เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นเสาหลักของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคสารสนเทศที่ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและความสามารถในการแพร่กระจายข้อมูลเป็นปัจจัยที่สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การมีบริการการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการที่ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle income trap) ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง แต่ผู้เขียนมองสภาพตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยแล้ว กลับอยู่ในสภาวะถดถอยเนื่องจากการแข่งขันในตลาดมีจำกัด และยังอาจเกิดการผูกขาดในอนาคตอีกด้วย ผู้ประกอบการต่างชาติไม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมไทยด้วยเหตุผลดังนี้
ประการแรก การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมไทยยังคงจมปลักกับการช่วงชิงความได้เปรียบ เสียเปรียบกันจากระบบสัมปทาน ดังจะเห็นได้จากการแก้ไขเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานหลายฉบับในอดีต และล่าสุดกรณีการทำสัญญาเพื่อให้บริการ 3G ระหว่างกลุ่มทรูกับ กสท. ที่ถูกมองว่าเป็นสัมปทานจำแลง การทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นอีกสูง เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีสายสัมพันธ์กับทางการเมืองย่อมเล็งเป้าไปที่การใช้ช่องทางของสัมปทานในการได้มาซึ่งคลื่นความถี่โดยการทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายการเมือง หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ธุรกิจโทรคมนาคมไทยก็ไม่มีวันที่จะพัฒนาได้ เพราะการแข่งขันจะไม่มีวันเสรีและเป็นธรรม ผู้ประกอบการที่ไม่มีเส้นสายทางการเมืองก็ไม่สามารถสร้างความได้เปรียบจากระบบสัมปทานได้ ทำให้แข่งขันได้ยากและอาจถูกบีบออกจากตลาดในที่สุด
ประการที่สอง กฎ กติกาในการกำกับดูแลไม่คุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย ในปี พ.ศ. 2553 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนรายที่ 4 คือ Hutch ต้องถอนตัวออกไปจากตลาด (ส่งผลให้กลุ่มทรูเข้ามาเทคโอเวอร์) เนื่องจากประสบผลขาดทุนจากการที่ไม่สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายของตนกับโครงข่ายของผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ AIS DTAC และ TRUE ซึ่งเรียกร้องค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในอัตราที่สูงมาก คือ 1 บาทต่อนาทีได้ ลูกค้าของ Hutch จึงไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นนอกโครงข่าย กว่า กทช[1]. จะเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่ออ้างอิงที่ 50 สตางค์ต่อนาทีเมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเวลาก็ล่วงเลยไปแล้วกว่า 2 ปี ก็สายเกินไปเสียแล้ว ตัวอย่างของ Hutch ที่ต้องม้วนเสื่อไปคงทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติรายอื่นๆ รวมทั้งผู้ประกอบการไทยรายใหม่ไม่กล้าเข้ามาในตลาดโทรคมนาคมไทย เพราะไม่มั่นใจว่า กฎ กติกาในการกำกับดูแลจะให้ความเป็นธรรมแก่เขาได้เพียงใด
ประการที่สาม กฎ กติกาของ กทช. นอกจากไม่คุ้มครองรายย่อยแล้วยังจำกัดการแข่งขันในตลาดอีกด้วย ดังจะเห็นได้จาก ประกาศ กทช. ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ ๒๕๕๔ ซึ่งได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวที่เข้มงวดกว่าที่ปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างมาก การดำเนินการดังกล่าวมีความผิดปกติอยู่มาก เนื่องจากมีการเร่งรีบและรวบรัดก่อนที่กรรมการชุดดังกล่าวจะหมดวาระ ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่า ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายหนึ่งในตลาดที่มีเส้นสายทางการเมืองแน่นแฟ้นกับรัฐบาลในสมัยนั้นหรือไม่
ผู้เขียนได้ฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ว่าคงจะปรับปรุงกฎ กติกา ในการกำกับดูแลให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดมากกว่าในอดีต บททดสอบแรก คือ ร่างประกาศฯ ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ฉบับใหม่ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ กทค.[2] ในเร็ววันนี้ ผู้เขียนได้เห็นร่างที่จะมีการนำเสนอแล้วก็มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า หากมีการเห็นชอบร่างดังกล่าวแล้ว ตลาดโทรคมนาคมไทยอาจถอยหลังเข้าคลองในอนาคตอันใกล้ ด้วยเหตุผลดังนี้
