ปัญหา ‘เทปสีแดง’ กับความง่ายในการประกอบธุรกิจ

ปี2014-08-14

อิสร์กุล อุณหเกตุ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

รายงาน Doing Business เป็นรายงานซึ่งธนาคารโลกจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างดัชนีความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business Index) โดยสำรวจกฎหมายและกฎระเบียบที่ใช้ควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในหลายมิติ เช่น การเริ่มต้นประกอบธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอสินเชื่อ และการคุ้มครองนักลงทุน เป็นต้น ดัชนี ดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญถึงบรรยากาศ การลงทุนของแต่ละประเทศ

รายงาน Doing Business พยายาม ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาขั้นตอนทางกฎหมายและกฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อน และใช้เวลานานเกินความจำเป็น หรือที่เรียกกันว่า “เทปสีแดง” (red tape) โดยเปรียบเทียบขั้นตอนของกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงเวลาที่ใช้ในการดำเนินการตามกฎหมายของประเทศต่างๆ พบว่า ในหลายๆ กรณี กฎหมายและกฎระเบียบเหล่านี้นำไปสู่การประกอบธุรกิจในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ และการทุจริตคอร์รัปชัน และเสนอว่า การพัฒนาปรับปรุงระบบกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อให้ ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคธุรกิจจะใช้ทั้งเงินและเวลาไปกับการดำเนินการตาม ขั้นตอนทางกฎหมายน้อยลง และเหลือทรัพยากรสำหรับการประกอบธุรกิจมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลจะสูญเสียงบประมาณไปกับ การกำกับควบคุมน้อยลง และสามารถใช้จ่าย เพื่อการบริการสาธารณะได้มากขึ้น

ตามรายงาน Doing Business ประจำปี ค.ศ. 2014 นั้น อันดับความง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยอยู่ที่อันดับที่ 18 จาก 189 ประเทศซึ่งแม้จะสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ในเอเชีย รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 1 ของโลก) ฮ่องกง (2) มาเลเซีย (6) เกาหลีใต้ (7) และไต้หวัน (16) แต่อันดับของประเทศไทยนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากรายงานประจำปี ค.ศ. 2006 ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 20 จาก 155 ประเทศ ต่างจากมาเลเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวันที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากระบบการควบคุมการประกอบกิจการหรือการดำเนินการต่างๆ ของไทยนั้น ต้องดำเนินการผ่านการ อนุมัติ การอนุญาต การออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียน และการแจ้ง โดยที่กฎหมายหลายฉบับมิได้กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ การขออนุญาตดำเนินการต่างๆ อาจต้องติดต่อกับหน่วยงานหลายแห่งซึ่งอาจ มีความซ้ำซ้อนกัน จึงสร้างความยุ่งยากให้แก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น

จอร์เจียเป็นประเทศตัวอย่างสำคัญที่สามารถลดปัญหา “เทปสีแดง” ได้ด้วยการ พัฒนาปรับปรุงระบบกฎหมายและ กฎระเบียบ เพื่อให้ง่ายต่อการประกอบ ธุรกิจก่อนเริ่มการพัฒนาระบบกฎหมายและ กฎระเบียบนั้น จอร์เจียมีขั้นตอนทางกฎหมายและกฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อน ตัวอย่างเช่น การขออนุญาตก่อสร้างคลังสินค้าแต่ละแห่งต้องขออนุมัติรวม 9 ครั้งจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งรวมถึงการอนุมัติแบบโครงการซึ่งอาจใช้เวลานานหลายเดือน เป็นต้น ผลที่ตามมาคือการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายของบริษัทก่อสร้าง รวมไปถึงการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

ในปี ค.ศ. 2005 รัฐบาลจอร์เจียประกาศใช้มาตรการที่สำคัญสองฉบับ มาตรการแรก คือ กฎหมายว่าด้วยใบอนุญาตและการอนุญาต (Law on Licensing and Permits)และ มาตรการที่สอง คือ มติ 140 ว่าด้วยกระบวนการอนุญาตการก่อสร้างและเงื่อนไขการอนุญาต (Resolution 140 on the Procedures of Issuance of Construction Permits and Permit Conditions) มาตรการทั้งสองมาตรการช่วยลดจำนวนกิจกรรมทางธุรกิจ ที่ต้องขอใบอนุญาตลงจาก 909 ชนิดเหลือเพียง 159 ชนิดในระยะเวลาราว 2 ปี และทำให้มีการอนุญาตก่อสร้างในกรุงทบลิซี เมืองหลวง ของจอร์เจีย เพิ่มขึ้นจาก 4.6 แสนครั้งในปี ค.ศ. 2004 เป็น 2.2 ล้านครั้งในปี ค.ศ. 2006 และส่งผลให้สัดส่วนของภาคก่อสร้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 6.4 ในปี ค.ศ. 2003 เป็นเกินกว่า ร้อยละ 9 ในปี ค.ศ. 2006

การลดปัญหา “เทปสีแดง” ด้วยการพัฒนาปรับปรุงระบบกฎหมายและกฎระเบียบของจอร์เจียสะท้อนออกมาในดัชนีความง่าย ในการประกอบธุรกิจ โดยอันดับความง่าย ในการประกอบธุรกิจของจอร์เจียขึ้นจาก อันดับที่ 100 จาก 155 ประเทศตามรายงาน Doing Business ประจำปี ค.ศ. 2006 เป็นอันดับที่ 8 จาก 189 ประเทศตามรายงานประจำปี ค.ศ. 2014 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความง่ายในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจและการขออนุญาตก่อสร้างระหว่างจอร์เจียกับไทย จะพบว่า การลดขั้นตอนการขออนุญาตให้เหลือเท่าที่จำเป็นจะช่วยลดทั้งเวลาและต้นทุนที่ใช้ ในการดำเนินการได้มาก

ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. …เป็นความพยายามหนึ่งในการลด “เทปสีแดง” ในระบบราชการไทย โดยคณะรัฐมนตรีสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมีมติ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบ เพื่อลด ขั้นตอนและลดการขออนุญาตที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เหมาะสมกับภาคธุรกิจต่อมา คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวขึ้น และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในช่วงกลางปี 2556 สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับมาตรการที่จอร์เจียประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2005 ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงน่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งในประเด็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาต และเพิ่มความโปร่งใสและสร้างเสริมกลไกความ รับผิดของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาต

ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว อยู่ในบัญชีรายชื่อกฎหมาย 38 ฉบับ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว และเตรียมเข้าสู่วาระเพื่อพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ผู้อ่านที่สนใจบทวิเคราะห์ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่ https://tdri.or.th/priority-research/ licensing-facilitation-act_web/

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 สิงหาคม 2557