เสนาะ อูนากูล เล่าเรื่อง ‘ยุคทอง’ ของเทคโนแครต

ปี2013-09-27

อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ

ปกหน้า พลังเทคโนแครตเสนาะ อูนากูล บุคคลสำคัญท่านหนึ่งของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญดูแลงานทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาประเทศโดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ-สังคม ในช่วง พ.ศ.2504-2535 และอาจกล่าวได้ว่าเสนาะเป็นเทคโนแครต (เทคโนแครต หมายถึงข้าราชการที่มีความรู้ทางด้านการจัดการเศรษฐกิจ ที่ทำงานในหน่วยภาครัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในช่วง “ยุคทอง” ของเทคโนแครต คือช่วงสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ “ยุคทอง” จบลงพร้อมกับการสิ้นสุดรัฐบาลพลเอกเปรมเมื่อปี 2531 และรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี 2535

กว่า 40 ปีของเสนาะ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เห็นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมาโดยตลอด ทั้งด้านพัฒนาการและปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการพัฒนา

ประสบการณ์การทำงานและวิธีคิดของเสนาะ ถูกถ่ายทอดอยู่ในหนังสือเล่มนี้ “พลังเทคโนแครต ผ่านชีวิตและงานของ เสนาะ อูนากูล” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน (ปรับปรุงใหม่จากหนังสือ “อัตชีวประวัติและงานของ เสนาะ อูนากูล” พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2552 โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)

ที่สำคัญ เสนาะเป็นผู้เขียนขึ้นเอง ดังนั้น ข้อมูลที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ น่าเชื่อถือ จึงทำให้เห็นภาพการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี

“หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้บันทึกเรื่องราวส่วนตัวของผมเท่านั้น แต่ยังบันทึกเรื่องราวการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง”

เสนาะกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งน่าจะเป็นจุดประสงค์หลักในการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

เมื่อเสนาะจบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2504 ก็กลับมาทำงานที่เมืองไทยที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) “ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และเพื่อนข้าราชการที่ทั้งดีและเก่งอีกหลายท่านในช่วงที่ผมทำงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สภาพัฒน์) นั่นก็คือการจัดทำและดำเนินการตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1-3 ซึ่งแผนฯ ดังกล่าวเปรียบเสมือนการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก โดยเป็นการระดมทรัพยากรเพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการขยายการลงทุนและเพิ่มการผลิต ขณะเดียวกันก็พัฒนาการศึกษาและการสาธารณสุขไปพร้อมกัน จากนั้นผมก็ได้ย้ายไปทำหน้าที่รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี พ.ศ.2515 ถึง พ.ศ.2517 และย้ายกลับมาทำหน้าที่เลขาธิการสภาพัฒน์ ครั้งที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ.2517 ถึง พ.ศ.2518 และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ.2518 ถึง พ.ศ.2522 ก่อนจะกลับมาทำงานที่สภาพัฒน์อีกครั้งในฐานะเลขาธิการสภาพัฒน์ ครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2532”

เสนาะเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ในครั้งที่ 2 ไว้ว่า

“…เมื่อผมได้เข้าพบท่าน (พลเอกเปรม) แล้ว ผมก็เรียนท่านด้วยความจริงใจว่าตลอดชีวิตการทำราชการของผม รวมทั้งการเป็นผู้ว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคุณบุญชู (บุญชู โรจนเสถียร) ก็เป็นผู้ที่ทาบทามให้ผมมาเป็นผู้ว่าการ ผมไม่เคยยอมให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวมาทำให้การทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและการทำงานเพื่อความถูกต้องเป็นธรรมของผมต้องเสียหายไปเลย ผมขอยืนยันด้วยความสัตย์สุจริตต่อหน้าท่านนายกฯ ท่านนายกฯ เปรมมองหน้าผมอย่างพินิจพิจารณาสักครู่ก็บอกว่าขอให้ทำงานต่อไปตามหลักการที่พูดไปนี้…”กนั้นเสนาะได้รับความไว้วางใจจากพลเอกจเปรม ให้เป็นผู้วางระบบการบริหารทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ “ในครั้งนั้นสภาพัฒน์ได้รับความไว้วางใจค่อนข้างมากจากผู้นำรัฐบาลโดยให้มีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาด้านนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กลั่นกรองนโยบาย และพิจารณาประเด็นปัญหาสำคัญๆ ที่ต้องการการตัดสินใจระดับสูงสุด จึงเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของผมที่ได้กลับมาทำงานที่สภาพัฒน์อีกครั้ง”

“ผมในฐานะเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ ซึ่งถือหลักว่า ต้องทำงานทุกอย่างเพื่อส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว ทำงานทุกอย่างบนโต๊ะ ไม่มีใต้โต๊ะ นี่เป็นหลักใหญ่ที่เราใช้กันมาตลอดช่วงแปดปีของรัฐบาลเปรม” “ผมต้องทำหน้าที่ประสานรอบด้าน การประสานงานนี้ต้องถือหลักว่า ‘ไม่ใช่ตัวเราของเรา’ นี่ไม่ใช่งานของเรา เป็นงานของทุกกระทรวง ทบวง กรมและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง แต่ละคนมีความรับผิดชอบ ความดีความชอบตกอยู่กับเจ้าของเรื่อง จะเห็นว่าผมทำงานอยู่ข้างหลัง ไม่ค่อยจะมีใครเห็น ใช้หลักพระพุทธศาสนา นั่นคือ อย่าเป็น ‘ตัวเราของเรา’ ให้เกียรติผู้อื่น ให้โอกาสผู้อื่น สนับสนุนให้เขาทำงาน ถ้าเขาทำงานได้ และถ้าเป็นสิ่งที่เขาอยากจะทำอยู่แล้ว เขาก็จะทำงานเต็มที่ ดังนั้น เราต้องประสานให้เขาสามารถทำงานร่วมกันให้ได้”

สิ่งหนึ่งที่ทำให้การทำงานของเสนาะสำเร็จลุล่วง นั่นก็คือการวางตัวบุคคลให้เหมาะสมกับงาน ถ้าดูจากรายชื่อผู้ที่ร่วมงานกับเสนาะที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเสนาะได้เขียนถึงบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละท่านในช่วงนั้น เช่น โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์, สุเมธ ตันติเวชกุล, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, พิสิฎฐ ภัคเกษม, จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช, สมชาย กรุสวนสมบัติ, สถาพร กวิตานนท์ (ถึงแก่กรรม) เป็นต้น ล้วนแต่เป็นคนเก่ง มีความสามารถ และยังมีบทบาทในการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจไทยจนถึงปัจจุบันนี้

“ผมโชคดีมากที่มีขุนพลทางเศรษฐกิจคณะใหญ่เป็นผู้ช่วยที่มีความรู้ความสามารถ มีจรรยาบรรณ ตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวม ผมไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว ผมบอกพวกเราอยู่เสมอว่า ทุกคนต้องเก่งกว่าผม เพราะว่าทุกคนรับงานเป็นด้านๆ ไป ส่วนผมนั้นรับงานร้อยแปด เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเก่งกว่าผม แล้วทุกคนก็เก่งกว่าจริงๆ และล้วนแล้วแต่มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการต่อไปทุกคน”

ช่วงที่เสนาะกลับมาทำงานที่สภาพัฒน์ครั้งที่ 2 นี้เอง เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตการทำงาน เพราะในช่วงเวลานั้น การเมืองค่อนข้างมั่นคง ประกอบกับพลเอกเปรมให้โอกาสและสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่ ทำให้งานต่างๆ ที่วางแผนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 และแผนฯ 6 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากการลงทุนในช่วงแผนฯ 1-3 เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการพัฒนาในช่วงแรก กล่าวได้ว่าเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่เพื่อเข้าไปเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

