สำนักงบหนุนพ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ชี้ก่อหนี้ผูกพันงบฯมีข้อจำกัด สศช.ระบุสร้างความเชื่อมั่น นักวิชาการ-ส.ว.ค้าน ใช้เงินไม่ผ่านระบบนิติบัญญัติ
วันนี้ (28 มี.ค.) สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณาวาระ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีเสียงสะท้อนอย่างหลากหลายในการกู้เงินดังกล่าวมีความจำเป็นหรือไม่ และการกู้เงินยังสร้างภาระหนี้ระยะยาวให้กับประเทศไปเป็นระยะเวลา 50 ปี
นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องใช้วิธีการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากประเทศมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ที่มีรายจ่ายประจำค่อนข้างสูง นอกจากนั้นยังมีงบลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี ดังนั้นโอกาสที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายๆ โครงการ โดยใช้งบประมาณปกติเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
สำหรับวิธีการใช้การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ก็ถือว่ามีข้อจำกัดเช่นกัน เนื่องจากในแต่ละปีจะสามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้เพียงไม่กี่โครงการเท่านั้น จึงไม่เหมาะสมในการใช้กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หากตั้งเป็นการผูกพันงบประมาณข้ามปีก็อาจกระทบกับงบประมาณหน่วยงานอื่นๆ ได้
“การกู้เงินในโครงการ 2 ล้านล้าน มีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป คือ จะกู้ตามโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างในแต่ละปี หากโครงการยังไม่มีความพร้อมหรือติดขัด ก็จะยังไม่มีการกู้เงินในส่วนนั้น” นายวรวิทย์ กล่าว
สศช.ชี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นลงทุน
ด้าน นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลในการเสนอความคิดเห็นและคัดกรองโครงการที่มีความจำเป็น ซึ่งบรรจุอยู่ในเอกสารแนบท้าย พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่มีความสำคัญ ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและช่วยให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ที่เห็นทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะเวลา 7-10 ปี เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีการกำหนดแหล่งเงินทุนรองรับแน่นอน และ สศช. มีหน้าที่ศึกษาและให้ความเห็นประกอบโครงการต่างๆ ตามขั้นตอนปกติ ซึ่งหมายความว่าในขั้นตอนที่จะมีการเดินหน้าก่อสร้างโครงการต่างๆ หน่วยงานเจ้าของโครงการ ต้องเสนอโครงการให้ ครม.เห็นชอบ
ส.ว.ค้านกู้ 2 ล้านล้านเชื่อขัดรธน.
นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา กล่าวในงานเสวนา “มุมมองวุฒิสภา : ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท” ว่า เห็นด้วยกับโครงการลงทุนที่รัฐบาลเตรียมที่จะดำเนินการ แต่ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้วิธีการกู้เงิน ซึ่งอาจจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 169 และ เห็นว่า การใช้จ่ายเงินผ่านกฎหมายดังกล่าว จะเป็นการพลิกโฉมการใช้เงินภาครัฐ ซึ่งจะไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ
“ผมมั่นใจว่า ร่างกฎหมายนี้ จะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหมวด 8 มาตรา 166-170 และ จะต้องพบกันที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่ ขณะนี้ ก็กำลังล่ารายชื่อสมาชิกวุฒิสภาให้ครบ 65 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความ”นายคำนูณ กล่าว
นอกจากนี้ ยังไม่เห็นว่า รัฐบาลได้พยายามเต็มที่ในการที่จะใช้จ่ายเงินลงทุนดังกล่าว ผ่านระบบงบประมาณประจำปีปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลก็มีคะแนนเสียงสนับสนุนในสภาฯในการดำเนินโครงการอยู่แล้ว
