ทีดีอาร์ไอตอบโจทย์’โกง-การศึกษา-รายได้-การคลัง’

ปี2013-04-08

ทีดีอาร์ไอมุ่งตอบ 4 โจทย์ใหญ่ “โกง-การศึกษา-รายได้-การคลัง”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( ทีดีอาร์ไอ) คนใหม่
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( ทีดีอาร์ไอ) คนใหม่

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คนใหม่ กล่าวถึงโจทย์ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในระดับรายได้ปานกลางมานานแล้ว จนถูกสงสัยว่าติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” และประเทศไทยกำลังเป็นสังคมสูงอายุ มีคนแก่ ขณะที่ประเทศไทยยังมีรายได้ปานกลางไม่สามารถถีบตัวไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูงได้

ทั้งนี้เมื่อเป็นสังคมของคนแก่ ก็มีค่าใช้จ่ายมาก มีการเจ็บป่วย ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาประเทศชะงักได้ เป็นความเสี่ยงในระยะยาว เป็นประเทศที่แก่แต่ไม่รวย จึงมีโอกาสที่จะจนลงเมื่อแก่

“ปัญหามาจากนโยบายด้านเศรษฐกิจ ตัวอย่างหนึ่งคือ เราไม่พัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง แต่ไปซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศมา และถ้าเราจะพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองก็มีปัญหาว่า การศึกษาของเราพร้อมหรือไม่ เพราะเป็นโจทย์ใหญ่ว่าการศึกษาของเรายิ่งเรียนยิ่งตกต่ำ ยิ่งโง่ ขณะที่ประเทศยิ่งแก่ยิ่งจน เยาวชนยังมีความรู้น้อย ทำให้การพัฒนาประเทศในระยะยาวมีอุปสรรค ความสามารถในการแข่งขันก็จะตกลงไปเรื่อยๆ”

ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้การพัฒนาในหลายเรื่องๆ เป็นไปได้ยาก เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี ถ้าเกิดนักการเมือง เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ได้ “ใต้โต๊ะ” แต่การไปซื้อเทคโนโลยี ไปซื้อของสำเร็จเข้ามาแล้วได้ใต้โต๊ะ ก็ไม่อยากพัฒนาเทคโนโลยี หรือเรื่องการศึกษาที่มีการคอร์รัปชันวงกว้างในวงการศึกษา เช่น แป๊ะเจี๊ยะ การทุจริตสอบผู้ช่วยครู ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ผูกกันอยู่

นอกจากนี้ยังมีภาระทางการคลังขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องของประชานิยม ซึ่งขอเรียกว่า “นโยบายทางการคลังซึ่งไม่รับผิดชอบ” คิดแต่เรื่องของรายจ่าย ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาวและเป็นโจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเจอ

เมื่อโจทย์ของประเทศไทยในขณะนี้มันใหญ่ ดังนั้นภารกิจของทีดีอาร์ไอ จะตอบโจทย์ให้กับสังคมทีละส่วนๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นจะต้องไปตอบโจทย์ปัญหาใหญ่ๆ 4 เรื่อง คือ

1.ปัญหาประเทศไทยไม่สามารถยกระดับทางเทคโนโลยี ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเองได้
2.ปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ไม่มีคุณภาพและมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก
3.ปัญหาคอร์รัปชันในวงกว้าง และ
4.นโยบายที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการคลัง

ทีดีอาร์ไอจะตั้ง 4 เรื่องนี้ เป็นวาระที่ทีดีอาร์ไอ จะต้องทำวิจัย 4 หัวข้อนี้อย่างต่อเนื่องและตีแผ่เรื่องเหล่านี้ให้แตกฉาน นำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบายหรือนักการเมืองและประชาชน โดยจะทำวิจัยในระยะ 3 ปี แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว จะผลิตผลงานออกมาเป็นระยะๆ