“ผมเองมีความสบายใจและมีกำลังใจทุ่มเททำงานในระบบที่ผู้นำรัฐบาลมีศีลธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงสมดังที่รัฐบาลได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ช่วงรัฐบาลพลเอกเปรมถือเป็นยุคทองของเทคโนแครต นั่นก็คือ “ความซื่อสัตย์สุจริตและความปรารถนาที่จะทำงานโดยไม่มีประโยชน์ส่วนตัว และทุ่มเททำงานเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้นักวางแผน นักวิชาการ ข้าราชการนักปฏิบัติเป็นจำนวนมากยินดีและภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลเปรม 1-5 นับเป็นการระดมพลังและการแสดงบทบาทของ ‘เทคโนแครต’ ครั้งใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ”

เมื่อรัฐบาลพลเอกเปรมสิ้นสุดลง และรัฐบาลพลเอกชาติชายได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2531 เสนาะก็ประสบกับเหตุการณ์ที่ “เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ” จึงทำให้เสนาะขอลาออกสภาพัฒน์ และจบ “ยุคทอง” ของเทคโนแครต ในช่วง 8 ปี ของรัฐบาลพลเอกเปรม

นอกจากนี้ เสนาะยังเล่าถึงชีวิตการงานในปัจจุบันนี้ เป็นกรรมการในองค์กรต่างๆ เช่น กรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสนาะภูมิใจอย่างสูงสุด

“ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย จึงตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ โดยสนับสนุนให้มีการปรับปรุงระบบการทำงาน การลงทุน การจัดระบบที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคม”

กรรมการบริษัทเอสซีจี ที่ดูแลและติดตามเกี่ยวกับงานพัฒนาสังคมของบริษัทเอสซีจี

รวมทั้งงานชิ้นใหญ่และสำคัญที่สุดในช่วงปัจฉิมวัยของเสนาะ นั่นคือเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด บริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มุ่งสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมไทย และมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งช่วยสนับสนุนบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ โดยมี อภิพร ภาษวัธน์ อดีตกรรมการผู้จัดการ SCG Chemicals เป็นประธานกรรมการบริหาร และ ดร.ทรงพล ดีจงกิจ ทำหน้าที่ในฐานะกรรมการผู้จัดการและเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงาน

“ขณะที่ผมลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้เมื่อปี พ.ศ.2552 ผมตั้งใจว่าเมื่อเขียนหนังสือเสร็จ จะใช้เวลาในการพักผ่อนและปฏิบัติธรรมมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าผมยังต้องทำงานชิ้นใหญ่อีกชิ้นหนึ่งตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุในประเทศ ซึ่งเป็นยาประเภทโปรตีน ที่มีอยู่ในประเทศไทยมีเฉพาะยาที่ทำจากสารเคมี ซึ่งไม่สามารถรักษาโรคจำนวนมากได้ เรื่องนี้มีความจำเป็นมาก เนื่องจากในปัจจุบัน สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งภาระทางด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจะเป็นโจทย์ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะต้องสูญเสียไปกับการนำเข้ายาชีววัตถุที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เอง

ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตยาชีววัตถุ แม้กระทั่งยาชีววัตถุคล้ายคลึง (biosimilars) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disease) และยังไม่ต้องพูดถึงยาชีววัตถุต้นแบบ เนื่องจากการวิจัยและพัฒนายาประเภทนี้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ต้องใช้เวลายาวนานนับสิบปี การขาดความสามารถในการผลิตยาชีววัตถุทำให้ผู้ป่วยไทยต้องประสบปัญหายาราคาแพง และมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงยา อย่างไรก็ตาม 4-5 ปีต่อจากนี้ จะมียาหลายชนิดที่หมดสิทธิบัตร ผมจึงคิดว่านี่เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุคล้ายคลึงในประเทศ ทั้งเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม อันเป็นการเชื่อมโยงการวิจัยสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ที่สำคัญ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมได้มากขึ้น”

ทั้งหมดนี้เป็นแค่เศษเสี้ยวหนี่งจากหนังสือเล่มนี้ ซึ่งยังมีเกร็ดประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 40 ปี (2504-2535) อีกมากมาย และไม่ควรพลาด


ตีพิมพ์ครั้งแรก: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน – 3 ตุลาคม 2556 ในชื่อ “เสนาะ อูนากูล เล่าเรื่อง ‘ยุคทอง’ ของเทคโนแครตที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกแล้ว”