อนาคตสิงคโปร์กับแรงงานต่างด้าว โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ปี2013-05-07

คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(มติชนรายวัน 3 พ.ค.2556)

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
ภาพจากอินเทอร์เน็ต

ในบรรดาประเทศอาเซียน สิงคโปร์หรือชื่อเต็มๆ ว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นประเทศเล็กที่สุดในแง่เนื้อที่ (640 ตารางกิโลเมตร เท่าๆ จ.นนทบุรี) และพลเมืองเกือบน้อยที่สุดของอาเซียน (5.3 ล้านคน น้อยกว่าลาวซึ่งมี 6.9 ล้านคน แต่มากกว่าบรูไนซึ่งมี 4 แสนคน) แต่รวยที่สุด รายได้ต่อหัวของคนสิงคโปร์ 1.7 ล้านบาทต่อปี ในปี 2555 หรือ 20 เท่าของรายได้ต่อหัวของไทย (81,000 บาท) และในบรรดาประเทศที่จัดว่าเป็นเสือเศรษฐกิจของอาเซียน สิงคโปร์ก็เป็นเสือตัวเล็กที่สุดแต่เก่งที่สุดในบรรดาเสือด้วยกัน จะเรียกว่าเป็น Super เสือก็เห็นจะได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นหนามยอกอกที่อาจทำให้สิงคโปร์เป็นเสือลำบากก็ได้ คือแรงงานและประชากร

เรื่องแรงงานต่างด้าวในสิงคโปร์เป็นเรื่องใหญ่ และน่าสนใจสำหรับคนไทยในฐานะที่จะนับญาติเป็นอาเซียนด้วยกันมากขึ้น

การที่สิงคโปร์มีประชากรและแรงงานน้อยจึงจำเป็นต้องพึ่งแรงงานจากต่างประเทศอย่างมาก

ปี 2555 สิงคโปร์มีประชากร 5.1 ล้านคน ซึ่งเป็นคนสิงคโปร์แท้ๆ 1.85 ล้านคน เป็นคนสิงคโปร์ที่เกิดที่อื่น 1.96 ล้านคน และเป็นแรงงานต่างด้าว 1.27 ล้านคน จากจำนวนแรงงานทั้งสิ้น 3.36 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37 ของแรงงานทั้งหมดของสิงคโปร์ หรือร้อยละ 58.6 ของแรงงานคนสิงคโปร์

สรุปแล้วประชากรสิงคโปร์มาจากที่อื่นมากกว่าครึ่งประเทศ

ประชากรของสิงคโปร์จำแนกออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการพำนัก คือ ประเภทแรกคือผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (Residents) ประกอบด้วย พลเมือง (รวมทั้งผู้ได้รับสัญชาติสิงคโปร์) และผู้อยู่อาศัยถาวร (Permanent Residents: PRs) และผู้ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (Nonresidents) ซึ่งหมายถึงผู้ที่เข้าเมืองชั่วคราว เช่น นักเรียนนักศึกษา หรือแรงงานต่างด้าว สำหรับผู้อยู่อาศัยถาวรนั้น ถึงแม้จะเป็นฐานะเป็นคนเข้าเมืองก็ตามแต่ได้รับสิทธิให้พำนักอยู่ในสิงคโปร์ได้เป็นการถาวร โดยได้รับสิทธิและหน้าที่ในฐานะของพลเมืองสิงคโปร์เกือบทุกประการ รวมทั้งที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลจัดและการเกณฑ์ทหาร ยกเว้นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

สำหรับแรงงานต่างด้าวจำนวน 1.27 ล้านคนนั้นประกอบด้วย แรงงานระดับวิชาชีพ (Employment Pass: EP) 173,800 คน แรงงานระดับกลาง (S Pass ผู้ที่มีรายได้เดือนละระหว่าง 1,800-2,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 47,000 บาท)) 142,400 คน และผู้ได้รับใบอนุญาตทำงาน 952,100 คน (ทำงานบ้าน 209,600 คน ก่อสร้าง 293,400 คน อื่นๆ 449,100 คน)

(ดูตารางประกอบ)

matichon20130503a
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงที่สุดในภูมิภาคและเป็นอันดับสองของโลก แค่คิดก็อึดอัดแล้วว่าจะอยู่กันอย่างไร ไปทางไหนก็มีแต่คนขวักไขว่ โชคดีที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยจึงสามารถรับประชากรจำนวนนี้ไว้ได้ ถึงกระนั้นชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ก็มองว่าแรงงานต่างด้าวคือสาเหตุสำคัญของปัญหาหลายๆ อย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์รวมถึงค่าครองชีพปรับสูงขึ้น และชาวสิงคโปร์จำนวนหนึ่งเริ่มไม่พอใจจากความแออัดในระบบขนส่งมวลชน ที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และที่สำคัญแรงงานต่างชาติเริ่มเข้ามาแย่งอาชีพ แย่งงานที่ควรจะเป็นของชาวสิงคโปร์ไป

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการปะทะกันทางวัฒนธรรมด้วย เนื่องจากสิงคโปร์มีประชากรหลายชาติ หลายภาษา ในปัจจุบันผู้อพยพส่วนใหญ่ในสิงคโปร์เป็นแรงงานชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ทำอาชีพอย่างขับรถประจำทางหรือกวาดถนน จึงมีความเป็นอยู่ การใช้ภาษา และการใช้ชีวิตต่างจากชนชั้นกลางสิงคโปร์ ซึ่งมองว่าแรงงานจีนเหล่านี้ไม่มีมารยาท มักกีดขวางถนนหนทาง และประพฤติตัวน่ารำคาญต่างๆ ที่จริงยังมีปัญหาแรงงานก่อสร้างจากบางประเทศอื่น และคนทำงานบ้านจากฟิลิปปินส์อีก

