tdri logo
tdri logo
18 กันยายน 2013
Read in Minutes

Views

ท้ากสทช. ถ้าแพ้คดี เอาตำแหน่งเป็นเดิมพัน

ผจก.วิทยุจุฬาฯ ชี้ กสทช.ฟ้องหมิ่นสื่อ เท่ากับทำลายระบบการกำกับดูแลตนเองของสื่อ ท้าเดิมพันตำแหน่งของกสทช. หากศาลตัดสินว่าสื่อไม่มีความผิด

จากกรณีที่คณะ กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยื่นฟ้อง นางสาวเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส ในข้อหาหมิ่นประมาท ในเรื่องการแสดงความคิดเห็นคัดค้านการที่กสทช. ขยายสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ให้ธุรกิจเอกชนอีก 1 ปี แทนที่จะนำคลื่นที่หมดสัญญาออกประมูล ซึ่งการฟ้องร้องดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กสทช. อาจจะกำลังแทรกแซงเสรีภาพสื่อและนักวิชาการ

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.56 คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้ บริโภค ภาคประชาชน ร่วมกับนักศึกษาปริญญาโทรุ่น 31 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโครงการอินเทอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชนชน (iLaw) จัดเวทีเสวนา “เสรีภาพการตรวจสอบ กับ ราคาที่ต้องจ่าย กรณีศึกษา: กทค. ฟ้องนักวิชาการและสื่อ” ที่มธ. ท่าพระจันทร์ นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า กสทช.ถูกสร้างขึ้นมาเพราะต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อเพื่อประโยชน์ สาธารณะ รวมทั้งต้องการให้สื่อกำกับดูแลกันเอง การฟ้องหมิ่นประมาทเช่นนี้ คล้ายกับกำลังทำลายระบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรสื่อสาธารณะ ที่มีระบบการกำกับตัวเอง มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจน แล้วเพราะเหตุใดกสทช. จึงไม่ร้องเรียนไปยังไทยพีบีเอสว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และขอพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลจากฝ่ายกสทช. และหากไทยพีบีเอสไม่ยินยอมจึงค่อยดำเนินการฟ้องร้อง หากศาลตัดสินว่านางสาวเดือนเด่น และนางสาวณัฏฐา ไม่มีความผิด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ กสทช.จะกล้าเดิมพัน รับผิดชอบความเสียหายนี้ด้วยตำแหน่งและเกียรติยศของตนเองหรือไม่

นางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า หลักการทางกฎหมายกสทช.สามารถฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการและสื่อได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่มีเงื่อนไขว่า การหมิ่นประมาทนั้นอยู่ในข้อยกเว้นหรือไม่ เช่น การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต คือ เข้าใจหรือเชื่อว่าเรื่องที่กล่าวนั้นเป็นความจริง เป็นต้น แต่สถานะของกสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส จากทั้งภาคเอกชน ประชาชนและนักวิชาการ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็ถือเป็นการตรวจสอบอีกทางหนึ่ง ดังนั้นกสทช. ควรมีความอดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าประชาชนทั่วไป จึงมีข้อสงสัยว่าแม้จะมีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ แต่ควรจะใช้สิทธิหรือไม่

นางสาวกายาทรี ย์ เวนกิตสวารัน ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (SEAPA) กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกที่องค์กรสาธารณะที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อกลับฟ้องสื่อด้วย กันเอง ซึ่งหากสื่อหวาดกลัวการถูกฟ้องร้อง องค์กรสาธารณะก็มีแนวโน้มที่จะใช้การฟ้องร้องเพื่อทำให้ข่าวที่วิพากษ์ วิจารณ์องค์กรตนเองเงียบลง ดังนั้น ในกรณีนี้ สื่อควรจะรวมตัวกันวิพากษ์วิจารณ์การฟ้องร้องเพื่อปกป้องการทำหน้าที่ของ สื่อมวลชน

นายรุจน์ โกมลบุตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. กล่าวว่า การแทรกแซงสื่อของรัฐบาล มีสาเหตุมาจากรัฐบาลขาดความสามารถในการอธิบายนโยบายแก่ประชาชน เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการจัดการน้ำ เป็นต้น โดยการแทรกแซงสื่อมีหลายรูปแบบ อาทิ การสร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัวจนเกิดการเซ็นเซอร์สื่อ เช่น การเซ็นเซอร์ละครเหนือเมฆ 2 รายการฮาร์ดคอร์ข่าวทางช่อง 5 ถูก ตัดเข้าโฆษณาระหว่างการนำเสนอข่าว เค วอร์เตอร์ เป็นต้น หรือการสร้างข่าวเพื่อดึงความสนใจไปจากประเด็นที่รัฐบาลไม่อยากให้ประชาชน สนใจ เช่น กรณีเณรคำ ถูกนำเสนอเป็นข่าวหลักเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นทางการเมือง เป็นต้น หรือร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ ที่กำหนดว่าการเสนอข่าวขัดแย้งจะต้องมีคู่กรณีครบทุกฝ่าย ซึ่งหากประกาศใช้จริง จะทำให้ไม่สามารถนำเสนอข่าวขัดแย้งหรือการตรวจสอบรัฐบาลได้เลย หากรัฐบาลเลือกที่จะไม่ให้ข้อมูล

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) กล่าวว่า การทำงานของกสทช.ไม่มีความโปร่งใสในหลายๆ ด้าน เช่น เปิดเผยมติของคณะกรรมการกสทช.ล่าช้า ไม่เปิดเผยรายงานการประชุมของอนุกรรมการ รวมทั้งไม่เปิดเผยข้อมูลที่ใช้ประกอบการกำหนดนโยบายของกสทช. มีการใช้งบประมาณในด้านต่างๆ เช่น การไปดูงานต่างประเทศ หรือการซื้อสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ แต่ไม่มีการเปิดเผยผลของการใช้งบประมาณ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของกสทช.ได้ กสทช.จึงควรใช้พื้นที่สาธารณะในการโต้แย้งถกเถียง มากกว่าการไปฟ้องกันในศาล

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด