tdri logo
tdri logo
20 สิงหาคม 2013
Read in Minutes

Views

“ทีดีอาร์ไอ”แนะเลิกจำนำ ชี้ชาวนาติดบ่วง พณ.ยันคงนโยบายสู้ประเทศคู่แข่ง

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานเสวนาสาธารณะเรื่อง “คิดใหม่อนาคตข้าวไทย”

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า อนาคตข้าวไทย ต้องยกเลิกโครงการจำนำข้าว อาจใช้วิธีของประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่มีการประกันดัชนีดินฟ้าอากาศ ควรเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานชาวนา และให้ความสำคัญเรื่องชาวนาสูงอายุที่เป็นกำลังหลัก ส่วนการเปิดประมูลข้าวของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุดไม่มีพ่อค้ามาประมูลเนื่องจากมีการประกาศว่าจะขายข้าวเดือนละ 1 ล้านตัน จึงส่งผลกระทบต่อตลาดซึ่งมากกว่าการเปิดเผยตัวเลขสต๊อกข้าว เพราะพ่อค้ารอซื้อของถูก ทางออกของเรื่องนี้ รัฐบาลต้องไม่ขายข้าวเก่าในโกดัง ต้องเน้นขายข้าวที่มีคุณภาพให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) วิธีประมูลขายส่วนต่างจากราคาล่วงหน้าของตลาด

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การรับจำนำโดยจำกัดจำนวนข้าวที่รัฐบาลจะทำนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเพราะยังต้องใช้เงินเท่าเดิม ประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี จึงเห็นว่าควรเลิกนโยบายยกระดับราคาสินค้าสูงกว่าตลาด เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรเลิกปรับตัวตามตลาด หันมาปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาลแทน

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศอื่นๆ ที่ขายข้าวในตลาดยังมีการแทรกแซงจากรัฐบาลทั้งนั้น หากไทยต้องการยืนอยู่ในตลาดข้าวก็ต้องมีนโยบายดังกล่าวต่อไป “หลังมีนโยบายจำนำข้าวทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น เช่น ปี 2554 ข้าวหอมมะลิราคาอยู่ที่ 12,000-13,000 บาทต่อตัน แต่ปี 2555 อยู่ที่ 14,000-15,000 บาทต่อตัน” นางวิบูลย์ลักษณ์กล่าว

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ กล่าวถึงผลการหารือกับกลุ่มเกษตรกรว่า สมาคมเกษตรกรไม่ได้ขัดข้องเรื่องตัวเลข แต่อยู่ระหว่างทำความเข้าใจเพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศยอมรับอัตราการรับจำนำข้าวรอบใหม่ คาดว่าจะสรุปตัวเลขรับจำนำข้าวได้ก่อนวันที่ 1 ตุลาคมนี้ที่จะเปิดรับจำนำ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์มติชน วันที่ 17 สิงหาคม 2556 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอ”แนะเลิกจำนำ ชี้ชาวนาติดบ่วง พณ.ยันคงนโยบายสู้ประเทศคู่แข่ง

นักวิจัย

ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร
ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร
นักวิชาการเกียรติคุณ

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