การแสวงหาผลประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรี (Free Trade Agreements: FTAs) (ระยะที่ 3)

รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ JTEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 และกำลังจะบรรลุ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ AJCEP ร่วมกับประเทศอื่นๆในอาเซียน จึงต้องทำการศึกษาว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความตกลง JTEPA ได้มากน้อยเพียงใด อุปสรรคจากการตกลงทางการค้า และควรทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความตกลงได้มากขึ้นในอนาคต

จากการศึกษาโดยใช้ข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 5 เดือนแรกหลังจาก JTEPA มีผลบังคับใช้ (พ.ย. 2550 – มี.ค. 2551) พบว่า ในภาพรวม ภาคส่งออกของไทยสามารถประหยัดภาษีศุลกากรได้ถึง 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอุตสาหกรรมอาหารได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุด ตามด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ของภาคส่งออกในไทยโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 55.9

ผู้ส่งออกสินค้าไปประเทศญี่ปุ่นยังมี ‘อุปสรรค’ บางข้อในการใช้สิทธิประโยชน์ เช่น ความยุ่งยากของขั้นตอนการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า สินค้าส่งออกไม่ได้รับการลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร สำหรับผู้นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น จะมีต้นทุนสูงในการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับสินค้าที่ต้องส่งมาอย่างต่อเนื่องแบบทันเวลาพอดี เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ความกังวลในการแจ้งโครงสร้างต้นทุนให้หน่วยงานออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นภาคเอกชนด้วยกัน และปัญหาในการตรวจสอบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าในกรณีที่ประเทศผู้ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดไม่ใช่ประเทศที่ออกใบส่งสินค้า (invoice) หรือที่เรียกว่าปัญหารีอินวอยส์ (reinvoicing)

โดยคณะวิจัยได้มี ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังต่อไปนี้

  • รัฐบาลควรจัดตั้ง “สำนักงานติดตามการใช้ประโยชน์ตามความตกลง JTEPA” ขึ้น โดยรายงานตรงต่อคณะกรรมการกำกับการดำเนินการตามความตกลง JTEPA เพื่อติดตามการใช้ประโยชน์ รับฟังปัญหาจากภาคเอกชน โดยต้องทำอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ
  • รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและการลงทุนของญี่ปุ่น และลักษณะเฉพาะของตลาดญี่ปุ่นในด้านต่างๆ
  • ในการเจรจาทบทวนความตกลง JTEPA รัฐบาลควรเจรจาต่อรองด้านภาษีศุลกากรและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น รวมถึงการเร่งรัดโครงการความร่วมมือต่างๆให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว
  • กระทรวงอุตสาหกรรมควรส่งเสริมให้สถาบันเฉพาะทางภายใต้กระทรวงฯ มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น เพื่อให้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการภาคเอกชน
  • กรมศุลกากรและกรมการค้าต่างประเทศ ควรเร่งสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง JTEPA

ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการแสวงหาผลประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรี (Free Trade Agreements: FTAs) โดยให้ประเทศไทยสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความตกลง JTEPA และ AJCEP ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

Download