือง การบริหารงานมีความโปร่งใส หากรัฐวิสาหกิจเปรียบเป็นม้า ที่ผ่านมาในอดีตทุกคนขึ้นขี่ม้า ใครขี่ได้ก่อนสั่งก่อน พอม้าเจ็บป่วย มาหากระทรวงการคลังเพื่อเอาภาษีประชาชนมาเพิ่มทุนจึงอยากจัดระบบใครจะสั่งการม้าต้องมีกติกา โปร่งใส ทั้งยังมีหน่วยงานที่กำกับอีกชั้น ซึ่งรัฐวิสาหกิจถือเป็นหน่วยงานสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ถ้าอยากเพิ่มการแข่งขันประเทศ หากเพิ่มสามารถรัฐวิสาหกิจได้จะสามารถเพิ่มขีดการแข่งขันได้มาก” ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประกาศ กล่าว

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่มีความอ่อนไหว คือการนำรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัททั้ง 11 บริษัท มาจัดตั้งเป็นบรรษัท ซึ่งมีความกังวลว่าจะมีการจัดตั้งเพื่อแปรรูปยืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่ได้อำนาจในการเพิ่มหรือลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังส่วน คนร.สามารถแสดงความคิดเห็นต่อการเพิ่ม-ลดสัดส่วนการถือหุ้น แต่การเพิ่ม-ลดสัดส่วนการถือหุ้นต้องเป็นไปตามกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ปัจจุบันการเพิ่มหรือลดสัดส่วนกระทรวงเจ้าสังกัดสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ หากอนุมัติก็ลดหรือเพิ่มได้ทันทีอยู่แล้ว ซึ่งรายละเอียดกฎหมายจริงจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ สนช. ส่วนความกังวลของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพรัฐวิสาหกิจและพนักงานแต่อย่างใดตราบใดที่ยังเป็นองค์การ หรือบริษัทนั้นยังเป็นรัฐวิสาหกิจ

อดีตรมว.คลังติงการเมืองแทรกแซง

นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายสมหมาย ภาษี กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจเละเทะทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา แต่ก็มีการพยายามปรับปรุงและปฏิรูป แต่เมื่อมีการเมืองมา พรรคการเมืองแย่งกระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจดี เพราะอะไรที่เป็นกฎเกณฑ์ระเบียบแหกได้หมดมาตะครุบของดีเข้ากระเป๋า ทั้งนี้ เมื่อวางคนจากกระทรวงการคลังเข้าไปนั่งคุมก็กลายเป็นพวกเดียวกันเพราะได้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นบริษัทเอกชนก็คอร์รัปชั่น มาก เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการมีธรรมาภิบาล ช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดแรก ได้ให้ความเห็นว่า การบริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยกำลังรัฐวิสาหกิจน่าจะมีศักยภาพมีรายได้เพิ่มขึ้น 35% หากนำเด็กฝากออกคาดว่าจะลดต้นทุนได้อีก 30% นายสมหมายกล่าวด้วยว่า เรื่องที่ต้องการตั้งบรรษัทมาเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเข้าใจดี เพราะมีความคิดกำกับตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ หรือรัฐบาลทักษิณแต่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่กฎหมายนี้เขียนมาตรา 45 ขอเรียกว่า เป็นซุปเปอร์มาตรา 45 ที่ให้บรรษัทที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่เป็นหน่วยราชการ ตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น จึงไม่มีกฎหมายไหนคุมได้

“การเป็นบรรษัทสามารถบริหารคล่องตัวมาก หากได้คนดีไม่แหกคอก แต่ผมไม่เชื่อนักการเมือง มีนายกรัฐมนตรีไทยกี่คนถูกยึดทรัพย์ ถูกไล่ไปต่างประเทศ เกือบครึ่งของนายกรัฐมนตรีไทยที่พัวพันกับเรื่องทุจริต คนร.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ข้าราชการตามตำแหน่งในคณะกรรมการชุดนี้ที่เป็นลูกน้องก็ต้องขยับตามนายอยู่แล้วแบบไม่ต้องสั่ง ดังนั้นจะให้ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นไปไม่ได้ ผมไม่ค้านเรื่องปฏิรูป ต้องทำ แต่หากปฏิรูปต้องทำให้ดี แม้ต้องเสียเวลาคิดไปอีกปียังดีกว่าทำอย่างนี้ ซึ่งผมยอมรับนายเอกนิติเก่ง แต่กระดูกอ่อนที่บอกว่ามี คนร.เป็นดับเบิลล็อก แต่ คนร.ประธานคือนายกรัฐมนตรี ผมบอกเลยนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองไว้ใจไม่ได้สักคน นอกจากคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ยังมีคณะกรรมการสรรหาอีก ทั้งหมดเป็นพวกนายกรัฐมนตรีหมด ที่ผ่านมานักการเมืองก็เข้ามาแทรกแซงการทำงานจนบ้านเมืองล้าหลังไปหมด” นายสมหมายกล่าว

จี้เปิดเผยข้อมูลร่างกม.