เขากล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณางบลงทุนในแต่ละปีที่รัฐบาลระบุว่า จะใช้ประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี เมื่อบวกกับ งบประมาณเพื่อการลงทุนในระบบงบประมาณตามปกติอีก 3 แสนล้านบาท ในทางการเมือง ก็เท่ากับว่า รัฐบาลชุดนี้ จะมีเม็ดเงินที่จะใช้จ่ายถึง 7 แสนล้านบาทต่อปี ในระยะ 7 ปีข้างหน้า ถือเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการใช้จ่ายเงิน
ทีดีอาร์ไอชี้รัฐตีเช็คเปล่าใช้เงินนอกงบ
ด้าน นายสมชัย จิตสุชน ผู้แทนสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่า ไม่ค้านในหลักการที่รัฐบาลจะลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะเงินไหลเข้า ทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ต้นทุนการลงทุนต่ำ แต่มีข้อกังวล ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับแนวทางการใช้จ่ายเงิน เพราะเท่าที่พิจารณาร่างกฎหมายจะพบว่า หากบัญชีแนบท้ายไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย ก็เท่ากับว่าเป็นการใช้จ่ายเงินเหมือนกับนอกงบประมาณ หรือ เป็นการจ่ายเช็คเปล่า ที่สามารถโยกงบการใช้จ่ายได้ และไม่มีการันตีว่า งบที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องผ่านสภาอีกหรือไม่
เขากล่าวว่า ความต่อเนื่องของการลงทุนถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะดีต่อนักลงทุนที่จะสามารถวางแผนการลงทุนได้ แต่คำถามคือว่า ถ้าเป็นการใช้จ่ายผ่านระบบงบประมาณปกตินั้น จะสามารถทำได้ต่อเนื่องเช่นเดียวกันหรือไม่ เพราะเท่าที่พิจารณาบางโครงการในแผนลงทุนนั้น จะพบว่า สามารถทำการลงทุนที่ต่อเนื่องได้ ฉะนั้น ก็สะท้อนว่า การใช้จ่ายผ่านงบประมาณปกติก็สามารถทำให้การลงทุนต่อเนื่องได้
สำหรับกรณีข้อกังวลเรื่องหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นนั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดหรือที่มาของระดับหนี้สาธารณะที่กระทรวงการคลังได้ประเมินว่า จะไม่เกินกรอบความยั่งยืนการคลังที่ 50%ต่อจีดีพี แต่ในส่วนทีดีอาร์ไอประเมินว่า จะสูงถึง 60%ต่อจีดีพี
“ที่เตะตามากๆ คือ เงิน 1.2-1.3 ล้านล้านบาท หรือ 65% ของ 2 ล้านล้านบาทนั้น เป็นงบที่อยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ไม่มั่นใจว่า การบริหารจัดการงบตัวนี้จะทำได้ดีหรือไม่” เขากล่าว
ปลัดคลังลั่นลงทุนคุ้มค่าจีดีพีขยายตัว
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นการพลิกระบบเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ โดยภาพใหญ่ของการลงทุนจะเกิดขึ้น หลังจากที่กฎหมายนี้ผ่านการพิจารณา
“ผลของการลงทุนนี้ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตอย่างยั่งยืน มีอัตราการเติบโตพื้นฐานเฉลี่ย 4.5% ตลอดระยะเวลา 7 ปี และ เพิ่มขึ้นอีก 1% ขณะเดียวกันภาระหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50%ต่อปี ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะไม่เกิน 1.9%ต่อจีดีพี อัตราเงินเฟ้อเพิ่ม 0.3% แต่เราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านน้ำมันได้ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี ถ้าคิดระยะ 10 ปี ก็เท่ากับประหยัดไป 1 ล้านล้านบาทแล้ว”
เขากล่าวด้วยว่า การกำหนดกรอบหนี้สาธารณะไว้ในระดับไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี จะทำให้เรามีศักยภาพที่จะกู้เงินได้อีก กรณีที่เศรษฐกิจอาจจะเติบโตได้ไม่ตามเป้าหมาย ซึ่งอาจจะมีปัญหาจากปัจจัยต่างๆ แต่ถ้ามีปัญหาถึงขั้นเศรษฐกิจช็อก เราก็สามารถชะลอการกู้เงินได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราสามารถบริหารจัดการได้
