นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจะต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า มีความเป็นห่วงปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอตัวมากน้อยแค่ไหน
“ในสถานการณ์ปกติ หากภาวะเศรษฐกิจซบเซา การใช้นโยบายการเงินลดดอกเบี้ยเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ในภาวะที่ไม่ปกติการใช้นโยบายการเงินต้องคัดเลือกเครื่องมือการเงินที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องออกมาตรการที่จะประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ซบเซา ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะใช้มาตรการการคลังหรือรัฐบาลกู้เงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรใช้ช่วงเวลานี้ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจะดีกว่า” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่จะมาพูดว่าจะเกิดปัญหา “Stagflation” หรือเกิดเงินฝืดในภาวะที่เงินเฟ้อสูง เพราะปัญหาขณะนี้เป็นปัญหาเศรษฐกิจซบเซาซึ่งเป็นกันทั่วโลก ทำให้การส่งออกชะลอตัวมาก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองได้จับตาดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย เห็นได้ชัดเจนว่า กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป
แหล่งข่าวจาก ธปท. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ กนง. ในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะมีการประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลง หากการส่งออกยังไม่กระเตื้องขึ้น
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยรายภาคนั้น ทุกภาคมีการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงทั้งสิ้น โดยภาคใต้ชะลอตัวหนักที่สุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ และการส่งออกกุ้งเสียหาย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา การบริโภคเอกชนชะลอตัวต่อเนื่อง มีการขยายตัวเพียง 1.2% ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ หลังสิ้นนโยบายรถยนต์คันแรก สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เริ่มลดลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถ ประกอบกับรายได้เกษตรกรลดลง ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลง 15% จากการลดลงทั้งราคาและผลผลิต โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง 12.8% จากราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน
ด้านการท่องเที่ยวในภาคใต้เป็นภาคธุรกิจเดียวที่ยังมีการขยายตัวมีนักท่อง เที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น 22% อัตราเข้าพักอยู่ที่ 58.8% จากแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ 15 กันยายน 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอ ยัน ศก.ชะลอตัวไม่ถึงขั้นเงินฝืด ชี้ไม่เหมาะลดดอกเบี้ย