ทีดีอาร์ไอ จวกเอ็มโอยูข้าวไทย-จีน เป็นเอกสารกลวง เหมาะใส่กรอบ เพราะไม่สามารถนําไปบริหารจัดการข้าวได้จริง เชื่อรัฐบาลยังไม่มีแผนระบายข้าวในสต๊อกตั้งแต่ต้น หวั่นธ.ก.ส.ขาดสภาพคล่อง หลังรัฐบาลเปิดจํานําเพิ่ม
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการกิตติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ซื้อ-ขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน (จีทูจี) ในช่วงที่นายเหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีน เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่า เอ็มโอยูดังกล่าว นับเป็นเอกสารกลวงที่เหมาะสําหรับใส่กรอบไว้ที่ห้องรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถนําไปใช้ดําเนินนโยบายบริหารจัดการข้าวได้จริง และรัฐบาลก็ไม่มีแผนที่จะระบายข้าวที่อยู่ในสต๊อกตั้งแต่ต้น แม้กระทรวงการคลังจะทวงถามแผนการระบายข้าว ขณะที่การรับจํานําข้าวเปลือกนาปรัง ที่แนวโน้มปริมาณการรับจํานําข้าวปี 2555 เพิ่มจาก 8.8 ล้านตัน เป็น 11.11 ล้านตัน และล่าสุดเพิ่มรอบพิเศษ ทําให้ยอดรับจํานําเพิ่มเป็น 13.31 ล้านตัน แต่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่มีเงิน จึงขอให้กระทรวงการคลังคํ้าประกันการกู้เงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินโครงการรับจํานําข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 เพิ่มจากเดิม 120,000 ล้านบาท เป็น 161,000 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธเพราะเต็มเพดานแล้ว ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงต้องกู้เงินโดยที่กระทรวงการคลังไม่คํ้าประกัน ซึ่งเชื่อว่าแม้ตลาดเงินจะให้กู้ แต่ดอกเบี้ยจะไม่ตํ่า ดังนั้น การรับจํานําข้าวที่เพิ่มมากขึ้นในที่สุดจะส่งผลให้ ธ.ก.ส. มีปัญหาขาดสภาพคล่องเป็นระยะๆ
“ขณะนี้นับเป็นครั้งแรกที่กลไกตลาดข้าวถูกทําลายโดยสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลมีนโยบายซื้อข้าวเปลือกทุกเมล็ดและผูกขาดตลาดข้าวเปลือก ผูกขาดการสี และผูกขาดตลาดข้าวสารส่วนใหญ่ ส่งผลให้ข้าวเปลือกแพง ขณะที่ข้าวสารถูก เพราะรัฐบาลแทรกแซงผ่านค่าสีข้าว”
ด้าน นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการกิตติคุณ กล่าวถึงการดําเนินโครงการรับจํานําข้าวของรัฐบาลว่า การรับจํานําข้าวนาปีไม่น่าจะมีปัญหา แต่การรับจํานําข้าวนาปรัง ธ.ก.ส. จะมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินมารับจํานํา อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส. สามารถกู้เงินได้ 20เท่าของทุน ส่วนตัวเลขขายข้าวที่ได้เงินมาแล้ว 40,000 ล้านบาท ทีดีอาร์ไอไม่ทราบว่าเงินที่ได้นําไปชําระหนี้ใบประทวนข้าวโกดังใดบ้าง สิ่งนี้ขอให้สื่อมวลชนสอบถามจากผู้ดูแล
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า การที่ข้าวสารราคาถูก เพราะมีผู้ค้ารายใหม่ที่มีสิทธิพิเศษ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลกําลังนําเงินภาษีของประชาชนไปให้พ่อค้าที่มีเส้นสายเพื่อให้มีต้นทุนข้าวถูกกว่าพ่อค้ารายอื่น รายอื่นก็ต้องการรักษาตลาดเอาไว้ ส่งผลให้ที่สุดแล้วราคาข้าวสารไม่เพิ่มขึ้น ราคาข้าวสารถูก ขณะที่ข้าวเปลือกราคาแพง
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ในชื่อ TDRI อ้าง MOU ข้าวไทย-จีนเอกสารกลวง เหน็บเหมาะใส่กรอบ