ปฏิรูปสื่อยุคหลอมรวม’รัฐธรรมนูญใหม่’ก้าวหน้า?-ถอยหลัง?

ปี2016-02-28

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันศุกร์ที่ 26 ก.พ. มีการจัดเสวนาสาธารณะ “ทางเลือกในการปฏิรูปสื่อ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ซึ่งมีการนำเสนอ มีการพูดถึง โครงการศึกษาวิจัยการปฏิรูปสื่อมีกรณี ‘การกำกับดูแลสื่อในยุคหลอมรวม”

เรื่องนี้ก็ยึดโยงกับ “รัฐธรรมนูญ” ด้วย!!

ทั้งนี้…การหลอมรวมสื่อ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการแพร่ภาพกระจายเสียง กับโทรคมนาคม เลือนราง การกำกับดูแลกิจการแยก 2 ด้าน จึงไม่สามารถกำกับดูแลกิจการที่หลอมรวมได้มีประสิทธิผล…นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกชูขึ้นมา ซึ่ง สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า…ต้องกำกับดูแลสื่อยุคหลอมรวม เพื่อให้มีคุณภาพ เสรีภาพ เสมอภาคในการสื่อสาร และมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ

“การกำกับดูแล ต้องมีการ ลดต้นทุน ลดความเสี่ยงผู้ประกอบกิจการ ในการสร้างกลไกประเมินผลกระทบกฎระเบียบ การรองรับการแข่งขันที่มีเสรีภาพ-เป็นธรรม การ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ และพหุนิยมในสื่อ การคุ้มครองผู้บริโภค ที่ต้องเสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อ-ความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค การสนับสนุนการกำกับดูแลร่วม โดยต้องให้ผู้รับใบอนุญาตสังกัดสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่ กสทช.รับรอง ให้สภาวิชาชีพรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน วินิจฉัย โดย กสทช.สามารถสั่งปรับ พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้”…ประธานทีดีอาร์ไอระบุไว้

ขณะที่ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า…ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ควรคงหลักการที่ให้ กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแล โดยเฉพาะคลื่นความถี่ ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้น ถ้าเปลี่ยนหลักการอาจส่งผลต่อการจัดสรรได้ ส่วนข้อเสนอทีดีอาร์ไอที่ให้ เปลี่ยนมือคลื่นความถี่ ได้ คงต้องพิจารณาอีกครั้ง ถ้าจะปรับเปลี่ยนก็ต้องแก้กฎหมาย

“การปฏิรูปสื่อ แยกได้เป็น 2 ส่วน การจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแลร่วม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีเสรี เป็นธรรม โปร่งใส ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ควรแก้ไขแบบเสริมจุดแข็ง-ลดจุดอ่อน ไม่ให้กลับไปสู่จุดเดิม ๆ และการจะทำให้เข้าสู่ระบบที่โปร่งใสขึ้น ต้องมีการแก้ไข เปิดเผย คงหลักความเป็นอิสระ ไม่ให้เกิดการแทรกแซง ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องปรับในเรื่องผู้ประกอบการ ทำอย่างไรให้มีกลไกและเสริมความเข้มแข็งไปตลอด”…กรรมการ กสทช. รายนี้ระบุ

ส่วนกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เมธินี เทพมณี ระบุไว้ว่า…ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีการเขียนเรื่องนี้ไว้กว้าง ๆ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามีการเปิดช่องทางหรือไม่ ควรต้องเขียนให้มีความชัดเจน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างประชาชน ภาครัฐ และรัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างแท้จริง

ทางด้านที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง บุญเลิศ คชายุทธเดช ระบุไว้บางช่วงบาง ตอนว่า…ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทยถูกทำ ให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับสิทธิเสรี ภาพสื่อมวลชนในยุคหลอมรวมสื่อ ที่รัฐเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลมากขึ้น

มีหลายประเด็นที่เป็นคำถาม อย่างมาตรา 25 การใช้เสรีภาพของประชาชนที่ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่ง ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองคนใดที่จะตีความง่าย ๆ ว่าประชาชนและสื่อใช้เสรีภาพขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีร่างรัฐ ธรรมนูญบัญญัติว่า ไม่สามารถจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นได้ เว้นแต่ จำกัดเสรีภาพตามกฎหมายที่รักษาความมั่นคง เพื่อป้องกันความแตกแยก นั้น ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ ยากที่จะวินิจฉัยว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างไรที่จะไม่สร้างความแตกแยก

ทั้งนี้ ในส่วนของนักวิชาการ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า…เมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีข้อสังเกตต่อมาตราที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อคือ มีการเปลี่ยนวิธีการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทย เพิ่มข้อจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพ ว่า ต้องไม่กระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจนำไปสู่การตีความการใช้สิทธิโดยรวมทั้งหมด

“ในด้านคลื่นความถี่ มีการเพิ่มประเด็นสิทธิวงโคจรดาวเทียมให้เป็นหน้าที่รัฐ ปรับลดอำนาจของ กสทช. รวมถึงการปรับรูปแบบองค์กร ซึ่งทิศทางในการร่างและเนื้อหาโดยรวมของรัฐธรรมนูญ บ่งบอกถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการจัดการด้านการสื่อสาร ที่เดิมมุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่ประชาธิปไตยทางการสื่อสาร เป็นการหวนคืนสู่การควบคุมโดยรัฐ”…นักวิชาการรายนี้ระบุไว้

“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” กับการ “ปฏิรูปสื่อ” นี่ก็เป็น “อีกเรื่องสำคัญ” ที่ “ต้องติดตาม” ว่าที่สุดแล้วจะก้าวหน้า?…หรือถอยหลัง?


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน เดลินิวส์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ในคอลัมน์: สกู๊ปหน้า1: ปฏิรูปสื่อยุคหลอมรวม’รัฐธรรมนูญใหม่’ก้าวหน้า?-ถอยหลัง?