“ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) กำลังเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มประชาสังคมต่างๆ และประชาชนโดยทั่วไป งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหลายชิ้นต่างให้ข้อสรุปตรงกันว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังห่างไกลจากความเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจที่แท้จริง” เนื่องจากข้อตกลงในการเปิดเสรีภาคบริการ การเคลื่อนย้ายการลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือยังมีข้อจำกัดอีกมาก แม้กระทั่งการค้าสินค้าเกษตรก็ยังมีข้อตกลงเรื่องสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศสมาชิก
คำถามเชิงนโยบายที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มีความหมายอย่างไรต่อประเทศไทย และประเทศไทยจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ในขณะที่มีผลกระทบในด้านลบน้อยที่สุด
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จึงเห็นควรที่จะจัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2555 ในหัวข้อเรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย (ASEAN Economic Community: Myths, Reality Potentials and Challenges) เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง ที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตลอดจนนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจดังกล่าว
หัวข้อที่ 1: ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย (Thailand in the AEC: Myths, Reality, Potentials and Challenges)
สื่อมวลชนและประชาชนไทยให้ความสำคัญต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากการมีข่าวและความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของ AEC ผ่านสื่อมวลชนในประเทศไทยจำนวนมากในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม ข่าวและความเห็นดังกล่าวสะท้อนถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือ “มายาคติ” (myth) ของคนไทยต่อการรวมกลุ่มทางภูมิภาคที่เกิดขึ้น
บทความนี้จะเสนอ “ความเป็นจริง” เกี่ยวกับการรวมกลุ่มทางภูมิภาคในมุมมองของคณะผู้วิจัยและจะ วิเคราะห์ถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มทางภูมิภาคดังกล่าว ตลอดจนความท้าทายของประเทศไทยในการเตรียมการเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ในขณะที่สามารถลดผลกระทบในด้านลบได้
ประธาน:
ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ผู้เสนอ:
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ผู้วิจารณ์:
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
หัวข้อที่ 2: การค้าสินค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade in Goods and Trade Facilitation)
บทความนี้จะวิเคราะห์ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการเข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีผลในการลดภาษีศุลกากรของแต่ละประเทศ และจะวิเคราะห์อุปสรรคที่ทำให้ไทยยังได้ประโยชน์จาก AFTA ไม่เต็มที่ ดังจะเห็นได้จากการที่อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียนอื่นยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยจะศึกษาปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับกฎแหล่งกำเนิด (rules of origin) และการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (certification of origin) และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในบทความนี้ คณะผู้วิจัยยังจะศึกษาแนวทางการเพิ่มปริมาณการค้าในอาเซียนจากการอำนวยความสะดวกทางการค้า (trade facilitation) ระหว่างกัน ตลอดจนถึงการพัฒนาระบบขนส่ง ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างอาเซียน (ASEAN Connectivity) และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการผลิต (production network) ในภูมิภาค
ประธาน:
คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้เสนอ:
ดร. เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร. สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ผู้วิจารณ์:
รศ.ดร. ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หัวข้อที่ 3: AEC กับการปฏิรูปสาขาบริการ (AEC and Service Sector Reform)
การปฏิรูปสาขาบริการในอาเซียนมีความคืบหน้าน้อยมากหลังจากที่มีการเจรจามาเป็นเวลานาน ล่าสุดกรอบการเปิดเสรีภาคบริการตาม “พิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC Blueprint) ก็ยังจำกัดเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของชาติสมาชิกอาเซียนโดยไม่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขกฎระเบียบในแต่ละประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจบริการ
บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงความสำคัญของภาคบริการต่อระบบเศรษฐกิจไทย และจะนำเสนอข้อเสนอแนะในการปฏิรูปสาขาบริการของประเทศไทย ทั้งในกรอบอาเซียนและการดำเนินการของประเทศไทยเอง โดยจะเน้นสาขาบริการใน 2 กลุ่มคือ บริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น การสื่อสาร การเงิน การขนส่ง พลังงาน และบริการที่ตลาดมีลักษณะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด ทั้งนี้ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจไทย
ประธาน:
คุณพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ผู้เสนอ:
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ผู้วิจารณ์:
ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าสายงานวิจัย) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
หัวข้อที่ 4: ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและช่องว่างทางรายได้ (Impact on Social Changes and Income Gap)
ผลกระทบด้านสังคมของ AEC ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะแม้ AEC จะเป็นข้อตกลงด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงประเด็นด้านสังคมโดยตรงดังเช่น ASCC แต่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจย่อมมีผลกระทบทางสังคม เช่น มีผลต่อช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกและช่องว่างทางรายได้ในแต่ละประเทศสมาชิก
บทความนี้จะเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบ AEC กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ศึกษาจะครอบคลุมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โครงสร้างเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ตลอดจนผลตอบแทนของปัจจัยการผลิตเช่น ค่าจ้าง ผลตอบแทนของทุน ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะครอบคลุมถึงเรื่องช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ช่องว่างของรายได้ภายในประเทศสมาชิก ระดับความยากจน คุณภาพชีวิตทั้งในด้านเศรษฐกิจเช่นค่าครองชีพ และด้านอื่นเช่นระดับมลภาวะ เป็นต้น
ประธาน:
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผู้เสนอ:
ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ผู้วิจารณ์:
ดร. ยรรยง ไทยเจริญ หัวหน้านักยุทธศาสตร์อาวุโส กลุ่มงานยุทธศาสตร์องกรค์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อคิดเห็นต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทย
โดย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