งานวิจัยวิชาการในหัวข้อ “กลไกสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย : รื้อ โละ ริเริ่ม” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถูกนำเสนอในที่ประชุมสัมมนาวิชาการเมื่อวานนี้ว่าเงื่อนไขสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำให้เกิดนวัตกรรมและมีกลไกการแข่งขัน และเกิดการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการหันมาแข่งขันเพิ่มการผลิตได้ดี ต้องมีกลไกในการจัดสรรทรัพยากร (Creative Destruction) และมีกระบวนการส่งเสริมให้มีนวัตกรรมทดแทนเทคโนโลยีเดิม
ในมุมของผู้วิจารณ์อย่าง สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้ ต้องเป็นเศรษฐกิจที่ประกอบไปด้วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่สร้างนวัตกรรมกระจายไปจำนวนมาก แต่สภาพการณ์ของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นนั้น เพราะถูกชี้นำโดยบทบาทภาครัฐค่อนข้างมาก ไม่ว่าธนาคารรัฐหรือรัฐวิสาหกิจซึ่งมีบทบาทมากในระบบเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยก็เป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเส้นสายญาติพี่น้อง ที่อาศัยการวิ่งเต้นให้ได้ประโยชน์จากรัฐสร้างความร่ำรวยอยู่ ส่งผลให้มีการกีดกันให้ธุรกิจไปดำเนินธุรกิจโดยการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันตามที่ควรเป็นได้ทำให้ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วงว่าจะโตอย่างยั่งยืนหรือก้าวพ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้หรือไม่
“ประเทศไทยลงทุนนวัตกรรม สร้างทรัพย์สินทางปัญญาค่อนข้างน้อย เทียบเงิน 100 บาทที่ไทยเรามีต่อจีดีพี เราลงสร้างสติปัญญางานวิจัยเพียง 24 สตางค์ ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจว่าประชากรในไทยเราจดสิทธิบัตรในสหรัฐได้เพียงครึ่งใบเท่านั้น ซึ่งเป็นการลงทุนนวัตกรรมที่ต่ำกว่าประเทศต่างๆหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆในภาวะที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในระยะ 10 ปีข้างหน้านี้ และประชากรไทยเราไม่มีการรับมือกับภาระสังคมผู้สูงอายุ บวกกับอัตราการเติบโตที่จะลดน้อยลงกว่าอดีตยิ่งยากที่เราจะมีความสุขได้มากเหมือนในอดีต” สมเกียรติ กล่าว
สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนการลงทุน 2 ล้านล้านบาท จะมาช่วยเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานหรือนวัตกรรมที่สังคมไทยขาด เพื่อจะรองรับสังคมผู้สูงอายุได้มากแค่ไหนนั้น มองว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีโจทย์หลายโจทย์ เพราะโครงสร้างพื้นฐานมีปัญหา เนื่องจากมีปัญหาขาดการลงทุนมายาวนาน ฉะนั้น ส่วนหนึ่งของโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลจะลงทุนนั้น ย่อมมีประโยชน์ โดยเฉพาะลงทุนระบบขนส่งรถไฟรางคู่ ซึ่งส่วนนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายคงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรเร่งลงทุนและควรลงทุนต่อเนื่อง ให้ระบบโลจิสติกส์ของไทยมีต้นทุนที่ต่ำลง และให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์
“แต่สิ่งที่เป็นห่วงในโครงการ 2 ล้านล้านบาท คือ 75% ของเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องในโครงการเป็นเงินที่ลงในรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เงินทุนเยอะ แต่ว่ามีความเสี่ยงที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะการลงทุนรถไฟไม่ได้ตอบโจทย์ที่เน้นขนของส่งสินค้าให้ต้นทุนลดลง แต่กลับไปเน้นขนคน และเป็นคนกลุ่มที่มีรายได้สูงพอสมควร หมายความว่ารัฐไปลงทุนในโครงการที่มีความน่าสงสัยของความเป็นไปได้ทางการเงินเป็นสิ่งที่ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ ถ้าบริหารจัดการเรื่องนี้ให้เหมาะสมได้ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้ดีในระยะยาว” สมเกียรติ กล่าว
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 กันยายน 2556 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอเตือนไทยติดกับดักทุนนิยมเส้นสาย”