ชี้ไทยเสียโอกาสใช้สิทธิ์ FTA แสนล้าน/ปี

ปี2013-09-06
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ทีดีอาร์ไอชี้เอกชนไทยใช้สิทธิ์ FTA ไม่ถึงครึ่ง เสียโอกาสไปปีละ 1 แสนล้านบาท เผยสมาชิกอาเซียน งัดมาตรการกีดกันการค้ามาใช้เพียบ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงผลการศึกษาอุปสรรคทางการค้ากับประเทศที่เปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศไทย ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะลงนาม FTA ถึง 11 ข้อตกลง แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ที่ได้จาก FTA น้อยมาก ทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล โดยในปี 2555 ไทยใช้สิทธิ FTA ในการส่งออกเพียง 49% ได้ประโยชน์จากการลดภาษีประมาณ 1.18 แสนล้าน ซึ่งหากใช้สิทธิ์ FTA อย่างเต็มที่จะได้ประโยชน์กว่า 2.48 แสนล้านบาท หรือสูญเสียเม็ดเงินที่ควรจะได้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่การนำเข้าใช้สิทธิ์เพียง 52% ได้รับประโยชน์ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หากใช้สิทธิ์เต็มที่จะได้ประโยชน์ถึง 1.39 แสนล้านบาท หรือเสียประโยชน์ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในอนาคตอุปสรรคการค้าที่มาจากภาษีจะลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร หรือ NTMs กลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ประเทศต่างๆในอาเซียนใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการพบว่าอุปสรรคสำคัญก็คือความไม่แน่นอน เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีดุลพินิจต่างกันในเรื่องพิกัดศุลกากร ใช้เวลาการดำเนินงานที่นาน โดยเฉพาะประเทศใกล้ๆ เช่น อินโดนีเซีย สินค้าไปถึงจุดหมายแล้ว แต่กระบวนการขอใช้สิทธิ์ยังไม่เสร็จ ทำให้ผู้ประกอบการไม่อยากขอใช้สิทธิ์ FTA ให้เสียเวลา รวมทั้งบางรายก็มีเอกสารสำคัญไม่ครบ พนักงานไม่เพียงพอใช้วัตถุดิบนำเข้ามากกว่าเกณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความไม่พร้อมของประเทศเพื่อนบ้าน โดยพาะประเทศพม่า สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ใช้สิทธิ์ FTA ไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราต่ำมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่มีข้อมูล และความพร้อมในการตรวจสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีผู้ประกอบการรายย่อยบริเวณชายแดนไม่สามารถขอข้อมูลโครงสร้างต้นทุนสินค้าได้ การส่งออกมีมูลค่าไม่สูงมากทำให้ไม่มีแรงจูงใจให้ใช้สิทธิ์และในกรณีของพม่า รัฐบาลกะเหรี่ยงท้องถิ่นไม่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี

สำหรับ ประเทศในอาเซียนที่ใช้มาตรการ NTMs มากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย สินค้า 100 ชนิด จะถูกมาตรการ NTMs 62 ชนิด รองลงมาเป็นมาเลเซีย 44 ชนิด สิงคโปร์ 43 ชนิด เวียดนาม 32 ชนิ ด บรูไน 27 ชนิด ฟิลิปปินส์ 20 ชนิด ไทย 11 ชนิด พม่า 10 ชนิด กัมพูชา 6 ชนิด และสปป.ลาว 5 ชนิด โดยประเทศอินโดนีเซีย สินค้าที่ถูกกีดกันจากมาตรการ NTMs มากที่สุดจะเป็นสินค้ายา รองลงมาเป็นปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม และอาหาร เป็นต้น ส่วนมาเลเซีย สินค้าที่ถูกมาตรการ NTMs มากที่สุด คือ ปิโตรเคมี พลาสติก เกษตร อาหาร ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ กระดาษ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศที่ใช้มาตรการ NTMs ในรูปแบบปกป้องผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม จะเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง เช่น สิงคโปร์ บรูไน ไทย และฟิลิปปินส์ จะใช้มาตรการ NTMs ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องผู้บริโภคืและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม จะใช้มาตรการ NTMs ที่เป็นการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ประเทศ กัมพูชา สปป.ลาว และพม่า จะใช้มาตรการ NTMs ทุกชนิดใกล้เคียงกัน โดยมาตรการ NTMs ที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด จะเป็นมาตรการขอใบอนุญาตินำเข้าเช่น หลักเกณฑ์การพิจารณาที่ไม่โปร่งใส ใช้เอกสารประกอบมากเกินจำเป็น ค่าธรรมเนียมสูง ใช้เวลาพิจารณานาน และกฎระเบียบเปลี่ยนแปลงบ่อยมาตรการจำกัดปริมาณนำเข้า มาตรการผูกขาดการนำเข้า มาตรการทางศุลกากร มาตรการทางภาษีสรรพสามิต มาตรการการคุ้มครองและเยียวยาอุตสาหกรรมมาตรการทางเทคนิค และมาตรการทางสุขอนามัย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 6 กันยายน 2556 ในชื่อ ชี้ไทยเสียโอกาสใช้สิทธิ์FTAแสนล้าน/ปี