นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เรื่องการนำเสนอของดร.เดือนเด่น เห็นว่า เป็นประเด็นสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่เหมือนในคำฟ้องที่ได้เขียนว่า เป็นการใส่ความเท็จ เป็นการทำหน้าที่สร้างความเสียหายต่อบุคคล ซึ่งการเสนอความเห็นก็มีที่มาที่ไปเป็นลักษณะทางวิชาการ โดยได้มีการบอกวิธีการคิด วิธีการเสนอ ขณะที่ กสทช.เป็นองค์กรของรัฐที่ต้องทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ ดังนั้นการนำเสนอความเห็นต่อสาธารณะย่อมเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริตที่ไม่สามารถไปบังคับให้ใครมาเชื่อหรือต้องมาสอดคล้องกับเราได้ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้ไปตัดสินใคร แต่เป็นการตั้งคำถามไปกับหน่วยงานที่ทำประโยชน์ต่อสาธารณะของนักวิชาการที่ต้องพึงกระทำเพื่อประโยชน์
“สาธารณชนจะเลือกเชื่อฝ่ายใด ย่อมเป็นดุลยพินิจของประชาชนที่ถือเป็นปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้การโต้แย้งของนักวิชาการรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ต้องทำได้อย่างเสมอภาคกันบนพื้นฐานเดียวกัน ที่สำคัญต้องไม่มีการข่มขู่กัน ไม่ว่ามาตรการใดๆหรือการฟ้องร้องกันในทางกฎหมาย ตรงนี้คิดว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมทางวิชาการ เมื่อนักวิชาการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะแล้วก็ย่อมพร้อมที่จะถูกตรวจสอบทางวิชาการเช่นกันโดยการตั้งเวทีสาธารณะขึ้นมา เช่น ผมกับอาจารย์วรเจต ภาคีรัฐ เคยไปโต้แย้งกันด้วยเหตุด้วยผลบนเวทีสาธารณะจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีการอาฆาตมาดร้ายกัน ไม่มีเรื่องส่วนตัวเลย ดังนั้นเรื่องนี้มีทางออก หาก กสทช. เห็นว่านักวิชาการแสดงความคิดเห็นไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน ก็มีหน้าที่ไปให้ข้อมูลข่าวสารหักล้างกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงให้ถูกต้องหรือจัดเวทีสาธารณะขึ้นมาร่วมกันซัดกันในเวทีอภิปรายทั่วไป หรือออกทีวีนั้นเป็นวิธีที่ทำได้อย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้โต้แย้งของประชาชนที่ไม่มีการข่มขู่คุกคามใดๆจึงถือเป็นวิธีที่เหมาะสม” ประธานสถาบัน ทีดีอาร์ไอ กล่าว
ประธานสถาบัน ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันตัวเลขที่ ดร.เดือนเด่น นำเสนออยู่บนสมมติฐานที่แจงต่อสาธารณะให้ทราบกัน ดังนั้นคิดว่า กสทช.น่าจะพึงรับฟัง อย่างไรก็ตามตนมีคำถาม 10 ข้อขอฝากไปยัง กทค.และกสทช.ได้ช่วยตอบคำถามต่อไปนี้ต่อสาธารณะชนด้วย
1. กทค.ทราบหรือไม่ สัมปทานของทรูมูฟจะหมดอายุในวันที่ 15 ก.ย.นี้
2.ทราบหรือไม่ เมื่อสัมปทานหมดอายุแล้วกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่ได้กำหนดให้ต้องเอาคลื่นความถี่นั้น มาประมูลไม่สามารถไปจัดสรรได้ด้วยวิธีอื่นในกรณีคลื่นที่ใช้ในโทรคมนาคม ซึ่งถ้าไปดูเอกสารของ กสทช.หรือ กทค.เกี่ยวกับแผนแม่บทได้ระบุไว้อย่างชัดเจน
3.จริงหรือไม่แผนแม่บทที่ระบุไว้ต้องเอาคลื่นความถี่กลับสู่ กสทช.ที่ กทค.จัดเป็นเอกสารแผนแม่บทเอาไว้เอง
4.จริงหรือไม่ อนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงาน กสทช.เคยมีความเห็นในกรณีคล้ายกันว่า คลื่นความถี่เมื่อหมดสัมปทานไม่สามารถขยายต่อเวลาได้ ต้องเอาไปจัดสรรคลื่นด้วยการประมูล แล้วเป็นความเห็นที่สอดคล้องนักกฎหมายคนอื่นๆ ใช่หรือไม่
5.ในการที่ กทค.ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และแผนแม่บทบริหารจัดสรรคลื่นความถี่ โดยออกมาตรการเยียวยา โดยที่นักกฎหมายอื่นให้ความเห็นว่า น่าจะขัดกฎหมายที่มีอยู่ โดย กทค.ไม่เคยปรึกษาหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ แล้วคิดเอาเองการดำเนินการดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย
6. กทค.ได้แจ้งเรื่องให้ผู้ใช้บริการทราบหรือไม่ ว่าสัมปทานของทรูมูฟจะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 56 นี้
7.กทค.ได้ห้ามผู้ประกอบการตามสัมปทานให้จำหน่ายบริการแพ็กเก็จต่างๆ ที่เกินกว่าอายุสัมปทานหรือไม่
8.กทค.ได้ปรับปรุงการโอนย้ายสัมปทานโครงข่ายหนึ่งไปสู่โครงข่ายอื่นเพื่อให้เกิดการโอนย้ายได้สะดวกมากขึ้นเป็นแสนเป็นล้านคนต่อวัน หากได้ดำเนินการมาตรการเยี่ยวยาย่อมไม่มีความจำเป็น
9.กทค.ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบตีราคาประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกกะเฮิร์ทภายในปี 2555 หรือไม่กระทั่งมาถึงช่วงนี้ และ
10.กทค.ในเวลาที่มีอยู่กว่า 420 วัน นับตั้งแต่ประกาศแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ในเดือนเมษายน 2555 จนกระทั่งออกประกาศเยียวยาคลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ทเป็นเวลา 420 วัน หากทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เวลาดังกล่าวเพียงพอหรือไม่
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ nation channel วันที่ 5 กันยายน 2556 ในชื่อ ปธ.สถาบันTDRIฝาก10คำถาม”กทค.-กสทช.”ปมสัมปทานคลื่นความถี่