นักวิชาการเสนอเก็บภาษีน้ำอัดลมช่วยระบบสุขภาพ

ปี2013-07-02

นักวิชาการเสนอเก็บภาษีน้ำอัดลม- ฟาสต์ฟู้ด-โทรศัพท์-สินค้าฟุ่มเฟือย เป็นแหล่งเงินใหม่เข้าระบบประกันสุขภาพ ชี้ต้องมีระบบเดียวเดินตามแนวทางสปสช. ไม่เอาการร่วมจ่าย แต่ต้องเป็นการ “add ons” พุ่งเป้าพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีการเสวนาสาธารณะ เรื่อง “คิดใหม่ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย” โดย นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การคิดใหม่ในเรื่องระบบประกันสุขภาพของไทยอาจเน้นใน 3 เรื่องหลัก คือ

1.ควรศึกษาความเป็นได้ในการแสวงหาแหล่งการคลังสุขภาพอื่นๆ เพื่อใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่นเดียวกับภาษีทั่วไปที่เป็นแหล่งการคลังสำคัญของระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน อาทิ การเก็บภาษีธุรกรรมจากตลาดหลักทรัพย์ การเก็บภาษีจากอาหารที่ทำลายสุขภาพ เช่น น้ำอัดลมหรือฟาสต์ฟู้ด นอกจากนี้ อาจต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีจากการเดินทางโดยเครื่องบิน หรือการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ โทรคมนาคม โดยเป็นการเก็บจากผู้ประกอบกิจการไม่ใช่ผู้ใช้บริการ

“การที่ต้องแสวงหาแหล่งคลังใหม่ๆ ในเรื่องของการเก็บภาษีจากส่วนต่างๆ นั้น ควรมีการระบุให้ชัดเจนว่านำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ เหมือนกับที่มีการระบุว่านำภาษีเหล้า บุหรี่ มาใช้เป็นกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ แทนที่จะใช้แหล่งเงินจากภาษีทั่วไปเพียงอย่างเดียว เพื่อที่ในอนาคตหากมีวิกฤติเศรษฐกิจที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือรายได้ของรัฐไม่เพียงพอจะได้ไม่ต้องเกิดปัญหากับการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพ” นพ.ภูษิต กล่าว

2.ภาระโรคของประเทศไทยและสภาพการเจ็บป่วยของประชาชนไทย ทิศทางเป็นการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้น องค์กรประกันสุขภาพต่างจึงต้องลงทุนในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนทุกกลุ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 3.พัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เพราะว่าตัวเลขเมื่อปี 2555 ยังมีกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีหลักประกันสุขภาพอีกกว่า 2 ล้านคน แต่ รพ.ของรัฐต้องให้บริการในการรักษาพยาบาล โดยรวมก่อภาระทางการเงินให้กับรพ.หลายแห่ง โดยเฉพาะรพ.ชายแดนและรพ.ในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก

3 กองทุนยังเหลื่อมล้ำ
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยในปัจจุบันที่มีอยู่ 3 กองทุน ได้แก่ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการยังมีความเหลื่อมล้ำ 3 มิติ คือ สิทธิประโยชน์ คุณภาพในการรักษาพยาบาลและค่าเบี้ยประกัน ซึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำต้องมีระบบประกันสุขภาพระบบเดียว

