ทีดีอาร์ไอ อัด ก.พาณิชย์ประกาศแผนระบายข้าวเดือนละล้านตัน ทำราคาร่วง

ปี2013-08-16

“ทีดีอาร์ไอ”แนะรัฐบาลดันแผนช่วยเหลือเกษตรกรผ่านสภา และให้ใช้งบประมาณปกติดำเนินการต่อเนื่องทุกรัฐบาล ค้านใช้เงินกู้ช่วยลดหนี้ประเทศ อัดทักษิณ คิดผิดดันราคาข้าวไม่ขึ้นต้นเหตุสต๊อกบวม ติง ก.พาณิชย์ประกาศแผนระบายข้าวเดือนละล้านตัน ทำราคาร่วงต่อเนื่อง เหตุพ่อค้ารอของถูก แนะขายเฉพาะข้าวใหม่ ให้ออกกฎหมายทำลายทิ้งข้าวเก่าช่วยดันราคาขยับ ด้านอธิบดีกรมการข้าว ชี้ข้าวไทยยังติดหล่มต้นทุนพุ่ง ซ้ำไร้ทิศทางวิจัยและพัฒนาตัวชี้ขาดการแข่งขันในอนาคต

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่ อนาคตข้าวไทย” จัดโดยทีดีอาร์ไอ ว่า รัฐบาลควรนำแผนการช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกร เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน โดยแผนดังกล่าวต้องใช้งบประมาณปกติห้ามใช้เงินกู้เพื่อลดปัญหาภาระหนี้สินที่อาจเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด และไม่ไปแข่งกับการใช้งบประมาณในส่วนอื่น ซึ่งแผนที่จะผ่านสภาต้องกำหนดให้ใช้ตลอด 4 ปีที่รัฐบาลอยู่ในอำนาจ หากมีรัฐบาลใหม่ก็ให้เป็นผู้กำหนดแผนใหม่ในรูปแบบเดียวกัน

ทั้งนี้มองว่า อนาคตข้าวไทยต้องยกเลิกการจำนำ แล้วหาวิธีอื่นมาช่วยเหลือชาวนา เช่น วิธีของสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ที่รัฐบาลจ่ายชดเชย 70-85% ของส่วนต่างระหว่าง ราคาเป้าหมายกับราคาตลาด โดยราคาเป้าหมายกำหนดจาก ราคาตลาด การชดเชยโดยตรง ความผันผวนของราคาโดยใช้ค่าเฉลี่ย 3-5 ปี ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาในส่วนของไทยรัฐบาลทักษิณคิดว่าหากควบคุมกลไกตลาดข้าวซัก 2-3 ปี หลังจากนั้นกลไกจะเคลื่อนไปตามธรรมชาติ โดยมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ตลาดโลกมีความผันผวนมากกว่าที่คิด โดยอินเดียมาดับฝันซะก่อน เพราะผลผลิตข้าวของอินเดียล้นโกดังต้องขายข้าวราคาถูก ส่งผลให้เวียดนามหั่นราคาขายแข่งอินเดีย ผลคือราคาข้าวโดยเฉลี่ยของโลกลดลง

“ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” แต่ในทางปฏิบัติ เพื่อไทยคุยว่าปี 2555 จะส่งออกข้าวให้ 6 ประเทศ แบบรัฐต่อรัฐ ได้ 2.76ล้านตัน แต่ส่งออกได้จริงแค่ 0.89 ล้านตัน”ดร.นิพนธ์ กล่าวและว่า

รูปแบบการดำเนินโครงการรับจำนำที่ผ่านมา มีแนวคิดจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ประสบความสำเร็จทางธุรกิจเพราะทำธุรกิจผูกขาด จึงใช้วิธีให้บริษัทรายหนึ่งผูกขาดการขายข้าวรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้จงใจระบายข้าวผ่านประตูแคบๆ ผ่านไม่กี่บริษัท มีการขายแบบปกปิดราคาขายและปริมาณขายทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นการขายในประเทศ และผ่านการขายข้าวในราคาต่ำกว่าตลาดให้พ่อค้าพรรคพวก อย่างไรก็ตามความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้นักการเมืองบางส่วนในพรรคเพื่อไทยกำลังคิดหาทางถอยออกจากโครงการรับจำนำ จึงเป็นที่มาของข้อเสนอต่างๆ เช่น การลดราคา และจำกัดปริมาณจำนำ แต่ผลจะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นกับการเจรจากับชาวนา และขั้วอำนาจในพรรคเพื่อไทย