ประการแรก แม้ร่างดังกล่าวได้ตัดสาระที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกไปหมดแล้ว (ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่าการอ้างเรื่องความมั่นคงนั้นเลื่อนลอย) หากแต่ยังคงบัญชีข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวทั้ง 8 ข้อ ซึ่งรวมถึงการครอบงำผ่านแหล่งเงินทุน สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง การถ่ายโอนค่าใช้จ่าย การทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การโอนราคา ฯลฯ การวินิจฉัยว่าการประกอบธุรกรรมกับคนต่างด้าวในลักษณะใดจึงจะถือว่าเป็นการครอบงำนั้นขาดหลักเกณฑ์ หรือวิธีการพิจารณาที่ชัดเจนจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กสทช. เป็นหลัก
ประการที่สอง ประกาศฉบับนี้ไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจนว่าทำไปเพื่ออะไร ธุรกิจโทรคมนาคมไทยมีปัญหาที่เกี่ยวกับการถูกคนต่างด้าวครอบงำหรือ และการครอบงำดังกล่าวดทำให้ผู้ใช้บริการเสียประโยชน์หรือถ่วงพัฒนาการของธุรกิจโทรคมนาคมไทยอย่างไร จึงต้องมีประกาศฉบับนี้ กรรมการชุดที่แล้วบอกว่าเป็นเรื่องความมั่นคง กรรมการชุดนี้บอกไม่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง แต่ก็ไม่ยกเลิกและไม่สามารถชี้แจงเหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ได้ รวมทั้งไม่มีการทำรายงานที่แสดงผลดี ผลเสียต่อธุรกิจโทรคมนาคม และผู้บริโภคตามข้อกำหนดของ กสทช. เองตามเดิมจากที่ผู้เขียนเคยท้วงติงเมื่อกว่าครึ่งปีที่แล้ว
ประการที่สาม จนบัดนี้แล้ว กสทช. ก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าประกาศดังกล่าวขัดกับพันธกรณีของประเทศไทยที่ให้ไว้ในองค์การการค้าโลกหรือไม่ เพียงแต่เขียนไว้ในร่างประกาศฉบับใหม่ว่า ประกาศฉบับนี้สามารถบังคับใช้ได้ “เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความตกลงหรือสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี” หากเนื้อหาเกี่ยวกับการครอบงำกิจการของคนต่างด้าวทั้งหมดขัดกับพันธกรณีของไทยในองค์การการค้าโลกแล้ว ประกาศนี้จะเป็นเพียงแค่เศษกระดาษที่แสดงถึงความไม่รอบคอบในการออก กฎ กติกา ของ กสทช. เท่านั้น เพราะไม่สามารถบังใช้กับนักลงทุนจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก 153 ประเทศได้ แล้วจะออกมาเพื่ออะไร หรือคิดว่าจะใช้สำหรับนักลงทุนจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก เช่น อัฟกานิสถาน ลิเบีย หรือ เกาหลีเหนือ ?
ผู้เขียนเห็นว่า ประกาศฉบับนี้แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องของการป้องกันการครอบงำธุรกิจโทรคมนาคมของคนต่างด้าว หากแต่เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่อาจสนใจเข้ามาแข่งขันในการประมูลคลื่น 3G และเป็นการเปิดช่องให้การเมืองเข้าครอบงำธุรกิจโทรคมนาคมไทยมากกว่า เนื่องจากประกาศนี้ทำให้ กสทช. สามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างเต็มที่ในการชี้ว่าผู้ประกอบการรายใดเป็นคนต่างด้าวและรายใดมิใช่คนต่างด้าว ผู้ประกอบการที่ไร้เส้นสายทางการเมืองอาจถูกบีบให้ออกจากตลาดเหมือนที่ Hutch เคยโดนมาแล้ว ณ เวลานั้นคนไทยก็คงจะต้องเตรียมควักกระเป๋าสตางค์จ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แพงลิบลิ่วเหมือนในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2543 ที่มีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (สัญชาติไทยแท้ ณ เวลานั้น) เพียงสองรายในตลาด
แม้ประกาศนี้จะกระตุ้นต่อม “รักชาติ” ของคนไทย แต่เราต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมานั้น การครอบงำของการเมืองที่มุ่งแสวงหากำไรจากการผูกขาดได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมากกว่าการครอบงำของคนต่างด้าวที่แสวงหากำไรจากการแข่งขันในตลาด
[1] คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งตอนนี้กลายเป็น คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช) ตาม. พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
[2] คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช)