โครงการรับจำนำข้าวปี 2554/55 รัฐบาลชุดนี้โดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้กำหนดให้มีการรับจำนำข้าวเปลือกประเภทต่างๆ ในราคาสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 18,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท เป็นต้น ซึ่งราคาที่ว่านี้ สูงกว่าราคาตลาด 20-30%
ที่สำคัญคือ รัฐบาลมีนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกโดยไม่จำกัดปริมาณ ต้องเตรียมเม็ดเงินมหาศาลถึง 4.1 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการนี้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
โดย นายอัมมาร สยามวาลา กับ นายนิพนธ์ พัวพงศกร สองนักวิชาการเกียรติคุณจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉายภาพให้เห็นว่าชาวนาที่ได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวคือชาวนารวย และฐานะปานกลาง ส่วนรายเล็กที่ยากจนซึ่งเป็นชาวนาส่วนใหญ่ได้ประโยชน์น้อยมาก และจะนำไปสู่ภาระทางการคลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อข้าวไทยราคาสูง สิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์กลายเป็นจริงคือ ไทยได้สูญเสียตลาดส่งออกข้าว ตลาดแรก คือ ตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิที่ครองแชมป์มากว่า 20 ปีเนื่องจากเก็บไว้ในโกดังเป็นเวลาหลายเดือนทำให้หมดความหอม ข้าวหอมมะลิที่เคย ส่งออกได้ในราคาสูงกว่าตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐกลายเป็นข้าวหอมคุณภาพต่ำ ราคาอาจลดเหลือ 700-900 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
ทั้งยังสูญเสียตลาดส่งออกข้าวนึ่งที่ไทยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ผู้ประกอบการไทยใช้เวลากว่า 40 ปีในการพัฒนาตลาด เพื่อส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยระหว่าง ปี 2552-54 ราคาข้าวนึ่งสูงถึงตันละ 567 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าข้าวขาว 5% ตันละ 35 เหรียญสหรัฐ การส่งออกข้าวนึ่งจึงสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยในปี 2553 ไทยส่งออกข้าวนึ่ง 3.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 53,866 ล้านบาท
น่าเสียดายที่โครงการรับจำนำข้าว ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกไม่สามารถหาซื้อข้าวเปลือกมาทำข้าวนึ่งส่งออกได้
เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อระบบการค้าข้าวที่ภาคเอกชนเคยแข่งขันอย่างเสรีถูกทำลายแล้วเปลี่ยนมาสู่ระบบการค้าข้าวของรัฐ ที่ต้องอาศัยเส้นสายทางการเมือง ประเทศไทยจึงเปลี่ยนจากผู้ผลิตและค้าข้าวคุณภาพที่สูงที่สุดในโลกมาเป็นข้าวคุณภาพต่ำทันที เพราะรัฐบาลไม่ได้ซื้อข้าวตามคุณภาพเหมือนกับพ่อค้าเอกชน
ผลกระทบจากการการดำเนินโครงการรับจำนำชัดมากขึ้น เมื่อน.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย แถลงถึงยอดส่งออกข้าวไทยในปี 2555 พบว่า ปริมาณ ส่งออกรวม 6.94 ล้านตัน ลดลง 35% เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่ 10.64 ล้านตัน โดยมีมูลค่า 147,122 ล้านบาท ลดลง 24% จากปี 2554 ที่มีมูลค่า 192,742 ล้านบาท
ขณะเดียวกันข่าววงในระบุว่ามีการลดราคาแข่งกับข้าวจากอินเดีย จึงเป็นปัจจัยฉุดราคาข้าวในตลาดโลกให้ลดต่ำลง ประกอบกับความต้องการนำเข้าข้าวจากผู้ซื้อรายใหญ่อย่างจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ลดลง ทำให้เวียดนามมาชิงตลาดข้าวไทย อีกทั้งประเทศ ผู้บริโภคข้าว หันมาให้ความสำคัญกับนโยบายพึ่งพาผลผลิตในประเทศ และความผันผวนจากค่าเงินบาท ทำให้กระทบต่อการส่งออก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในที่สุดเอกชนต้องผันตัวไปเป็นนายหน้าผู้จัดหาข้าวให้ ผู้ส่งออกจากประเทศอื่น เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวไทยได้รับความไว้ใจจากผู้ค้าสูง และเห็นว่าป่วยการที่จะแข่งประมูลข้าวรัฐบาลเพื่อส่งออก
เมื่อโครงการรับจำนำปีแรกสิ้นสุดลง รัฐบาลได้ประกาศรับจำนำข้าว ปี 2555/56
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ก็ฟันธงทันทีว่าโครงการนี้จะขาดทุนราว 2.1 แสนล้านบาท ด้าน ทีดีอาร์ไอคาดการณ์ไว้ที่ 1.7 แสนล้านบาท นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เคยให้ข้อมูลไว้ที่ 1.1 แสนล้านบาท ด้านกระทรวงการคลัง คาดไว้ว่าที่ 70,000-100,000 ล้านบาท
ขณะที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเผยว่าจะขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท
นั่นเท่ากับตีแสกหน้านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่เคยออกมากล่าวว่า ผลขาดทุนจะไม่มากไปกว่าโครงการรับประกันราคาข้าวเปลือกของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท หากมากกว่าตนพร้อมจะลาออกจากตำแหน่งทันที
ส่วน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ก็เสียงแข็งว่าจะไม่ขาดทุนไปมากกว่าเงินที่รัฐบาลชุดก่อนใช้ในโครงการประกันราคาข้าวคือแค่ 8 หมื่นล้านบาท
แม้จะไม่ยอมรับว่าขาดทุนสูงอย่างที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ระบุโดยมีการเปิดเผยตัวเลขใหม่ว่าโครงการรับจำนำปี 2554/55 ขาดทุนเพียง 1.3 แสนล้านบาท แต่ก็มากจนทะลุเพดานที่กระทรวงการคลังประมาณการไว้ ประกอบกับระบายข้าวแบบจีทูจีไม่ได้จริงตามที่คาดไว้
จึงเป็นชนวนสำคัญในการปรับลดวงเงินรับจำนำข้าวในปี 2555/56 ที่ดำเนินการมาได้กว่าค่อนทาง โดยกขช.ลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปรัง จาก 15,000 บาทต่อตันเหลือ 12,000 บาท
เท่ากับยอมรับเป็นนัยว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ชี้นำราคาข้าวโลก ทำให้ตัวแทนกลุ่มชาวนาออกมาคัดค้านอย่างหนัก ประกอบกับตัวเลขต่างๆไม่ว่าการขาดทุนมหาศาล ตัวเลขการระบายข้าวจีทูจีที่คลุมเครือ รวมถึงปัญหาการทุจริตได้ฟาดหางใส่นายบุญทรง ต้องพ้นเก้าอี้รมว.พาณิชย์ โดยแต่งตั้ง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เข้ามาทำหน้าที่แทนหวังกอบกู้ภาพลักษณ์คืนมา
รวมทั้งยกตำแหน่งรมช.พาณิชย์ ให้กับนายยรรยง พวงราช อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประกาศชัดเจนตั้งแต่วันแรกว่า สาเหตุที่มารับตำแหน่งนี้เพราะต้องการมาเคลียร์ปัญหาเรื่องข้าว และได้กลับมาใช้ราคารับจำนำที่ 15,000 บาทเหมือนเดิม เพื่อลดแรงกดดัน ซึ่งเป็นที่มาของการประกาศประกวดราคาประมูลข้าวในโกดังรัฐบาล ในวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมกว่า 5.5 แสนตัน ขณะที่การระบายแบบจีทูจีก็ยังต้องดำเนินต่อไป
ขณะเดียวกัน มีการเผยแพร่ข้อมูล รูปถ่าย เกี่ยวกับโครงการ รับจำนำ ทั้งข้าวถุงจากโครงการเน่าเสีย ข้าวในโกดังเสื่อมคุณภาพว่าโรงงานที่ซื้อข้าวจากโครงการรับจำนำมาบรรจุถุงปนเปื้อนสารตกค้างที่ใช้กำจัดแมลง ปลวก มอดในโกดัง เนื่องจากข้าวถูกเก็บไว้นานเพราะระบายไม่ออก จนต้องรมยาไว้เกินอัตรากำหนด
รวมทั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยจากการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการว่ามีข้าวถุงบางยี่ห้อมีสารตกค้างเกินปริมาณที่กำหนด ฝ่ายค้านก็ผสมโรงให้ข้อมูลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจนต้องมีการเร่งแก้ไขภาพลักษณ์ให้กับข้าวในโกดัง รวมทั้งข้าวไทยในภาพรวม โดยการจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้าข้าวเสื่อมคุณภาพ (ศป.ขส.) โดยมีนายยรรยง เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพข้าวร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ โดยจะรายงานผลเป็นระยะๆ คาดว่าในเดือนส.ค. จะมีการรายงานผลครั้งแรก
นอกจากนั้นยังมีโครงการจะนำข้าวหอมมะลิบรรจุถุงขนาดเล็ก เพื่อนำไปเป็นของฝากของขวัญเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็ออกเดินสายสร้างความเชื่อมั่นโดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้นำครม.ไปดูการผลิตข้าวถุงตราฉัตรที่บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด (ข้าวตราฉัตร) จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตอกย้ำว่าข้าวไทยได้มาตรฐานโลก
และก่อนหน้านี้มีการรายงานว่าอาจมีการทุจริตในพื้นที่รับจำนำ ได้มีการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปูพรมสำรวจปริมาณข้าวในโกดังทั้งหมด เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส
ไม่ว่าข่าวร้ายที่เกิดขึ้น จะเป็นเรื่องจริงหรือแค่หวังผลทาง การเมือง ท้ายที่สุดแล้วอุตสาหกรรมข้าวไทยก็ตกที่นั่งลำบาก กลายเป็นเครื่องมือของการเข่นฆ่ากันทางการเมือง
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ข่าวสด วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ สารพัดวิบากกรรม”ข้าวไทย”