นักวิชาการอัดเยียวยาคลื่น 1800 เอื้อ ‘เอกชน’

ปี2013-09-03

แนะ “กสท.-ทีโอที” แตกไลน์ธุรกิจตัวเอง เลิกเอารายได้สัมปทานมารวม

นักวิชาการโทรคมอัด “ประกาศเยียวยาคลื่น1800” ต่ออีก 1 ปี ให้ “ทรูมูฟ-กสท” คุมลูกค้า ยันรัฐวิสาหกิจควรเลิกเอารายได้จากสัมปทานมาเกี่ยว ต้องแตกทำธุรกิจบนขาตัวเองได้แล้ว ย้ำความเสียหายเอาคลื่นมาประมูล 4จี ไม่ได้สูญ 1.6 แสนล้าน ระบุช่วงเยียวยาต้องลดค่าโทร 50% เพราะต้นทุนหายไปกว่าครึ่ง

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ความเห็นเขาไม่ต่างจากนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ รองประธานทีดีอาร์ไอที่ระบุว่าการเปิดให้บริการ 4จี ด้วยคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ล่าช้าไปเท่าใด ก็จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้โดยคาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 1.6 แสนล้านบาท

การที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติร่างประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. …(ร่างเยียวยา 1800 ) ไปเมื่อวันที่ 14 ส.ค.และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ไม่ต่างกับการขยายเวลาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอลโฟน หรือดีพีซี ซึ่งจะหมดอายุสัญญาวันที่ 15 ก.ย.นี้ แม้กสทช.จะอ้างว่าเป็นการให้บริการช่วงเปลี่ยนผ่านเยียวยาให้ลูกค้า แต่แท้ที่จริง คือ การให้เอกชนได้สิทธิต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 1 ปี

เขายืนยันว่า ตามอำนาจ กสทช.ที่ได้รับตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2553 คือ การจัดสรรทรัพยากรนำคลื่นความถี่มาจัดประมูล แต่เมื่อไม่สามารถคืนคลื่นเพื่อจัดสรรด้วยการประมูลได้ทันเวลา ทำให้ประเทศและประชาชนเสียประโยชน์

อัดกสทช.เกียร์ว่าง

ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า หน้าที่ กสทช.คือ จัดสรรคลื่นใหม่ มีการลงทุนบริการ 4จี และมีบริการ 4จี ได้ภายในปี 2557 แต่เท่ากับว่าบริการ 2จี ตามสัญญาสัมปทานเดิมยังดำเนินต่อไปอีก 1 ปี ทั้งที่ความจริง กสทช.มีเวลาเตรียมการมากกว่า 1 ปี เพราะกสทช.มีโรดแมพอยู่แล้วว่า จะจัดสรรคลื่นความถี่ใดก่อนหลัง ซึ่งการหมดอายุสัมปทานของทรูมูฟและดีพีซีจะสิ้นสุดในเดือนก.ย.นี้นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมว่า กสทช.ไม่สามารถชดเชยโอกาสของประชาชน ซึ่งควรจะได้ใช้ 4จี และมูลค่าทางเทคโนโลยีที่ไม่เกิดขึ้นจากการที่ไม่สามารถเปิดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ในปีนี้ได้ทัน ทั้งที่ กสทช.รู้ล่วงหน้าว่าคลื่นดังกล่าวจะสิ้นสุดสัมปทานในเดือน ก.ย.อยู่แล้ว

กรณีที่ กสทช.พยายามผลักดันให้ร่างเยียวยา 1800 มีผลบังคับใช้กระทั่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อย ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องสูงมาก เพราะนักวิชาการด้านกฎหมายได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประกาศฉบับนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญเพราะ กสทช.ไม่มีอำนาจที่จะให้เอกชนเข้ามามีสิทธิในคลื่นที่หมดสัมปทานแล้ว

ขณะที่ การขยายระยะเวลาให้เอกชนมีสิทธิใช้คลื่น 1800 ออกไปอีก 1 ปี ยังจะสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติและประชาชนถึง 1.6 แสนล้านบาท จากการที่ไม่ได้นำคลื่น 1800 มาเปิดประมูล ตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามผลวิจัยของสถาบันอนาคตประเทศไทยที่เคยประเมินความเสียหายจากความล่าช้าในการประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3จีย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์

จี้หั่นค่าโทรช่วงเยียวยา50%

นายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า กสท โทรคมนาคม หรือบมจ.ทีโอทีเอง ไม่ควรยึดเอารายได้ที่เกิดจากสัมปทานมารวมเป็นรายได้ตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าแล้ว และควรจะแตกไลน์ธุรกิจของตัวเองให้ได้มากที่สุด

การประกาศร่างเยียวยาฯ ถือเป็นการอุ้มรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นเสือนอนกินบนสัมปทานของผู้ให้บริการมือถือต่ออีก 1 ปี และเมื่อกสทช.เห็นชอบในแนวทางดังกล่าว ทั้งที่ในตามความเป็นจริงตัวเองไม่มีสิทธิเลยนั้น จะทำให้คลื่นต่อๆ ไปที่กำลังจะหมดสัมปทานต้องมีการเยียวยาและเป็นการต่ออายุสัมปทานต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งจะเป็นคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ที่เอไอเอสให้บริการอยู่และจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2558

ส่วนการคิดรายได้ที่เกิดจากช่วงเยียวยาไม่ควรให้เอกชนเข้ามาหากำไร เพราะสัมปทานหมดแล้วไม่ต้องจ่ายให้กสท ดังนั้นรายจ่ายจะลดไปทันที 30-40% และยังไม่ต้องรับรู้รายจ่ายจากค่าเสื่อมของอุปกรณ์ และโครงข่าย เพราะโครงข่ายทั้งหมดได้คืนให้แก่กสทแล้ว ดังนั้นค่าบริการในช่วงเยียวยาน่าจะลดได้มากกว่า 50%

ยัน 2 รัฐวิสาหกิจยังกำไร

นายอุดม พัวสกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที กล่าวว่า แผนฟื้นฟูองค์กร(เทิร์นอะราวด์) ใน 3-4 แนวทาง ซึ่งมีทั้งกรณีที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุด กรณีที่ทีโอทีสามารถเปลี่ยนระบบสายทองแดง เอฟทีทีเอ็กซ์ได้ครบ 2 ล้านพอร์ตตามที่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสามารถประมูลโครงการให้บริการโทรคมพื้นฐานสาธารณะจากกสทช.ได้ 50% ของโครงการทั้งหมดจะทำให้ทีโอทีมีกำไรปี 2556 จำนวน 2,000 ล้านบาท รายได้รวม 70,000 ล้านบาท และปี 2557 ยังคงมีกำไรสุทธิราว 380 ล้านบาทแม้ไม่มีรายได้จากสัมปทานที่ต้องส่งคืนคลื่นรัฐ ตามพ.ร.บ.กสทช.

กรณีที่เลวร้ายที่สุด หากทีโอทีเบิกจ่ายงบและขออนุมัติงบไม่ทันในการเปลี่ยนเอดีเอสแอลเป็นไพเบอร์ออฟติคจำนวน 20,000 ล้านบาท จะทำให้ตั้งปี 2557 เป็นต้นไปทีโอทีจะขาดทุน 7,000 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 8,000 ล้านบาท และปี 2559 ขาดทุน 17,000 ล้านบาท

นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ปี 2556 กสท จะมีรายได้รวมอยู่ที่ 46,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้ให้บริการบนโครงข่ายเอช เอสพีเอ กับบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) ราว 25,000 ล้านบาท หรือ 62% ของรายได้รวม และอีก 38% หรือ 15,000 ล้านบาทมาจากรายได้ธุรกิจอื่นๆ และกำไรสุทธิ 887 ล้านบาท

รายได้ดังกล่าวยังไม่รวมรายได้ จากสัญญาสัมปทานจากเดิมตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจของ กสท ระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2556-2560 ได้ประมาณการว่าปี 2556 กสทจะติดลบ 1,807 ล้านบาท และปี 2557 ติดลบ 11.5 ล้านบาท ส่วนรายได้ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 2556) กสท มีรายได้รวม 15,774 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 16,090 ล้านบาท หรือขาดทุนราว 316 ล้านบาท


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 กันยายน 2556