โดยไม่จำเป็นต้องรวม 3 กองทุน โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่บริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นแกนหลักในการพัฒนาระบบ โดยต้องจัดให้ได้รับชุดสิทธิประโยชน์กลางที่เหมือนกันในทุกกองทุน แต่หากกองทุนใดต้องการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมก็สามารถดำเนินการได้โดยระบุเป็นเงื่อนไขของสิทธิพิเศษ (add ons) โดยทุกกองทุนจ่ายเงินด้านสุขภาพให้ สปสช. เป็นผู้บริหารจัดการ ทั้งนี้ ในเรื่องของการร่วมจ่ายของผู้ป่วย หรือ co-payment ถ้าเป็นระบบงบประมาณปลายปิดอย่างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือประกันสังคมไม่มีความจำเป็น เนื่องจากไม่ได้ช่วยเรื่องการเงินของระบบ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า การออกแบบระบบประกันสุขภาพที่ดี ควรเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็ง โดยต้องทำให้ทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะให้ประชาชนไปใช้บริการที่สถานพยาบาลปฐมภูมิก่อนที่จะไปใช้บริการสถานพยาบาลใหญ่ๆ ซึ่งทั้ง 3 กองทุนจะต้องหาวิธีการจ่ายเงินที่ช่วยให้หน่วยบริการปฐมภูมิเข้มแข็ง เช่น การจ่ายงบประมาณให้หน่วยบริการต้องเอื้อให้เกิดนวัตกรรมในการดูแลประชาชน จากนั้นพัฒนาระบบการส่งต่อ ที่เป็นเครือข่ายและยอมรับว่าจะรับส่งต่อภายใต้กติกาการเงินที่เหมือนกันในทุกกองทุน ที่สำคัญ หน่วยบริการปฐมภูมิต้องมีทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ใช่ผูกขาดโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ชี้คุมค่าใช้จ่ายรายหัวผิด
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพตั้งแต่แรกเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพ ถือเป็นแนวคิดที่ผิดและมีผลกระทบมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากทำให้การกำหนดเป้าหมายและนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพไม่ตรงจุด เช่น การกดค่าหัวของ 30 บาท ให้ต่ำตั้งแต่ต้น ในระยะต่อมากลับนำไปสู่การเพิ่มค่าหัวในอัตราที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลติดลบมากขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับสภาพความเป็นจริง เพราะต้องอย่างลืมว่าการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบ จะต้องเชื่อมโยงไปถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ภายหลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบันขึ้นมาบริหารประเทศ ก็มีแนวคิดในการแช่แข็งค่าหัว 30 บาท ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฟังแล้วค่อนข้างงงเพราะนั้นไม่ใช่การนำไปสู่ประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ ตามที่รัฐบาลได้ตั้งคำขวัญไว้ อย่างไรก็ตามแม้หลายคนจะกังวลว่าหากมีการใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ซึ่งสูงกว่ารายได้รวมของประเทศจะทำให้ระบบไม่สามารถอยู่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วตนเห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเสริมสร้างระบบป้องกันรักษาโรค เพราะจะส่งผลให้ในระยะยาวรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินงบประมาณจำนวนมากในการรักษา ซึ่งในอนาคตประเทศไทยกำลังมุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุ การวางระบบในการส่งเสริมป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ปรับระบบให้สอดคล้อง
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพนั้น นอกจากเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาและการให้บริการมากขึ้นแล้วนั้น ประเด็นสำคัญต้องมุ่งเน้นไปที่เรื่องการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดสรรและวางระบบ เพราะในอนาคตอย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะต้องพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย หากไม่มีการปรับระบบให้เหมาะสม ระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาได้ “ส่วนประเด็นการรวมกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนนั้น ตามกฎหมายได้วางระบบไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ตัวระบบต้องการให้ทั้งหมดมาอยู่ใต้การบริหารจัดการของ สปสช. ซึ่งตัวสิทธิประโยชน์ยังคงขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ดูแล แต่การรวมกองทุนทั้ง 3 นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเห็นว่าการทำงานควรเป็นแบบบูรณาการมากกว่า” นพ.วินัย กล่าว

อนึ่ง งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในปี 2554 ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณ 100,601.90 ล้านบาท ผู้มีสิทธิ 48.12 ล้านคน คิดเป็น 2,091 บาทต่อคน ประกันสังคม ราว 25,361.70 ล้านบาท ผู้มีสิทธิ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 2,562 บาทต่อคน และสวัสดิการข้าราชการ 61,844.27 ล้านบาท ผู้มีสิทธิ 4.4 ล้านคน หรือ 14,056 บาทต่อคน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 กรกฎาคม 2556