ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ซีพีซื้อแม็คโคร ไม่ใช่การควบรวมกิจการ

การเข้าซื้อกิจการ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) มูลค่า 1.89 แสนล้านบาท ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ซัพพลายเออร์ และผู้บริโภค ในแง่ของการผูกขาดธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ภายใต้ความเชื่อที่ว่า หลังการควบรวมกิจการ ซีพี ออลล์จะกลายเป็นโมเดิร์นเทรดครบวงจร ที่รวมทั้งธุรกิจสะดวกซื้อและธุรกิจค้าส่งเข้าด้วยกัน

จากความจริงที่ว่า MAKRO เองก็เป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งรายได้และสัดส่วนทางการตลาดสูงสุดในธุรกิจค้าส่ง ขณะที่ 7-Eleven เป็นผู้มีส่วนแบ่งรายได้กับส่วนแบ่งทางการตลาด Convenience Store สูงสุดเช่นกัน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ภายใต้บริบทของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่มีต่อการควบรวมกิจการครั้งนี้

– การเข้าซื้อแม็คโครของ CP

กรณี CP กับแม็คโคร มองว่าไม่ใช่การควบรวม เพราะซีพีถือหุ้นผ่าน 7-Eleven และบริหาร ดังนั้นในทางปฏิบัติการบริหารจัดการยังไม่เปลี่ยน ถ้าพูดถึงในเชิงนิตินัยมันคือการควบรวม แต่ในทางพฤตินัยเชื่อว่ามันไม่เปลี่ยน แต่ถ้าจะเน้นในทางนิตินัยคิดว่าต่อไปจะมีปัญหา เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์การควบรวมตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยกรณีที่จะมีปัญหาก็คือ การควบรวมในธุรกิจเดียวกัน แต่ดิฉันไม่เชื่อว่า 7-Eleven กับแม็คโครคือธุรกิจเดียวกัน ถามง่าย ๆ ถ้าคุณไป 7-Eleven แล้วมันปิด คุณจะเดินไปแม็คโครหรือเปล่า ก็ไม่อยู่แล้ว

– อนาคตแม็คโครอาจจะไม่ทำค้าส่งอย่างเดียว

กฎหมายไม่ได้ดูอนาคต สภาพปัจจุบันมันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นกรณี CP-แม็คโคร มันไม่ได้ทำให้มาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้น แต่ถึงมันจะเพิ่มขึ้นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันไม่มีเหตุ ในชั้นนี้เราถือว่ามันยังไม่เป็น แต่อาจกล่าวได้ว่า CP มีช่องทางการจำหน่ายครบทุกรูปแบบ เพราะแม็คโครถือเป็นตลาดโฮลเซล และ CP ก็มีเทสโก้ฯเป็นรีเทล ซึ่งเชื่อว่า CP คงไม่กินเนื้อตัวเอง และระดับ Convenience Store คือ เฟรชมาร์ท

– การมีครบหมดในทุกรูปแบบถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

ไม่ได้ เพราะว่านิยามของตลาดถ้าจะบอกว่าผูกขาด มันต้องดูว่าผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างไร ถ้าเผื่อสินค้าตัวนั้นยังสามารถหาช่องทางจำหน่ายอยู่ได้ ซึ่งแต่ละตลาดมันก็มีคู่แข่งของตัวเอง เช่น ผู้ผลิตทีวี ไม่ขายให้ห้างบิ๊กซีก็ขายให้ห้างอื่น ฉะนั้นจะเห็นว่ามันไม่มีแชร์สำหรับดิสทริบิวชั่น มันมีแชร์แค่สำหรับสินค้าเท่านั้น

การผูกขาด หมายถึงการจำกัดการเข้าถึงสินค้า แต่พอมาพูดถึงส่วนแบ่งการตลาดหรือแชร์ของช่องทางจำหน่ายมันระบุได้ยาก โดยสรุปในกรณีของ CP ดิฉันมองว่าผลของการซื้อไม่ได้ทำให้ตลาดเปลี่ยนไปมาก และสภาพการซื้อไม่เกิดจากความตั้งใจจะเข้าไป Take Over แต่เป็นเพราะพาร์ตเนอร์ถอนทุน ซึ่งเชื่อว่าคงเป็นเพราะมีสัญญาระหว่างกันว่า ถ้ามีคนถอน

คนที่ถือหุ้นคนแรกมีสิทธิ์เข้าไปซื้อ ดังนั้นก็น่าจะได้ประโยชน์กันทั้งคู่ คือ คนหนึ่งก็ได้ขาย และอีกคนก็ได้หุ้นและได้ดูแลกิจการช่องทางจำหน่ายครบลูป

นอกจากนี้ ดิฉันยังไม่เชื่อว่า CP จะเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของแม็คโคร ตอนนี้ CP ก็ยังบริหารอยู่อย่างเดิม ซึ่งคุณธนินท์ก็ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนผู้บริหาร และอีกอย่างคิดว่า CP มีอำนาจมาแต่เดิมอยู่แล้ว เพราะผู้ถือหุ้นเดิมคือเอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ เขาทำพลังงาน ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจรีเทล จึงต้องพึ่งพาคนที่อยู่ในธุรกิจนี้ คิดว่าเขาใช้ Expertise ของ CP แต่เขาคงเป็นแค่คนที่เอาเงินทุนมาให้แล้วเห็นว่าธุรกิจดี แต่ตอนนี้อยากขายก็ถอนไป

– หลังการซื้อกิจการจะกระทบซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้าหรือไม่

ดิฉันคิดว่า Vision ของ CP คือ การต่อยอดธุรกิจไปยังต่างประเทศ แต่ทำไม CP จึงยอมจ่ายแพงมากขนาดนั้น หรือเป็นการขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ดูยอดขายเพิ่มขึ้นจากปี 2553 มูลค่า 98,000 ล้านบาท เป็น 113,000 ล้านบาทในปี 2555 ส่วนกำไรปี 2553 เท่ากับ 1,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,600 ล้านบาทในปี 2555 รวมเวลา 2 ปี กำไรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ขณะที่ปัญหาเรื่องการผูกขาดเป็นเรื่องที่ทุกคนกังวลกันมานานแล้ว ไม่ใช่เกิดจาก CP ไปซื้อแม็คโคร แต่เป็นเพราะธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งมันกระจุกตัว เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไป ทุกคนอยากเข้ามาในร้านแล้วซื้อของได้ครบ ดังนั้นอำนาจต่อรองของค้าปลีก (รีเทล) เพิ่มขึ้น เราต้องระวังว่าอำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์มันจะลดลง ที่สำคัญตอนนี้ไม่มีกลไกอะไรมาดูแลซัพพลายเออร์เลย

– ใน พ.ร.บ.แข่งขันฯ ไม่มีกลไกดูแลหรือ

มี แต่ไม่ทำ เช่น มีไกด์ไลน์ค้าปลีกออกมาแล้วพักหนึ่ง กำหนดหลัก เช่น ต้องซื้อขายเป็นธรรม สมเหตุสมผล แต่จริง ๆ แล้วใน พ.ร.บ.แข่งขันฯ มีมาตรา 29 ที่บังคับได้เป็นเรื่องของการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในเชิงเศรษฐศาสตร์ต้องแยกคำว่า “ผูกขาด” กับ “ไม่เป็นธรรม” ออกเป็น 2 ซีก เรื่องผูกขาดคือจำกัดการแข่งขัน

ผู้บริโภคได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เรื่องการค้าไม่เป็นธรรม ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรา 25 ไม่เกี่ยวกับการผูกขาดเลย แต่เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นธุรกิจต่อธุรกิจ เป็นเรื่องของอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน ในมาตรา 29 เรื่องการค้าไม่เป็นธรรมจะเข้ามาดูแลผลกระทบอันเกิดจากการมีอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งกฎหมายเรามีครบ แต่ไม่ทำ

– เกณฑ์ควบรวมกิจการควรมีสาระสำคัญอย่างไร

คล้ายกับเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด คือ เมื่อควบรวมกิจการกันแล้วมีมาร์เก็ตแชร์เกิน 50% ต้องมาขออนุญาต เป็นต้น แต่ออกเกณฑ์มาแล้วมันอยู่ที่การใช้หรือไม่ ต้องให้ข้อมูลการคำนวณอย่างชัดเจนว่าผิดหรือไม่ ผิดเพราะอะไร