ปัญหาด้านวัฒนธรรมบางปัญหาก็นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม

ด้วยความจำเป็นต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว รัฐบาลสิงคโปร์ได้พยายามทำความเข้าใจและปลอบประชาชนของตน ในปี 2554 ปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ในวันชาติสิงคโปร์ และอดีตประธานาธิบดีลี กวน ยู เมื่อเร็วๆ นี้เตือนประชาชนว่า สิงคโปร์ต้องพึ่งแรงงานต่างชาติในการพัฒนาประเทศโดยย้ำให้ประชาชนมองการณ์ไกลเพื่อรับคนเก่งๆ เข้าประเทศและขอร้องให้ยอมรับความไม่สะดวกสบายอันเกิดจากการเข้ามาอยู่ของแรงงานต่างชาติ สำหรับแรงงานต่างด้าว เขาก็ไม่ได้หวังว่าจะให้แรงงานต่างด้าวจะต้องลืมวัฒนธรรมของตน แต่ขอร้องให้แรงงานต่างด้าวเข้าร่วมกับกิจกรรมของชาวบ้านบ้างเพื่อจะได้ปรับตัวเข้าหากัน

ก่อนหน้านั้น ในปี 2552 สิงคโปร์ได้ตั้งคณะกรรมการบูรณาการแห่งชาติ (Singapore′s National Integration Council) ขึ้นเพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และความกลมเกลียวระหว่างคนสิงคโปร์กับแรงงานต่างด้าว ต่อมาในปี 2554 จัดโครงการ การเดินทางท่องเที่ยวของพลเมืองสิงคโปร์ (Singapore Citizenship Journey) เพื่อจัดการปฐมนิเทศให้กับแรงงานต่างด้าว รวมทั้งมีสมาคมประชาชนจัดกิจกรรมในทำนองเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังจำเป็นต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว อีกต่อไป

เมื่อต้นปี 2556 รัฐบาลสิงคโปร์เสนอสมุดปกขาวประชากร (A Sustainable Population for A Dynamic Singapore: Population White Paper) ผ่านรัฐสภาและเผยแพร่ต่อประชาชน โดยชี้ให้เห็นปัญหาประชากรของสิงคโปร์และตั้งเป้าหมายการเพิ่มจำนวนประชากรเป็น 6.9 ล้านคน ในปี 2030 หรืออีกเพียง 17 ปีข้างหน้า โดยสมุดปกขาวนั้นได้กล่าวชัดเจนว่าทางเลือกการเพิ่มประชากรของสิงคโปร์คือการเพิ่มอัตราเจริญพันธุ์และการเพิ่มแรงงานต่างด้าว

“เพื่อไม่ให้ประชากรของเราลดลง เราจะรับพลเมืองใหม่อีกปีละ 15,000-25,000 คน โดยจะทบทวนอัตราการเข้าเมืองเป็นระยะๆ ขึ้นกับคุณสมบัติของผู้สมัคร อัตราเกิดของประชากรสิงคโปร์ และความจำเป็นที่เปลี่ยนแปลงไป”

คนสิงคโปร์ส่วนหนึ่งไม่ปลื้มกับนโยบายเพิ่มประชากรโดยการนำเข้านี้เท่าใดนัก มีการออกมาเดินขบวนประท้วง รวมทั้งใช้สื่อออนไลน์ เพื่อชักชวนผู้คนให้ออกมาแสดงพลังต่อต้านรัฐบาล

ล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาชาติ นายกอ บุน วัน ได้แถลงในรัฐสภาว่า รัฐบาลจะลดการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ซึ่งกลับคำพูดของรัฐมนตรีคนก่อน คือ นายมา โบ ตัน ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ว่ารัฐบาลควรนำเข้าแรงงานต่างชาติมากขึ้นเท่าที่ทรัพยากรของประเทศจะอำนวย

ในด้านการส่งเสริมให้มีลูกนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ลองมาหลายวิธีแล้วแต่ไม่ได้ผล ซึ่งในสมุดปกขาวยอมรับว่าคงไม่หวังว่าจะทำให้อัตราเจริญพันธุ์ (ซึ่งลดลงมาเหลือเพียง 1.15 ในปัจจุบัน-ตาราง) กลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.1 ได้ในเวลาอันสั้น ดังนั้น จึงควรนำเข้าคนหนุ่มสาวด้วยเพื่อเติมเต็มในส่วนของประชากรวัยรุ่น

สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือการย้ายถิ่นออกของคนสิงคโปร์ ณ เดือนมิถุนายน 2554 มีคนสิงคโปร์อยู่ต่างประเทศ 192,300 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานระดับสูง กระจายอยู่ในอังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และจีน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มคนสิงคโปร์เลือกไปอยู่ที่อื่น โดยยอมสละสัญชาติสิงคโปร์ไปเลยเฉลี่ยปีละ 1,200 คน นอกจากนั้นแล้ว การสำรวจกลุ่มวัยรุ่นพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้ที่ถูกสำรวจอยากไปทำมาหากินที่อื่น ถ้ามีโอกาส

อนาคตของสิงคโปร์คงไม่มีทางเลือกที่จะต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวไปอีกนาน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ อนาคตสิงคโปร์กับแรงงานต่างด้าว โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์