“รถไฟฟ้า”ขายฝัน…จ่ายจริงอ่วม!

ปี2013-02-26

เกาะติดศึกชิงเสาชิงช้า/ “รถไฟฟ้า”ขายฝัน…จ่ายจริงอ่วม!

กลายเป็นอีกนโยบายที่ต้องจับตาและพิจารณากันให้ดีๆ ในเวทีผู้ว่าฯกทม. ว่าด้วยเรื่องของนโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส

โดยเบอร์ 9 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายรถไฟฟ้าบีทีเอส 20 บาทตลอดสาย ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ขณะเบอร์ 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชูนโยบายจะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายจากอ่อนนุชถึงแบริ่ง และจากตากสินถึงบางหว้า จากราคา 15 บาท เหลือ 10 บาท และจะลดค่าโดยสารให้เหลือ 10 บาทตลอดสายภายใน 4 ปี

ขณะที่ในความเป็นจริงเมื่อเร็วๆ นี้ ทางบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอสซี ได้ออกข่าวระบุรถไฟฟ้าบีทีเอสมีแผนจะปรับขึ้นราคาค่าโดยสารในเดือนเม.ย.นี้ (ขณะที่ค่าไฟฟ้าก็เตรียมประกาศขอขึ้นด้วยเร็วๆ นี้) อันเนื่องมาจากต้องแบกรับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ประกอบกับต้นทุนค่าไฟ ค่าซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 80%

รวมทั้งบีทีเอสไม่ได้ขึ้นค่ารถมาตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่สัญญาสัมปทานกำหนดเพดานให้จัดเก็บที่ 18-51 บาท ปัจจุบันที่ค่ารถอยู่ที่ 15-40 บาท จึงยังมีช่องว่างที่จะปรับได้อีก 25% ซึ่งคาดจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ว่าจะเก็บอีกเท่าไร และสามารถปรับราคาได้เอง โดยเพียงแจ้งทางกทม. (ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเดินรถ) ให้รับทราบตามขั้นตอนเท่านั้น

นโยบายของผู้สมัครที่ถูกชูขึ้นว่าจะลดต่าโดยสาร ขณะที่ บีทีเอสซี ผู้เดินรถระบุความเป็นจริงในปัจจุบันที่จะต้องปรับขึ้นค่ารถ ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องลดค่าโดยสารบีทีเอสนี้ ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุเรื่องลด 20 บาทตลอดสาย ในต่างประเทศเขาก็ทำ โดยทางภาครัฐมีการชดเชยค่าโดยสารให้ตั้งแต่ 50-100% เต็ม ซึ่งทำให้รถขนส่งสาธารณะถูกลง คนนิยมใช้มากขึ้น

แต่กระนั้นดูแล้วขัดแย้งกันชอบกล เพราะทางภาครัฐของบ้านเรากลับมีนโยบายสวนทางกันเอง ในเรื่องรถคันแรก ทำให้คนซื้อรถกันมากขึ้น ซึ่งไปขัดแย้งกับการที่จะจูงใจให้คนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น

siamrath20130224

ขณะที่ นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คนปัจจุบันระบุ แนวคิดเก็บ 20 บาทตลอดสาย ต้องรอให้โครงข่ายสร้างครบ 12 สายทางก่อน โดยจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสัมปทานเดิม ซึ่งที่คิดไว้คือ จะเริ่มในสายแรก สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่จะเปิดบริการปี 57

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสายทางที่รัฐบาลคุมเรื่องค่าโดยสารเอง เนื่องจากจ้างเอกชนมาบริหารการเดินรถไฟฟ้า โดยจะเก็บ 20 บาทตลอดสาย ระยะทาง 23 กม. แต่…เมื่อเข้าระบบรถไฟใต้ดิน หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็จะต้องเสียตามปกติ

อย่างไรก็ตาม มีความคิดเห็นจากอดีตบิ๊กในเสาชิงช้าว่า นโยบาย 20 บาทตลอดสาย อาจทำได้ในช่วงแรก แต่เชื่อว่าจะไม่ยั่งยืน สุดท้ายรัฐบาลเองที่จะต้องแบกรับภาระหนี้ในอนาคต ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลก็จะต้องสนับสนุนเงินค่าโดยสารทุกปีที่เป็นส่วนต่าง ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศที่จะนำมาชดเชยให้ผู้โดยสารในกทม.

รวมทั้งยังมีผู้วิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า สมัยรัฐบาลไทยรักไทยเคยจะเก็บ 15 บาทตลอดสายแต่ทำไม่ได้มาแล้ว เพราะมีปัญหากับผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส และรฟม.ที่ขณะนี้เก็บตามระยะทาง ที่มีค่าโดยสารสูงสุด 40 บาท

หากไปเก็บ 20 บาท จะทำให้ผู้รับสัมปทานทั้ง 2 มีรายได้ลดลง ซึ่งจะทำให้ภาครัฐต้องชดเชยค่าโดยสารให้ หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องซื้อคืนกิจการ ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เงินนับเป็นแสนล้าน เรียกว่าเงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้สามารถนำไปต่อขยายรถไฟฟ้าสายชานเมืองได้หลายสายทาง

ที่สำคัญจะไม่เป็นธรรมกับคนที่ขึ้นใกล้ๆ ต้องจ่ายแพงเท่ากับคนนั่งไกล ซึ่งน่าคิดเช่นกัน… รวมทั้งในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าอีกยาวกว่า 500 กม. หากจะคิดในอัตราเดียวกันก็ยังน่าสงสัย…

อีกทั้งแม้เมื่อสร้างรถไฟฟ้าได้ครบทุกสายแล้ว จะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นถึง 6 ล้านคน/วัน (ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7 แสนคน/วัน) ก็ยังไม่มีกำไรอยู่ดี เพราะเงินรายได้เพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนรถไฟฟ้าทุกสาย สูงถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเรียกว่าแค่ดอกเบี้ยก็ยังไม่พอจ่าย อีกทั้งยังต้องจ่ายค่าบริหารจัดการแต่ละปีอีก

เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องกลั่นกรอง ว่าที่เขาบอกเรามา บอกจริง?และบอกหมดหรือไม่?…


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 ในชื่อ เกาะติดศึกชิงเสาชิงช้า/ “รถไฟฟ้า”ขายฝัน…จ่ายจริงอ่วม!