“อย่างในเรื่องคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก คงไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น 6 เดือน หรือ 1 ปี ดังนั้นเราจึงอยากสร้างความรู้ให้กับประชาชนคุ้มกันคอร์รัปชัน จึงจะมีการทำคู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชัน ออกมาภายใน 6 เดือนนับจากนี้ ให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องคอร์รัปชันได้อย่างง่ายๆ เราจะชี้ให้เห็นว่าแทบทุกกรณีของคอร์รัปชัน เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งสิ้น ทำให้ประชาชนเกิดความสูญเสีย”

ส่วนปัญหาที่ประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง หากจะหลุดกับดักรายได้ปานกลางไปได้ ก็ต้องทำนวัตกรรมในภาคธุรกิจของเราเอง เช่น อุตสาหกรรมการผลิต ถ้าเราแค่รับจ้างผลิตสิ่งของเช่น เสื้อผ้า รองเท้าตามสั่ง ให้กับต่างประเทศอยู่อย่างนี้ มีแต่เราจะจนลงทุกวัน เพราะผู้ที่รับซื้อสินค้าจะกดราคาลงทุกปี ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ขาดทุนอยู่ไม่ได้แน่นอน

ดังนั้นต้องทำนวัตกรรม เช่น เริ่มจากง่ายๆ ก่อน คือ การประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนบริษัท ปรับระบบการผลิตให้มีการสูญเสียน้อย แล้วก็พัฒนาไปสู่การทำแบรนด์สินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ การวิจัยพัฒนาเพื่อทำให้กระบวนการผลิตสินค้าดีขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องการคลัง ทีดีอาร์ไออยากเห็นหน่วยงานที่เรียกว่า “สำนักงบประมาณของรัฐสภา” เกิดขึ้น เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีข้อมูลด้านงบประมาณเท่ากับฝ่ายรัฐบาลที่มี “สำนักงบประมาณ” คอยสนับสนุนข้อมูล จึงไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลในเรื่องการคลังได้เต็มที่

ดังนั้นการมี “สำนักงบประมาณของรัฐสภา” จะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ จึงมีความคิดที่จะตั้ง “สำนักงบประมาณของรัฐสภา” ซึ่งกำลังศึกษาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก เพื่อให้ข้อมูลกับ ส.ส., ส.ว. และประชาชน ซึ่งจะเป็นการป้องกันให้ประเทศไทยไม่มีความเสี่ยงสูงจากการไร้วินัยทางการคลัง

ขณะที่ปัญหาด้านการศึกษา ทีดีอาร์ไอพยายามศึกษาวิจัยเชิงนโยบายให้เป็นรูปธรรมว่า ทิศทางควรจะเดินไปอย่างไร ซึ่งพบว่าต้องมีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทยที่ล้าสมัย เปลี่ยนจากการเรียนแบบท่องจำ มาเป็นการทำความเข้าใจ คิดให้มาก หลักสูตรไม่ต้องมีเนื้อหามาก

ถ้าทีดีอาร์ไอทำทั้ง 4 เรื่อง ได้สำเร็จ โฉมหน้าประเทศไทยก็จะเปลี่ยนไป อย่างเรื่องการคลัง ก็จะทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในด้านการคลังน้อยลง เมื่อเกิดวิกฤติในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก แรงกระทบที่มายังประเทศไทย จะไม่ทำให้ประเทศไม่ซวนเซไปมาก เพราะเรามีภูมิคุ้มกันมีสำรองทางด้านการเงิน

ในขณะเดียวกันถ้าประเทศไทยไม่มีปัญหาคอร์รัปชัน การกำหนดนโยบายของรัฐและการดำเนินธุรกิจของภาคธุรกิจก็ง่ายขึ้น ต้นทุนทางธุรกิจไม่มีต้นทุนสูง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งเมื่อเรามีนวัตกรรม จะทำให้ประเทศไทยเราหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเสมอภาคมากขึ้นในหมู่ประชาชน มีทรัพย์สินมากพอที่จะเป็นทรัพยากรสำหรับสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไมใช่ประเทศที่แก่แล้วลำบาก แต่เป็นประเทศที่แม้แก่ แต่ก็สามารถอยู่ได้ตามอัตภาพที่เหมาะสม”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 8 เมษายน 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอตอบโจทย์’โกง-การศึกษา-รายได้-การคลัง’