“เดือนเด่น” ชี้ ซีพีออลล์ซื้อแมคโคร ไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาด จับตาต่างชาติถอนตัว

ปี2013-05-02

matichon20130426วันที่ 26 เม.ย. ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง กรณีที่ ซีพีออลล์ เข้าไปซื้อกิจการของห้างแมคโคร กับ “มติชนทีวี” ว่า เรื่องนี้ จริงๆ แล้วต้องถามว่าทำไมต่างชาติหรือกลุ่มของเนเธอร์แลนด์ถอนตัวออกไปมากกว่า หรืออาจจะต้องหาใครมาถือหุ้นแทน และการที่ต่างชาติถอนตัวออกไป ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะความจำเป็นในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในยุโรป บริษัทแม่จึงต้องถอนตัวออกไป และเมื่อมีถอนตัวออกไป ก็ต้องมีคนมาเทคโอเวอร์ ซึ่งซีพีก็เป็นคู่ค้าตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คู่ค้าตั้งแต่การก่อตั้งและเป็นผู้จัดการมาตลอด จะมาเทคโอเวอร์ ดังนั้น การที่ซีพีออลล์ เอาทุนเข้าไปอุดตรงนั้นเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ และรู้สึกว่าจะมีข้อตกลงว่า ถ้าเกิดมีการขายหุ้นกันซีพีออลล์ ก็เป็นเจ้าแรก

เมื่อถามว่าจะเป็นการผูกขาดด้านการค้าปลีกหรือไม่ ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ถ้าเกิดผูกขาดก็ผูกขาดมานานแล้ว ถามว่าซีพี เอาทุนไปลงมากขึ้นทำให้ผูกขาดมากขึ้นหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ และเชื่อว่า เดิมกลุ่มซีพีเป็นผู้บริหารอยู่แล้ว โดยมีกลุ่มต่างชาติเป็นผู้ลงทุน และคิดว่าการบริหารจัดการคงอยู่ที่ซีพีเป็นหลัก เพราะซีพีมีความรู้เรื่องค้าปลีก แต่การที่ซีพี เป็นเจ้าของเต็มตัว อาจจะมีนัยยะสำคัญว่าการขยายกิจการ ขณะเดียวกัน ทิศทางของกิจการจะขึ้นอยู่กับซีพี ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับกลุ่มต่างประเทศแล้ว ดังนั้น ซีพีอาจจะมองว่า การเทคโอเวอร์ เพื่อต้องการขยายไปสู่อาเซียน เป็นเหมือนเรือธง ที่ซีพีจะใช้ในการล่องไปหาธุรกิจ อันนี้ มากกว่าที่ถือเป็นจุดเปลี่ยน เดิมผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติซึ่งอาจจะไม่มีเงินมาลงทุนก็ได้ เพราะธุรกิจเขาแย่ลง ในทางกลับกันซีพีต้องการเข้าขยายธุรกิจในประเทศไทย เพราะสภาพทางการเงินยังค่อนข้างดี ซีพีจึงสามารถจะขยายได้

“ตอนนี้เรามองได้ว่าแมคโครคือธุรกิจของซีพี และการดำเนินกิจการในอนาคตก็เป็นของซีพี เรื่องของการผูกขาดคิดว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะว่าการค้าแบบแมคโครยังไงก็ยังเป็นแบบแมคโครเหมือนเดิม แมคโครคงมีนโยบายประกอบธุรกิจไม่ต่างไปจากเดิม เพียงแต่เปลี่ยนผู้ถือหุ้นเท่านั้นเอง และเป็นการค้าส่ง ไม่ใช่การค้าปลีก ขณะเดียวกันการค้าปลีกในบ้านเราก็ไม่สามารถผูกขาดได้” ดร.เดือนเด่น กล่าว

ส่วนประเด็นว่าจะข่ายของผู้มีอำนาจเหนือตลาด หรือเอาส่วนแบ่งการตลาดและรายได้ของซีพีออลล์ไปบวกกับรายได้ของแมคโครนั้น ดร.เดือนเด่น มีความเห็นใน 2 ประเด็น คือ

1.กฎหมายแข่งขันการค้าของเราตอนนี้มีปัญหา คือไม่สามารถเอารายได้ของนิติบุคคล 2 คนมารวมกันได้ แม้จะเป็นเครือข่ายธุรกิจเดียวกัน เพราะนิยามของธุรกิจยังมองตัวนิติบุคคลแยกส่วนกัน ดังนั้นบริษัท 2 บริษัท ถึงจะเป็นเครือเดียวกัน ก็ไม่สามารถตีความว่าเป็นบริษัทเดียวกันได้ ฉะนั้น ไม่สามารถเอารายได้มารวมกันได้ แม้ในทางปฏิบัติเรารู้ว่าเป็นบริษัทเดียวกันก็ตาม แต่ทางกฎหมายทำไม่ได้ ซึ่งตอนนี้กระทรวงพาณิชย์ กำลังมีแนวคิดที่จะแก้กฎหมายในจุดนี้อยู่

2.ถึงจะรวมกันได้จริง ก็ยังไม่ควรมารวมกัน ถ้าตลาดมีอยู่ 4 เจ้า คือ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส แมคโคร เซเว่น อีเลฟเว่น เอารายได้ทั้งหมดมารวมกันแล้วหารออกมาเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ เกือบจะถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่า เกณฑ์มีอำนาจเหนือตลาดนั้น ต้องบอกว่า คิดว่าตลาดของแมคโคร เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี และเซเว่นอีเลฟเว่น ไม่เหมือนกันทั้ง 4 ตลาด หรืออยู่คนละตลาด

“ถามว่าถ้าเซเว่นอีเลฟเว่นปิด ท่านจะไปแมคโครแทนหรือไม่ หรือถ้าบิ๊กซีปิด ท่านจะไปซื้อสินค้าที่แมคโครหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ ฉะนั้น มารวมกันไม่ได้ เพราะแต่ละธุรกิจ ก็มีตลาดมีสินค้าของธุรกิจนั้น เพราะฉะนั้น เชื่อว่าเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นคนละตลาดกับแมคโคร และถ้าถามว่า บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส มีส่วนแบ่งการตลาดกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ตอบไม่ได้เช่นกัน เพราะต่างประเทศไม่มีใครเขาหากัน เพราะเขาคิดเป็นรายสินค้า เพราะในเมื่อบิ๊กซีขายทีวีจอแบน ที่อื่นๆ ก็มีขายเช่นกัน”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ 26 เมษายน 2556 ในชื่อ “เดือนเด่น” ชี้ ซีพีออลล์ซื้อแมคโคร ไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาด จับตาต่างชาติถอนตัว