– มีกลไกอื่นดูแลหรือไม่

ตอนนี้คิดว่าประเทศไทยกำลังมีปัญหาว่า ธุรกิจรายย่อยขาดองค์กรเข้ามาดูแลมากที่สุด แย่กว่าผู้บริโภคอีก เพราะผู้บริโภคยังมี NGO มีมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคมาดูแล แต่ธุรกิจรายย่อยไม่จัดอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ ไปร้องไม่ได้ เดินไปร้องรัฐบาลก็ไม่ทำ รายย่อยก็ตาย เห็นได้ชัดอย่างกรณีปัญหาสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หากเป็นผู้บริโภคเดือดร้อนก็ไป สคบ. ดูเลยผิดกฎหมายสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ปี 2542 หรือไม่ หากศาลตีความว่าไม่เป็นธรรม สัญญาเป็นโมฆะ แต่หากเคสนี้เป็นผู้ประกอบการรายย่อยจะหลุดหมดเลย ต้องไปว่ากันเอง เพราะเขาถือว่าธุรกิจไปตกลงกันเอง

กรณีนี้ไปโยงกับการทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งด้วย เป็นปัญหาเพราะหากตีความเป็นธุรกิจ เกษตรกรบางคนไม่มีสัญญาเลย และพอลองอ่านสัญญาลักษณะนี้แล้วพบว่ามีการทำสัญญาที่ไม่ยุติธรรม เช่น กำหนดให้บริษัทเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว ราคาที่จะซื้อผลผลิตคืนก็ไม่บอก แต่เกษตรกรคิดว่ามันง่าย ไม่ต้องคิด เหมือนเป็นลูกจ้างบริษัทใหญ่ เช่น รับพันธุ์สัตว์มาเลี้ยงไป แล้วเขากำหนดให้หมดจะให้กำไรเท่าไหร่ อาจน้อย ส่วนความเสี่ยงรับไป ถ้าเลี้ยงไม่รอดก็ขาดทุน ทั้งหมดนี้ดิฉันคิดว่ารัฐควรเข้าไปดูแลผู้ประกอบการรายย่อยด้วย

– ถ้าในอนาคตเกิดการครอบงำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ต้องย้ำว่า กฎหมายจะต้องรีบเข้ามาควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจนซัพพลายเออร์รายย่อยตายไปจนหมด แต่เชื่อว่าถึงอย่างไรก็ผูกขาดไม่ได้ เพราะผู้บริโภคต้องการจะเลือกซื้อสินค้าจากร้านคุณ ถ้ามีสินค้าเยอะ เหลืออยู่แบรนด์ของคุณแบรนด์เดียวก็คงไม่มีใครเข้า แต่หากผู้ผลิตรายอื่นจะก้าวเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกค้าส่งบ้างก็เชื่อว่าทำได้ ถ้าเผื่อเขาสร้างช่องว่างให้เกิดความไม่พอใจ ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้คนอื่นก้าวเข้ามาแข่ง บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นรายใหญ่เสมอไป

– ทุกวันนี้มีแต่ Modern Trade เต็มไปหมด

ดิฉันไม่อยากมองว่ามันไม่ดีนะ เพราะมันเป็นวิวัฒนาการของระบบการค้าทั่วโลก สินค้าถูก สะดวก สะอาด ส่วนมีมากรายหรือน้อยราย เราต้องดูชนิดสินค้าด้วย อย่างต่างประเทศ สบู่มีมากราย แต่อาหารมีน้อยราย เพราะมันมีระบบจัดการของมันจึงมีน้อยราย ส่วนประเทศไทยคงยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะไทยยังมีช่องทางหลากหลาย ทั้งตลาดสด มีซูเปอร์มาร์เก็ต แข่งขันได้ และพฤติกรรมคนไทยก็ยังมีการซื้อหลากหลาย ขึ้นกับไลฟ์สไตล์ด้วย ส่วนการทำโปรโมชั่นที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางด้านราคา เช่น สินค้า A ซื้อที่ร้านหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทขายปลีกของผู้ผลิตราคาถูกกว่าซื้อจากร้านค้าทั่วไป อย่างนี้ผิดแน่นอน เป็นการเลือกปฏิบัติ เขาอาจชนะเรื่องต้นทุนและปริมาณมาก รายใหญ่ได้เปรียบ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ซีพีซื้อแม็คโคร ไม่ใช่การควบรวมกิจการ