“ทีดีอาร์ไอ” มองภาพเศรษฐกิจปีงูเล็ก แนะรัฐทบทวนโครงการผลาญงบ เพราะสุ่มเสี่ยงหนี้ท่วมประเทศ โฟกัสจำนำข้าวหากคุมให้เจ๊งแค่ 7 หมื่นล้านต่อปีน่าพอใจ แต่หากพุ่ง 1-2 แสนล้าน อาจทำให้ฐานะคลังไม่พอรับวิกฤติอื่น คาดปี 56 เศรษฐกิจโต 5% แต่มหาโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้านอาจดันขึ้น 6% ได้
เมื่อวันศุกร์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้แสดงความคิดเห็นทางเศรษฐกิจในหลายด้าน โดยนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 แม้จะขยายตัวดีขึ้นจากปัญหาอุทกภัยในปี 2554 แต่ยังไม่ถึงกับดีที่สุด เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ถึง 3% ส่วนเศรษฐกิจโลกก็ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ต้องติดตามว่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้อีกเมื่อไหร่ ด้านเศรษฐกิจยุโรปยังอยู่ในจุดต่ำสุด และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนาน รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังทรงตัวและมีความเสี่ยงเกิดวิกฤติชัดเจนมาก
นายสมชัยยังมองถึงปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามว่า ความเสี่ยงระยะสั้นจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ได้ตามที่คาด รวมถึงหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นทั้งจากการขาดดุลงบประมาณที่สูง การก่อหนี้นอกงบประมาณ และภาระผูกพันแฝงจำนวนมาก ซึ่งหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 6% หนี้ต่อรายได้ประชาชาติจะเกิน 60% หากไม่มีการคุมรายจ่ายประจำและปรับลดงบโครงการพิเศษลง
“การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 6% แต่โครงการดังกล่าวอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นเกิน 60% ดังนั้นจึงควรบริหารจัดการให้การใช้จ่ายส่วนเกินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รั่วไหลน้อย รวมทั้งควรมีมาตรการอื่นๆ อาทิ การพัฒนาคน การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาสถาบันหลักของเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ประเทศปานกลางด้วย” นายสมชัยกล่าว
นายสมชัยยังเสนอว่า รัฐบาลควรมีการบริหารความเสี่ยงระยะสั้นให้ชัดเจน เพราะระบบภาษียังมีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจปรับตัวขึ้นในช่วง 2 ปีหน้า ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนความเสี่ยงระยะยาวนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งหามาตราการรองรับ เพราะขณะนี้ยังไม่มีแผนปรับภาษีอย่างที่ควรเป็น นอกจากนี้รัฐบาลควรมีพื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงหลายด้าน และควรลดโครงการที่ใช้งบประมาณสูง เช่น รับจำนำข้าว ที่ประเมินว่าจะขาดทุนในปี 2556 ถึง 2 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะขาดทุน 1.5-1.7 แสนล้านบาท
“หากรัฐบาลควบคุมการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวให้ไม่เกิน 7 หมื่นล้านบาทต่อปี จะทำให้มีพื้นที่ทางการคลังพอรองรับความเสี่ยงอื่นๆ ได้อีกมาก โดยรัฐบาลควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะพื้นฐานรายได้ของประเทศที่มาจากภาษีค่อนข้างผันผวนมาก” นายสมชัยกล่าว และว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยใน 2556 จะขยายตัวได้ 5% การส่งออก 4.2% การนำเข้า 3.2% อัตราเงินเฟ้อ 2.8% ซึ่งแรงขับเคลื่อนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้คือการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 6%
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นนโยบายที่มีผลดีต่อแรงงาน แม้เป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อบางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องนุ่งห่มที่มีสัดส่วนของการเพิ่มค่าแรงถึง 47.7% สิ่งทอเพิ่มขึ้น 46.3% ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กติกาที่ชัดเจน โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในทุกปีควรบวกอัตราการเพิ่มผลิตภาพในระยะกลางและอัตราเงินเฟ้อปีก่อนหน้า เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการปรับตัว นอกจากนี้ควรเพิ่มผลิตภาพการผลิตของไทยให้มีประสิทธิภาพของไทยให้มากขึ้น
“ระยะสั้นรัฐควรเร่งรัดมาตรการเงินกู้ หรือค้ำประกันเงินกู้ที่ออกมาแล้ว เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้เครื่องจักรมากขึ้น มาตรการการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และควรตั้งกองทุนพัฒนาทักษะแรงงานมากขึ้น ส่วนในระยะกลางและยาว ควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาโดยเพิ่มเป้าหมายการลงทุน เพิ่มการช่วยเหลือทางภาษีในการกระตุ้นการลงทุนของเอกชน และตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ และให้ผู้นำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม” นายสมเกียรติระบุ
ด้านนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ กล่าวถึงภาคการบริการว่า ยังมีผลิตภาพแรงงานต่ำ และขยายตัวช้ากว่าภาคการผลิต เนื่องจากมีกฎกติกาที่เป็นข้อจำกัด ส่งผลให้การลงทุนของคนต่างด้าวหรือต่างชาติไหลไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ ที่เปิดเสรีภาคการบริการมากที่สุด ในอนาคตหากมีการเปิดเสรีการลงทุนระหว่างประเทศอาเซียนจริง ไทยจะกลายเป็นเพียงแหล่งที่รับเงินทุนมือสองเท่านั้น
“แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพภาคบริการนั้น รัฐบาลควรเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อเสริมพัฒนาการทางเทคโนโลยี และปฏิรูป กฎ กติกาในการกำกับดูแลธุรกิจบริการหลักของประเทศ ไปจนถึงการปรับปรุง กฎ ระเบียบ ที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมทั้งทบทวนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ และหันมาเน้นภาคบริการ” นางเดือนเด่นแนะ.
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซไทยโพสต์ วันที่ 26 มกราคม 2556 ในชื่อ TDRIเตือนรัฐ คุม‘จำนำข้าว’ ก่อนปท.เสี่ยง