สร้างภาคีระดับโลก แก้ปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปี2013-10-21

ในศตวรรษที่ 17 เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งผลให้ระบบการผลิตแบบฐานยังชีพ ก้าวสู่การผลิตแบบฐานอุตสาหกรรม จนทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล ที่ไม่เพียงจะทำลายความสมดุลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากยังทำให้เกิดปัญหาสังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอีกหลายด้าน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ Caux Round Table เครือข่ายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก ร่วมกับหอการค้าไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดประชุมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญด้านจริยธรรมในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้หัวข้อ The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปลูกฝังจิตสำนึกทางด้านจริยธรรมทางสังคม (Moral Capital) ที่มีผู้บริหารภาคธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคม ร่วมระดมความคิด ประสบการณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางของประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

อันไปสอดคล้องกับความคิดของ “โนลีน เฮเซอร์” รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และเลขาธิการการบริหาร คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ที่กล่าวว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบไปถึงคนรุ่นต่อไปที่จะพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของตน

“เพราะเมื่ออำนาจทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป สังคมโลกจะมีแนวทางแตกต่างจากเดิม ขณะที่กรอบของการพัฒนาระดับโลกก็จะตอบสนองความต้องการของตนเองมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องปรับสมดุลของการพัฒนา”

“เพราะการพัฒนาระดับโลกจะมีความสำเร็จและยั่งยืนได้ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด แนวทางการทำงาน และพฤติกรรม รวมถึงแนวทางการสร้างอนาคตใหม่ ที่ไม่จำเป็นจะต้องเริ่มจากการทำงานกับรัฐบาล แต่ต้องร่วมกันทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสุดท้ายต้องพึ่งพาพลังจากความเป็นภาคีที่ยั่งยืน”

นอกจากนั้น “โนลีน เฮเซอร์” ยังอธิบายถึงองค์ประกอบสำคัญของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน และคุณค่าอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะกฎบัตรสหประชาชาติ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ

“การมีเป้าประสงค์ เป้าหมายที่กระชับชัดเจนในการปฏิบัติตามลำดับความสำคัญที่กำหนดไว้ในวาระ และความเป็นภาคีระดับโลก เพื่อการพัฒนา และระดมแนวทางการดำเนินงานแบบต่าง ๆ รวมถึงกรอบการติดตามผลความคืบหน้า และกลไกเพื่อการตรวจสอบร่วมกันสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด”

“เราจำเป็นต้องร่วมมือกันเป็นภาคีระดับโลก โดยอยู่บนพื้นฐานความไว้วางใจ ไม่ใช่การกำหนดเงื่อนไขต่อกัน เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่สำคัญ และไม่อาจปล่อยให้มีการแข่งขัน เพื่อลดมาตรฐานแรงงาน ลดความปลอดภัยด้านอุตสาหกรรม”

“ที่สำคัญคือการบั่นทอนต่อการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยให้เกิดความ สูญเสียต่อชีวิต และไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายมลพิษจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนา อันจะส่งผลให้ประชาชน ทั่วโลกเรียกร้องให้มีสัญญาประชาคมฉบับใหม่ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป”

ทั้งนี้ “โนลีน เฮเซอร์” ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า ขณะนี้องค์การสหประชาชาติ (UN Task Team on thePost-2015 Development Agenda) กำหนดวาระการพัฒนาหลัง ปี 2558 เพื่อหาทางออกสำหรับการพัฒนา ที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network) รวมถึงข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) และการทำงานของหน่วยงานในระดับโลก ภูมิภาค และระดับประเทศอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย

ขณะที่ “ศ.เกลว ซี. เอเวอรี่” ศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการ Macquarie และผู้อำนวยการ Institute for Sustainable Leadership กล่าวถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต สำหรับธุรกิจว่า…สิ่งที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวิธีคิดของทุกภาคส่วน จากระดับเล็กสู่ระดับประเทศ

“ขณะเดียวกัน ก็ต้องมองถึงอนาคตว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนในรุ่นต่อไป โดยจะต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับการพัฒนา รวมถึงการมีจริยธรรม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ”

“โดยเฉพาะการนำแนวทางธุรกิจแบบผึ้ง (Honeybee Capitalism) มาใช้ ผมมองว่าการดำเนินธุรกิจแบบผึ้ง มีความสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทย เพราะถูกดำเนินบนแนวคิดจริยธรรมทางสังคม ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ และทำให้ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมความพยายามในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมวลชนและสังคมโลกด้วย”

ถึงตรงนี้ “ศ. เกลว ซี. เอเวอรี่” ยังเปรียบเทียบการดำเนินธุรกิจแบบตั๊กแตน กับการดำเนินธุรกิจแบบผึ้ง โดยมองว่า การดำเนินธุรกิจแบบตั๊กแตน จะมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจ, การตัดลดต้นทุน, การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลและสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ อย่างสิ้นเปลือง ที่แม้จะทำให้เกิด ผลกำไรสูงสุด แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น

“หากการดำเนินธุรกิจแบบผึ้ง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในกลุ่มนี้ จะต้องคำนึงถึงผลต่อเนื่องที่เกิดจากการตัดสินใจ หรือการกระทำใด ๆ ต่อผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบด้านลบต่อองค์กร ผล กระทบต่อผู้คน, สังคม ที่สำคัญคือ การ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกที่กำลังเหลือน้อยลงทุกขณะ”

เพราะโลกใบนี้ไม่ใช่ของเราแต่เพียงผู้เดียว

หากเป็นของสังคมโลกที่มีเรา ๆ ท่าน ๆ แทรกตัวอยู่ในโลกใบนี้ด้วยนั่นเอง

ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรแล้วว่าจะเลือกดำเนินธุรกิจแบบผึ้งหรือตั๊กแตน?


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 21-23 ตุลาคม 2556 ในชื่อ “สร้างภาคีระดับโลก แก้ปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน”