คอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง เกษตรสัญญาทาส

ปี2013-02-26
ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

เกษตรกรไทยหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ดิ้นรน ทำมาหากินไปทางไหนก็หนีไม่พ้นบ่วงนายทุน พ่อค้าผูกขาด

“คอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง”…ระบบการเกษตรที่เกษตรกรต้องลงทุน น่าสนใจว่าระบบสัญญาส่วนใหญ่ที่ออกแบบร่างขึ้นมานั้น ถ้าในภาวะปกติก็มักจะไม่มีปัญหาอะไร ผลตอบแทนการลงทุนก็พอใช้ได้…

ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นในภาวะที่ไม่ปกติ ความเสี่ยงต่างๆ ก็จะถูกโยนมาให้เกษตรกร

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า ที่ผ่านมา อย่างกรณีเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อ ในยามปกติรายได้ก็ถือว่าไปได้ หมายความว่าอาจจะดีกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้อยู่ในสัญญา เพราะมีระบบประกันราคารับซื้อที่สูงกว่าราคาตลาด

…ถึงแม้ว่าขณะเดียวกันคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งจะขายวัตถุดิบบางอย่างสูงกว่าตลาดก็ตาม แต่เมื่อหักลบกันแล้วเกษตรกรก็ยังมีรายได้ที่ใช้ได้อยู่

ปัญหาวิกฤติ…เกิดตอนไข้หวัดนกหรือมีโรคระบาด ทำให้ต้องมีการลดการผลิตลง…ไก่เนื้อมีการผลิตในฟาร์มของบริษัทเองอยู่แล้ว ฟาร์มของเกษตรกรเป็นส่วนเสริมเติมเต็ม…พอความต้องการลดลง บริษัทก็มาปรับลดสัดส่วนเอากับฟาร์มในสัญญาคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง อย่างเช่นว่า การที่จะเอาไก่เข้า สมมติว่าปีละ 6 รุ่นก็มีการหมุนเวียนเอาเข้าน้อยลง หรือมีเงื่อนไขว่า…คุณต้องอัพเกรดฟาร์มในเรื่องต่างๆ ไม่งั้น…เลิกสัญญา

เท่าที่เห็นสัญญาเหล่านี้ผ่านตา มักเป็นสัญญาระยะสั้น แต่ในแง่การลงทุน เอาแค่โรงเรือนเมื่อเกษตรกรลงทุนไปแล้ว คนลงทุนก็คาดคิดว่าจะใช้ได้นานเป็น 10 ปี…ขณะที่สัญญาเป็นสัญญาปีต่อปี

ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

ปัญหาการลงทุนโรงเรือนกับสัญญาระยะสั้นแค่ 1 ปี ในทางปฏิบัติอาจมีการอ้างกันว่าลงทุนไปแล้วใช้ได้นาน 7–10 ปี ก็เป็นได้ ซึ่งไม่ใช่ข้อความจริงที่ระบุเอาไว้ในสัญญา

เกษตรกรคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งก็เหมือนถูกมัดมือชกรอบทิศ ถ้าไม่ปรับก็ต้องเลิก ถ้าไม่ยอมก็ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน…หลายคนจึงมีความเห็นตรงกันว่า…คอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งเป็นสัญญาทาส ดร.วิโรจน์ ชี้ว่า ตัวสัญญามีปัญหาตรงที่ว่าไม่ได้มีคนไปดู หมายถึงภาครัฐที่ไม่ได้เข้าไปดูแลเท่าที่ควรจะเป็น

ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

ปัญหาเท่าที่ผ่านมาในอดีต เหตุเกิดให้เห็นในสัญญาของบริษัทการเกษตรเจ้าสัวรายใหญ่ ซึ่งไม่รู้ว่าทุกวันนี้ยังทำอยู่หรือเปล่า “มีการทำสัญญาแค่ฉบับเดียว คู่สัญญาเซ็นชื่อกันแล้ว บริษัทเก็บสัญญาเอาไว้”

เกษตรกรไม่ได้ถือสัญญา แต่จะได้เอกสารที่เป็นคล้ายๆกับข้อมูลสรุปการคำนวณให้เห็นว่าจะได้อะไรเท่าไหร่ แล้วก็มีเงื่อนไขต่างๆประกอบ ในรูปแบบการโชว์ว่าคิดเงินกันยังไง อะไรทำนองนี้

“เกษตรกรจะได้เอกสารลักษณะนี้ แต่ตัวสัญญาบริษัทเก็บเอาไว้ พอมีการร้องเรียน…ก็เคยมีกรณีที่เสนอกันว่าสัญญาต้องมี 2 ชุด…ซึ่งบริษัทก็ทำสัญญา 2 ชุดจริงๆ แต่บริษัทก็เก็บเอาไว้ทั้ง 2 ชุดเหมือนเดิม”

ดร.วิโรจน์ บอกว่า ไม่รู้นะว่าถึงวันนี้เลิกหรือยัง เพราะว่ามีคนเคยโวยในเรื่องนี้ไปแล้ว น่าสนใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานทางกฎหมาย ถ้าคุณไปทำสัญญาอะไรก็ต้องถือสัญญาอันนั้นไว้ด้วย

ถ้าว่ากันต่อถึงเนื้อหาสัญญา บริษัทอาจจะมีสิทธิ์ในการที่จะกำหนดช่วงเวลาการจับไก่ เกษตรกรจะจับไก่เมื่อไหร่…ต้องเห็นภาพก่อนว่าระบบการเลี้ยงแบบนี้จะคล้ายๆกับการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม ถ้าออกแบบระบบเอาไว้ว่าจะให้เลี้ยง 42 วัน…

สมมติว่า ถ้าเกิดมาจับไก่ช้าไป 5 วัน นั่นหมายถึงต้นทุนค่าอาหารก็อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าเกษตรคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งไม่ใช่คู่ธุรกิจกับบริษัทใหญ่เจ้าตลาด แต่เป็นได้แค่ตัวเลือก?

