ประมวลกฎหมายแรงงาน ก้าวยักษ์ของผู้ใช้แรงงาน?

ปี2015-06-11

 สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

หลายท่านอาจไม่ทราบว่าประเทศไทยมีกฎหมายแรงงานและกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานอยู่กว่า 10 ฉบับ ซึ่งรวมถึง “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ส่วนที่ว่าด้วยการจ้างแรงงาน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (แก้ไข พ.ศ.2551) พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554

ด้วยเหตุที่กฎหมายแรงงานมีอยู่หลายฉบับและปัญหาของกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ซึ่งคณะผู้จัดทำประมวลกฎหมายแรงงานให้เหตุผลว่า แต่ละกรมในสังกัดกระทรวงแรงงานต่างบังคับใช้กฎหมายแรงงานเป็นเอกเทศ ทำให้การทำงานด้านแรงงานมีปัญหาขาดการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนร่างกฎหมายแรงงานตลอดเวลาตามสถานการณ์ทางการเมือง กฎหมายบางฉบับยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล ภาครัฐผูกขาดการตัดสินใจในการปรับปรุงกฎหมายแรงงาน ฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างเป็นเพียงผู้รับทราบผลการปรับปรุงกฎหมาย ภาครัฐต้องการควบคุมแรงงานให้อยู่ในแนวทางที่ภาครัฐกำหนดได้ แม้ว่าในเรื่องนั้นๆอาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศก็ตาม ทั้งการปรับปรุงกฎหมายแรงงานตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ภาครัฐใช้เวลายาวนานหลายปีและเลือกที่จะเสนอผลการประชุมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศให้รัฐสภาทราบเท่านั้น ขาดแนวทางในการให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศจึงทำให้กฎหมายแรงงานของไทยมีการปรับปรุงตามที่ผู้มีอำนาจรัฐต้องการโดยไม่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานแรงงานสากล ปัญหาในทางปฏิบัติจากการแปลกฎหมายของหน่วยงานภาครัฐโดยไม่ทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงาน  เป็นต้น

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานขึ้น เพื่อจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานและรวบรวมบทกฎหมายด้านแรงงานต่างๆไว้ในที่เดียวกันและจัดให้มีการบัญญัติอย่างเป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ที่เชื่อมโยงกัน โดยได้เริ่มประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556

คปก.ไม่เกี่ยวกับ คสช. ครับ เพราะ คปก.เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมีพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 กำหนดให้มีองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายคือ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สำหรับการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน คปก.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาและดำเนินการร่างประมวลกฎหมายแรงงานและร่างพระราชบัญญัติการบริหารแรงงานแยกจากกัน

ในร่างประมวลกฎหมายแรงงานได้มีการกำหนดหมวดหมู่กฎหมายแรงงานออกเป็น หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 การพัฒนากำลังคน หมวด 3 มาตรฐานการจ้างงาน หมวด 4 แรงงานสัมพันธ์ และหมวด 5 ความมั่นคงทางสังคมและสวัสดิการแรงงาน ในส่วนของร่างพระราชบัญญัติการบริหารแรงงานเป็นการแยกการบริหารแรงงานภาครัฐออกจากเนื้อหากฎหมายแรงงานเพื่อให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม

อาจกล่าวได้ว่า ร่างประมวลกฎหมายแรงงานฉบับนี้ถือโอกาสปฏิรูปกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันในหลายเรื่องใหญ่ๆ ดังจะยกมาบางเรื่องดังนี้

เรื่อง ค่าจ้าง ร่างมาตรา 58  “ค่าตอบแทนการทำงานขั้นต่ำ หมายถึง เงินที่ผู้จ้างงานจ่ายให้แก่ผู้ทำงานเพื่อให้ผู้ทำงานซึ่งเพิ่งเริ่มทำงานมีปัจจัยในการดำรงชีวิตของตน และสมาชิกในครอบครัวอีกสองคน” ในขณะที่แนวคิดเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันคือ “เป็นอัตราจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ 1 คน ให้สามารถอยู่ได้ตามสมควรแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นนั้น” อนึ่งคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายแรงงานไม่ได้บอกว่าจะเอาคณะกรรมการค่าจ้างในปัจจุบันไปไว้ที่ไหน

การแรงงานสัมพันธ์ หมวด 4 ส่วนที่ 1 สิทธิการรวมตัว ส่วนที่ 2 สิทธิการเจรจาต่อรองร่วม และส่วนที่ 3 การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม เช่น ร่างมาตรา 86 “ผู้ทำงานและผู้จ้างงานทุกภาคส่วนและทุกสาขาเศรษฐกิจมีสิทธิและเข้าร่วมองค์การของตนโดยสมัครใจโดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่รัฐ……”

ร่างมาตรา 87 “เจ้าหน้าที่รัฐพึงละเว้นการแทรกแซงใดๆที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการก่อตั้งหรือเข้าร่วม หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้สิทธิตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่กำหนดมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ทำงานและผู้จ้างงานได้ใช้สิทธิก่อตั้งและดำเนินการขององค์การได้อย่างเสรี”

ร่างมาตรา 90 “รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่ รวมทั้งการใช้ประโยชน์สูงสุดของการเจรจาต่อรองร่วมระหว่างผู้ทำงานและผู้จ้างงาน ระหว่างองค์การผู้ทำงานและองค์การผู้จ้างงานโดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุสภาพการจ้าง โดยวิธีการตกลงร่วม…”

ในส่วนนี้จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ.1948 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ.1949 ซึ่งทั้ง 2 อนุสัญญานี้รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันหรือลงนามรับรองด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง รวมทั้งเกรงว่าจะมีการจัดตั้งสหภาพเล็กๆน้อยๆขึ้นมามากมายและทำให้การนัดหยุดงานขยายตัว

และในส่วนของร่างพระราชบัญญัติการบริหารแรงงาน ในมาตรา 8 “ให้มีคณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงานเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแรงงาน ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอีกยี่สิบคนซึ่งได้รับการสรรหาโดยมีคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนี้ โดยต้องมีสัดส่วนหญิงชายที่ใกล้เคียงกัน และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์……” คณะกรรมการดังกล่าวมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี โดยผ่านการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา

ฟังดูเหมือนกับจะมีซุปเปอร์บอร์ดด้านแรงงานมากำกับดูแลกระทรวงแรงงาน

ทั้งสามเรื่องที่ยกมาเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญและเป็นเรื่องดีๆสำหรับผู้ใช้แรงงานทั้งนั้น

ผู้เขียนห่วงอยู่หน่อยเดียวว่างานนี้จะมโนไปเองหรือเปล่า เพราะไม่ทราบว่าผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญคือ นายจ้างมีการรับรู้ร่วมคิดด้วยในร่างประมวลกฎหมายนี้หรือไม่ ประการใด นอกจากนั้นแล้วยังต้องผ่าน สนช. และ สปช. อีก

ก็ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย

—————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 มิถุนายน 2558 ใน “คอลัมน์: ดุลยภาพดุลยพินิจ: ประมวลกฎหมายแรงงาน ก้าวยักษ์ของผู้ใช้แรงงาน?”