‘ทีดีอาร์ไอ’ชี้รัฐบาลตกหลุมระบายข้าว

ปี2013-07-24
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ได้เชิญนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาของโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกก็คือเรื่องของการระบายข้าวในสต็อกที่มีอยู่มากกว่า 17 ล้านตัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดโดยจากการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ของทีดีอาร์ไอ ทำให้ทราบว่าค่าบริหารจัดการของโครงการรับจำนำข้าว เช่น ค่าสีแปรสภาพ ค่าเช่าโกดัง สูงมาก ทั้งนี้ภายใต้สมมติฐานว่ารัฐบาลจะสามารถระบายข้าวที่มีอยู่ในสต็อกหมดภายในปี 2559 จะต้องใช้เงินในการบริหารจัดการรวมกับเงินในโครงการรับจำนำอีกไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังจะหาวิธีระบายข้าวโดยการเพิ่มปริมาณการขายข้าวระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี แต่ในข้อเท็จจริงแล้วตัวเลขการขายข้าวแบบจีทูจีทั้งโลกมีปริมาณอยู่ที่ 3 – 4 ล้านตันต่อปีเท่านั้น และเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันทางด้านราคาสูง ซึ่งหากไทยจะขายข้าวจีทูจีแข่งกับเวียดนามและอินเดียก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากเนื่องจากทั้งสองประเทศราคาขายข้าวต่ำกว่าประเทศไทยเนื่องจากต้นทุนในการผลิตข้าวต่ำกว่าไทยมาก

นอกจากนั้นการขายข้าวแบบจีทูจีถือว่าเป็นตลาดที่ขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าท้องตลาดมาก เป็นการขายข้าวที่ยิ่งขายยิ่งขาดทุน เพราะในข้อเท็จจริงแล้วไม่มีประเทศไหนที่ต้องการซื้อข้าวคุณภาพสูงหรือข้าวที่มีราคาแพงไปแจกจ่ายช่วยเหลือพลเมืองที่ยากจนของตนเองดังนั้นตลาดจีทูจีจึงไม่ใช่ทางออกของการระบายข้าวในระยะยาวของไทย

“ปีนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่ารัฐจะขายข้าวจีทูจีได้เท่าไหร่ แต่ก็ลำบากมากเพราะจีทูจีเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ปีก่อนรัฐมนตรีฯ พาณิชย์บอกว่าขายข้าวจีทูจีให้ 6 ประเทศได้ 1.7 ล้านตัน แต่ตัวเลขการส่งออกข้าวที่ได้จากกรมศุลกากรที่มีการบันทึกการส่งออกข้าวทั้งปีซึ่งรวมของเอกชนด้วยมีปริมาณเพียง 8.86 แสนตันเท่านั้น ซึ่งตัวเลขต่างกับที่รัฐมนตรีฯ พาณิชย์บอกเกือบ 1 ล้านตัน ก็ต้องถามว่าทำไมถึงไม่เอาข้อมูลที่แท้จริงมาบอกกับสาธารณชน” นายนิพนธ์ กล่าว

“สิ่งที่ผมกังวลก็คือนอกจากเรื่องความเสียหายจากการขาดทุนก็คือการจำนำข้าวทุกเม็ดได้นำไปสู่การทำลายเศรษฐกิจข้าวไทยทั้งระบบ ในระบบการค้าก่อให้เกิดการผูกขาดจากผู้ค้าที่มีอยู่ 200 รายก็เหลือผู้ค้าเพียงไม่กี่รายที่จะได้ข้าวจากโกดังรัฐคือเป็นกลุ่มผู้ค้าที่สนิทสนมและรู้จักมีเส้นสายกับรัฐบาล ขณะที่ประชาชนก็ต้องซื้อข้าวจากนายหน้ารายใหญ่ที่ผูกขาดเท่านั้น ขณะที่คุณภาพข้าวไทยก็ตกต่ำลงจากการเร่งปลูกข้าวคุณภาพต่ำเพื่อเข้าสู่โครงการ ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกที่เกษตรกรของเราเร่งปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตแล้วรัฐบาลเอาข้าวมาเก็บไว้ให้เน่าในโกดัง” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ ยังกล่าวถึง การเปิดให้เอกชนประมูลข้าวจากสต็อกของรัฐซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคมนี้ว่าหากกระทรวงพาณิชย์ ยังใช้วิธีการประมูลแบบเดิมคือการให้เอกชนประมูลข้าวแบบเหมารวมทั้งหมดก็จะทำให้ได้ราคาต่ำเนื่องจากเอกชนไม่กล้าที่จะรับความเสี่ยง เนื่องจากไม่รู้ว่าคุณภาพในสต็อกที่เปิดให้ประมูลนั้นเป็นอย่างไร โดยขณะนี้แม้จะมีการเปิดสต็อกให้เอกชนประเมินคุณภาพข้าวก็มีเวลาสั้นๆ ในการให้เอกชนประเมินเท่านั้น ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ควรใช้วิธีการประมูลข้าวแบบที่เคยใช้ในอดีต คือให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เข้ามาประเมินราคาข้าวเพื่อแยกเกรดตามคุณภาพข้าวซึ่งวิธีการนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงของภาคเอกชนลง ช่วยทำให้เอกชนมีความมั่นใจในการเข้ามาประมูลข้าวของรัฐ และจะทำให้ราคาประมูลไม่ต่ำกว่าราคาตลาดที่มีการจำหน่ายมากนักซึ่งจะช่วยลดความเสียหายของรัฐจากการจำหน่ายข้าวขาดทุนลงด้วย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ ‘ทีดีอาร์ไอ’ชี้รัฐบาลตกหลุมระบายข้าว