 

ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

 ดร.วิโรจน์ มองว่าเข้าใจว่าคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งถูกออกแบบมาด้วย 2-3 วัตถุประสงค์ ทางฝั่งผู้ค้ารายใหญ่หนึ่งคือ…ใช้เป็นตัวปรับความเสี่ยงด้านการตลาด

อย่างที่บอกไปแล้วว่า บริษัทเกษตรกรรายใหญ่ก็มีฟาร์มของตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าเวลาที่ตลาดมีความต้องการสินค้าเยอะ การที่จะลงทุนเลี้ยงเพิ่มแล้วก็เปิดทำฟาร์มขยายให้ใหญ่ขึ้นก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะไม่คุ้มทุน เพราะเมื่อถึงเวลาหนึ่งความต้องการลดลง อาจจะไม่มีคนซื้อตลอดเวลา

ทางออกก็คือ…ทำคอนแทรคท์เอาต์กับคู่สัญญาเกษตรกรทั่วไปเอาไว้ส่วนหนึ่ง

วัตถุประสงค์ที่สอง…อาจจะทำเพื่อขายปัจจัยการผลิต อย่างเช่น ขายอาหารสัตว์ แต่ว่าโดยรวมแล้ว เกษตรกรที่เข้าร่วมสัญญาคอนแทรคท์ ฟาร์มมิ่งเหมือนเป็นแค่ตัวถูกเผื่อเลือกเท่านั้น เพราะน้ำหนักในแง่หุ้นส่วนทางธุรกิจทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ถึงตรงนี้ใช่ว่า…ระบบคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งไม่ดี บริษัทมีข้อดีและข้อได้เปรียบหลายเรื่อง สายพันธุ์ เทคโนโลยีและระบบการจัดการต่างๆ ถ้าในภาวะปกติเขาก็จัดการจนมีกำไร จนทำให้เป็นเหตุจูงใจให้คนมาร่วม

ช่วงไข้หวัดนกระบาดหนัก ระบบการเลี้ยงจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ให้เป็นระบบปิด ซึ่งก็หมายถึงว่าต้องลงทุนเพิ่ม เกษตรกรที่ลงทุนเพิ่มได้ก็ลงไปถ้าไม่มีปัญหา แต่ยังมีเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่ไหว

เมื่อไม่ไหวก็หมายถึง…ถูกเลิกสัญญา

มองในแง่ดีการอัพเกรดเทคโนโลยีก็ทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่ข้อมูลในมือทั้งสองฝ่าย บริษัทกับเกษตรกรว่าตรงกันหรือเปล่า หากเกษตรกรที่มาเซ็นสัญญารู้ด้วยว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปแบบนี้แบบนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะมีข้อมูลครบในมือเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ลักษณะการเกษตรแบบคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งไม่ได้มากินรวบเบียดบังวิถีเกษตรกรไทยในภาพใหญ่ให้ล่มสลาย แต่ก็ไม่ใช่ทางออกของเกษตรกรไทยที่ทำให้ลืมตาอ้าปากได้เต็มที่

ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

หลายๆ คนพยายามโฆษณาว่าวิธีนี้แหละจะมาแก้ปัญหาเกษตรกร เพราะว่าคล้ายเป็นการประกันรายได้ ประกันราคา อะไรต่างๆ…แต่ความจริงไม่ใช่

“ลักษณะการลงทุนคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งจะคล้ายเป็นเหมือนเอสเอ็มอี เริ่มเป็นธุรกิจ เพราะว่าการลงทุนโรงเรือนเลี้ยงไก่ไม่ใช่ไม่กี่ตังค์นะ ส่วนใหญ่ก็เป็นล้าน ใช่ว่า…เกษตรกรทุกรายจะมาลงทุนได้”

ประเด็นสำคัญ มองอย่างเป็นธรรม…ถ้าสัญญาเป็นธรรมมีความกระจ่างชัด กระจายความเสี่ยงกันอย่างเหมาะสม อาจจะดีกว่าที่จะปล่อยให้แต่ละฝ่ายทำกันไปอย่างนี้

คอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งไม่ใช่เป็นความชั่วร้าย แต่ภาครัฐหรือองค์กรที่เป็นกลางจะต้องเข้ามาติดตามดูแล คอยควบคุมกำกับ …สัญญากลางจะต้องเป็นยังไง และเมื่อมีความเสี่ยงคู่สัญญาเกิดความเสียหาย จะต้องชดเชย หรือไม่ต้องมีการชดเชยอย่างไรบ้าง หรือการให้ลงทุนระยะยาว แต่สัญญาเป็นระยะสั้น เป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน

สำหรับบริษัทไหนที่อ้างว่า…สัญญาเป็นความลับ เปิดเผยไม่ได้ เพราะกลัวคู่แข่งจะลอกเลียนแบบ ดร.วิโรจน์ มองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล คุณจะทำธุรกิจยังไงบนความเคลือบแคลงสงสัย

สัญญาคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งที่ลึกลับ…อาจตีความได้ว่าเป็นความไม่โปร่งใส เป็นสัญญาทาสที่พ่อค้าเจ้าสัวเอาไว้เบียดบัง หากินกับหยาดเหงื่อเกษตรกร.


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 ในชื่อ คอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง เกษตรสัญญาทาส