สำหรับเหตุผลที่ต้องออกเป็นพ.ร.บ.เพื่อกู้เงินดังกล่าว เขากล่าวว่า ไม่ได้เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้เงินในงบประมาณ แต่เห็นว่า เมื่อเราต้องการลงทุนครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมานาน เราจำเป็นต้องมีแนวทางที่จะต้องทำให้การลงทุนได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง
“เมื่องบลงทุนด้านการคมนาคมไปใส่ไว้ในเงินกู้นี้ ต่อไปนี้ งบประมาณที่จะจัดสรรให้แก่กระทรวงคมนาคมด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเราก็จะหายไป แต่จะเอางบส่วนนี้ ไปลงทุนด้านสังคม หรือ สวัสดิการแก่ประชาชนของประเทศ”
ย้ำระบบจัดซื้อจัดจ้างเหมือนงบปกติ
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชันในโครงการนั้น เขากล่าวว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องเหมือนกับเงินในงบประมาณ จะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ ไม่มีการจัดจ้างวิธีพิเศษ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้จัดให้มีการปรับปรุงวิธีการคำนวณราคากลางที่มีความโปร่งใสและตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น เปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับขั้นตอนการประมูลทั้งหมดด้วย
ที่สำคัญไม่ต้องห่วงเรื่องการโยกงบประมาณ เพราะในบัญชีแนบท้ายมียุทธศาสตร์การใช้จ่ายเงินกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดก็จะเป็นโครงการลงทุนด้านคมนาคมเท่านั้น
“การที่เรามีมาตราของกฎหมายที่น้อย ก็เพราะเราจะใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างเหมือนกันกับการใช้จ่ายเงินในงบประมาณ ส่วนจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ไม่ได้ผิดกฎหมาย”
“เฉลิม-สุนัย” รับบทองครักษ์ “ยิ่งลักษณ์”
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ในการเตรียมรับมือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท วันที่ 28-29 มี.ค. นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะกล่าวเปิดในภาพรวม ถึงความจำเป็นของการออกร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม จะเป็นผู้ชี้แจงในภาพรวม โดยมี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุมเกมในสภา
ทีมยุทธศาสตร์พรรคได้วางตัวให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชี้แจงเป็นระยะๆ กรณีที่ถูกพาดพิง โดยจะชี้แจงในลักษณะภาพรวมกว้างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนั่งบัลลังก์ตลอด เนื่องจากมีห้องส่วนตัวเพื่อทำงานด้านอื่นและฟังการประชุมได้
สำหรับบุคคลที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ เป็นหลัก ยังคงเป็นหน้าที่ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ และทีมนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม และนาย สุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำหน้าที่ควบคุมการประชุม คอยประท้วง หากฝ่ายค้านอภิปรายนอกเรื่อง เช่น ไปพาดพิง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ตั้งวอร์รูม 2 ชุดตอบโต้ฝ่ายค้าน
นอกจากนี้ทีมยุทธศาสตร์พรรค ยังได้เปิดห้อง 3310 อาคารรัฐสภา เพื่อตั้งเป็นวอร์รูม ในการมอนิเตอร์การชี้แจงในสภา และประเด็นต่างๆ ที่จะมีตอบโต้กันทางการเมืองของบาท โดยให้ นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นั่งประจำห้องดังกล่าวตลอดทั้ง 2 วัน ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็จะมีวอร์รูม อีกหนึ่งชุด ซึ่งนำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และทีมยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายนพดล ปัทมะ, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสุชน ชาลีเครือ และ นายชูศักดิ์ ศิรินิล
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 28 มีนาคม 2556 ในชื่อ สำนักงบ-สศช.หนุน2ล้านล้าน นักวิชาการค้าน