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ กล่าวว่า เห็นด้วยในแง่หลักการและเหตุผลที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังต้องติดตามว่าจะไปบรรลุถึงจุดที่ตั้งไว้หรือไม่ ซึ่งเรื่องที่กฎหมายนี้เน้นคือการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบ แต่ยังไม่เห็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการต่างๆ จึงอยากเพิ่มเติมเข้าไป เพราะกระบวนการของความโปร่งใสต้องมีความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเป็นลำดับแรก ส่วนการนำรัฐวิสาหกิจ 2 กลุ่มแยกออกจากกัน ส่วนที่ไม่ได้เป็นบริษัทกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะดำเนินการอะไร ขณะส่วนที่เป็นบริษัทไปจัดตั้งโฮลดิ้ง จำนวนนี้มีบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ดูแล การจัดตั้งโฮลดิ้งและมีผู้ควบคุมอาจจะมีข้อจำกัดหรือไม่ อย่างกรณีการซื้อขายหุ้นต้องอิงตามมติ ครม.หรือซื้อขายตามตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ กล่าวว่า เรื่องสำคัญจะทำอย่างไรให้การคัดเลือกว่าจะได้คณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นไม่มีการเมืองไม่แทรกแซง โดยตัวอย่างที่ต่างประเทศใช้กัน คือการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการ ต้องมีการระบุชัดเจน หรือการกำหนดให้บุคคลภายนอกมาเป็นผู้คัดเลือก เช่น ผู้ว่าการ ธปท. เลขาฯ กลต. ผอ.ไอโอดี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เป็นต้น เพราะหากเป็นคนที่เคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ในอดีตคนก็กังวลว่าจะมีความเกี่ยวพันทางการเมือง ทั้งนี้ แทนที่จะเขียนกฎหมายให้กรรมการควรมีคุณสมบัติอย่างไร ควรเขียนให้กฎหมายว่าทำอะไรไม่ได้ และควรเน้นกระบวนการตรวจสอบ เพราะกฎหมายไทยยังอ่อนในเรื่องนี้ นอกจากนี้เพื่อให้มีความโปร่งใสควรมีการให้องค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้สัญญาคุณธรรม ปัจจุบันทำอยู่ 40 โครงการสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ และควรมีการเปิดเผยรายละเอียดในรายโครงการของรัฐวิสาหกิจ ข้อมูลพวกนี้ต้องเปิดเผย การมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้บริหารและกรรมการ เช่น การมีผู้ส่วนได้เสียด้านการค้าขายกับรัฐวิสาหกิจ เรามี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ไม่มีการเปิดข้อมูลสัมปทาน ต้องเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้

รัฐวิสาหกิจระดมทุนช่วยประหยัดงบ

นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

นายบรรยง พงษ์พานิช กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติของชาติทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นปัญหาและพยายามหาแนวทางในการแก้ไข ส่วนการจัดตั้งบรรษัทเพื่อบริหารรัฐวิสาหกิจนั้น ในไทยมีความพยายามในหลายรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็มีการจัดตั้งเป็นบรรษัทเพื่อบริหารงาน เพราะเป็นการพิสูจน์เรื่องธรรมาภิบาลได้ ส่วนความกังวลกรณีการก่อหนี้ของบรรษัท กฎหมายให้อำนาจนี้ไว้ เพราะกระบวนการงบประมาณไม่ทัน และการกู้ได้แต่ขอบเขตที่ คนร.กำหนด ซึ่งการกู้ก็ถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องสำคัญคือกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งมีพื้นฐานบนการเปิดเผยข้อมูล ที่กฎหมายนี้ได้พยายามเขียนเอาไว้ รวมทั้งทำอย่างไรจะให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ

ส่วนกรณีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมาทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถระดมทุนได้กว่า 3.8 แสนล้านบาท ทั้ง ปตท. การบินไทย ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น ซึ่งช่วยบรรเทาภาระของงบประมาณประเทศได้ หากไม่มีการเข้าระดมทุนต่างๆ อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศช่วงที่ผ่านมาจะหายไปถึง 10%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศช่วงหนึ่งที่ผู้สัมมนาซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่ได้ร่วมกันยืนขึ้นพร้อมทั้งมีการโชว์ป้ายคัดค้านและให้ถอนร่างกฎหมายนี้ลง พร้อมทั้งร่วมกันพูดว่า ถอน ถอน ถอน แต่การสัมมนาถือว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีความรุนแรงแต่อย่างใด

เทปบันทึกเสียงการเสวนา และเอกสารประกอบ


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2560 ในชื่อ สคร.ยันไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เล็งเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มการแข่งขันประเทศ “สมหมาย”ติงการเมืองยังแทรกแซง