สำหรับการลดราคาและจำกัดปริมาณรับจำนำจะทำให้เกิด 2 ตลาดสองราคา คือ ข้าวนอกโครงการจะมีราคาต่ำกว่าในโครงการมาก นอกจากนี้ การที่กระทรวงพาณิชย์ ประกาศเป้าหมายการระบายข้าวเดือนละ 1 ล้านตัน จะมีผลกระทบต่อราคาตลาดมากเพราะพ่อค้าทราบว่าจะมีข้าวออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้การระบายจริงมีพ่อค้าร่วมประมูลซื้อปริมาณน้อยมาก เพราะพ่อค้าคาดว่าราคาจะลดลงอีก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ไม่ควรประกาศจำนวนและราคาที่ต้องการขาย แต่ให้เลือกใช้วิธีขายที่โปร่งใส อย่างไรก็ตามได้คาดการณ์ด้านราคาแล้วสาเหตุที่มีการซื้อข้าวรัฐจำนวนน้อยนั้นเพราะ ความไม่มั่นใจคุณภาพโดยพ่อค้าเชื่อว่าข้าวในโกดังมีคุณภาพต่ำ เพราะการตรวจรับ วิธีบำรุงรักษา อาจไม่ได้มาตรฐาน ทางออกในการจัดการสต๊อกข้าวรัฐ คือ ประเทศต้องไม่ขายข้าวเก่า ข้าวเน่าเด็ดขาด แต่ต้องหาทางออกด้วยการออกกฎหมายเรื่อง “write off” เพื่อเปิดช่องให้นำข้าวในสต๊อกไปทิ้งทำลาย จากนั้นให้เน้นขายข้าวคุณภาพ และขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแบบประมูลส่วนต่าง basis จากราคาล่วงหน้าของตลาด

ด้านนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาการผลิตข้าวไทยในอนาคตคือ กำลังอยู่ในภาวะต้นทุนการผลิตสูง จากการใช้ปัจจัยการผลิตฟุ่มเฟือย รวมถึงปัญหาการขาดความร่วมมือระหว่าง 3 ภาคส่วนคือ ภาคการวิจัยพัฒนา ที่ปัจจุบันยังไร้ทิศทางทั้งที่เป็นปัจจัยหลักการแข่งขันในอนาคต ไม่ใช่เรื่องของราคา ภาคชาวนาจะต้องให้ความรู้มากขึ้น และภาคการตลาดซึ่งต้องส่งสัญณาณกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนองความต้องการตลาดอย่างตรงจุด

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เครื่องมือที่รัฐบาลได้นำมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไทย ผ่านโครงการจำนำ หรือโครงการประกันรายได้ ถือเป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับโครงการรับจำนำหากไม่เน้นเรื่องกำไรและขาดทุน ก็ถือว่าเป็นการยกระดับเกษตรกรไทย ให้มีรายได้สูงขึ้น ขณะนี้เกษตรกรสามารถมีผลกำไรจากการปลูกข้าว และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่เกษตรกรมีความต้องการด้านการจำนำ หากมองในเรื่องราคาข้าวทั้งในและต่างประเทศขณะนี้โดยเฉลี่ยมีอัตราสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งราคาข้าวไทย มีราคาใกล้เคียงกับข้าวสหรัฐฯ แต่มีราคาที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดียและเวียดนาม เฉลี่ยตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท) คาดในต้นเดือนตุลาคมนี้จะสามารถระบายได้ 1.5 แสนตัน ส่วนความชัดเจนการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ ปีการผลิต 2556/57 ได้รายงานหลักการและผลการหารือกับกลุ่มเกษตรกรให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับทราบแล้ว ในภาพรวมการหารือแต่ละสมาคมเกษตรกร ไม่ได้ขัดข้องในตัวเลข แต่อยู่ในระหว่างการทำความเข้าใจในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศ ยอมรับอัตราการรับจำนำข้าวรอบใหม่ โดยคาดว่าน่าจะสรุปตัวเลขราคาและปริมาณรับจำนำข้าวได้ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ที่จะเป็นวันเริ่มต้นรับจำนำในฤดูกาลใหม่

ส่วนที่หลายฝ่ายออกมาระบุรัฐบาล ได้ใช้เงินงบประมาณในการรับจำนำข้าวเกินกว่าที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ ปีละไม่เกิน 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งหากนับการใช้เงินในการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ตั้งแต่ปีการผลิต 2554/55 รัฐบาลใช้เงินไปแล้ว 3.73 แสนล้านบาท ขณะที่กรอบวงเงินที่จะใช้ในข้าวรอบใหม่ กว่า 3.40 แสนล้านบาท เท่ากับว่า รัฐบาลมีการใช้เงินทั้งสิ้น 6-7 แสนล้านบาท แต่โดยข้อเท็จจริงจากตัวเลขดังกล่าว หากคิดคำนวณนำกรอบวงเงินจำนวน 3.40 แสนล้านบาทในกรอบใหม่ ก็เท่ากับ ตัวเลขรับจำนำมีวงเงินที่เกินกว่าเพดานที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้อยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นหากทอนตัวเลขในละปีระดับการใช้เงินจะอยู่ที่ 3-4 แสนล้านบาท ก็ถือว่าเป็นไปตามกรอบ ที่ใช้เงินในการรับจำนำ

“กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลทุกช่องทาง เพื่อให้ได้เงินจากการระบายข้าว เข้ามาสู่ในบัญชีรายรับรายจ่าย จึงเชื่อว่า จะไม่ใช่เป็นตัวเลขการขายข้าวขาดทุนเพียงด้านเดียว เพราะรัฐบาล เร่งระบายข้าวให้จำนวนเงินกลับมาสู่ในระบบ”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 16 สิงหาคม 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอ อัด ก.พาณิชย์ประกาศแผนระบายข้าวเดือนละล้านตัน ทำราคาร่วง